31 ต.ค. ผมชิ่งกระแสฮาโลวีนโผล่ไปกิน “กาแฟอาคม!” ที่ จ.ราชบุรี คนชง เขาชื่อ อาคม! (ฮา) พอดีมีจ๊อบอาสา ผมได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการ 3 ท่าน จาก 3 โรงเรียน ที่ ราชบุรี คือ ร.ร.วัดปากช่อง ร.ร.วัดเขาปิ่นทอง และ ร.ร.วัดดอนตะลุง 3 ผอ. เห็นควรให้ผมไปเล่า “มืออาชีพชั้นครูรอบรู้พหูสูต!” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ให้ครูทุกท่านร่วมกันขบคิดว่า ครูจะพัฒนาตนเองเป็นมืออาชีพ ได้ไง…
ทัศนะส่วนตัวของผม ที่แท้ ผมเห็นว่า ผสมผสาน ดีแน่ๆ ผมไม่ ทับถม และ ไม่ทอดทิ้ง ทุกรูปแบบ!
กรณีพิเศษรอบนี้ ผมไม่ “ฟันธง” เกรงว่าถ้าฟันผิดองศาก็เป็นไปได้ว่า “ธงจะหักหล่นใส่หัว” (ฮา) ฟันไม่เลี้ยงดีกว่า เพราะว่าสถาบันวิชาการที่ไม่เปลี่ยนใจจะได้รับมุกเราไม่ทัน (อิๆ…)
คืนก่อนนอนฝันพิลึกว่า เด็กทารกฝึกท่อง “สระ!” อยู่ในเปล ฟังดูก็พิลึกกึกกือว่า “อ่ะ อ๊า…! อิ่ อี๊…! อึ่ อื๊อ…! อุ อู๊…!” (ฮา) ถามหมอดูให้ช่วยแก้ฝัน หมอดูบอกว่า “เรื่องจริงมันวิ่งมาแซงอยู่ในความฝันของคุณเลยนะเนี่ย เขาเข้ามาเพื่อจะเตือนให้ได้รู้ว่า ชีวิตนอกตำรามันเปลี่ยนไปแล้ว บรรดาทารกของสถาบันอุดมศึกษาแหล่งใดที่แจ้งเกิดได้ยาก แสดงว่า สถาบันอุดมศึกษาแบรนด์นั้นดื้อ ไม่ยอม “เมคเลิร์น!” ร่วมกับ “องค์กรธุรกิจผู้คงแก่ทักษะ” (ฮา)
แต่ก่อน ชาวบ้านจะ “กะ” คือ “หวัง” กันว่า “โรงเลียน คือ มารดาผู้ให้กำเนิด องค์กรธุรกิจ!” เขาจึงส่องกล้องมองหาช่องทางขวนขวายที่จะสอบเอ็นทรานซ์เพื่อเข้าไปศึกษากับ “สถาบันการศึกษา” ที่ได้ชื่อว่า “คงแก่เรียน” ณ บัดนี้เป็นต้นไป คงจะเรียนกันจนแก่แต่ไม่คลุกคลีตีโมงกับกิจกรรมล้ำยุค ก็ลำบากที่ปั้นตัวเองขึ้นมาเป็นมืออาชีพ
ชาวบ้านก็จะ “กะ” คือ “หวัง” กันแบบกลับหลังหันว่า “ผู้ให้กำเนิด องค์กรธุรกิจ คือมารดาโรงเลียน!” เขาจึงชะโงกเพื่อหาทางดิ้นรนเข้าไปฝึกฝนกับ “สถาบันการเรียนรู้” ซึ่งมียุทธวิธีในการจัดสัดส่วนทั้ง ศึกษา และ เรียนรู้ เพื่อให้ได้ชื่อว่า “คงแก่ทักษะ”
ขอเล่าความในใจฝากไว้ในบรรทัดนี้ ในฐานะที่ได้คลุกคลีกับ พระสงฆ์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ! มานาน 35 ปี ผมนึกถึงนักวิชาการคนหนึ่งที่เขาพูดว่า “การศึกษาไทยสมัยก่อน ตั้งต้นกันตั้งแต่การโกนจุกแล้วจัดเด็กชายส่งไปอยู่โรงเรียนวัด หัดอ่าน ฝึกเขียน และ ใคร่ครวญในคำสอนที่พระเทศนา…”
ถ้าจบไว้แค่นี้มันก็ดีอยู่ มันน่าเสียดายตรงที่ “กูรู” ผู้หนึ่ง ท่านให้ความเห็นแบบ “กูหลง” คือ “สำคัญผิด” ท่านแจงห้าแต้มฟันธงกันหลวมๆ ว่า “ที่สอนกันว่า สันโดษ เป็นแนวคิดที่บล็อคคนให้งอมืองอเท้า ไม่ขยันทำมาหากิน เชื่อง่ายๆ กันแบบนี้ เศรษฐกิจบ้านเมืองก็ถดถอยน่ะสิ!”
ถ้าผมสนิทกับเขาผมก็คงจะแอบคิดอยู่ในใจว่า “X-Ray ลวกๆ แค่นี้ สงสัยในภายหน้าคงจะเคี้ยวบิ๊ก ดาต้าไม่เป็น!” ก็เอาเป็นว่า สันโดษ คือ การที่เราได้พยายามเต็มที่ทุกช่องทางแล้วว่า ปีใหม่อยากจะมีเงินสักหกหมื่น ทำมาทำไปได้แค่สี่หมื่น หลับๆ ตื่นๆ ลุกขึ้นมานั่งทำความเข้าใจว่า เราได้แค่นี้ก็ถือว่าเราโชคดีกว่าคนอื่น
มีคนไปของานทำเถ้าแก่เขายังไม่จ้างเพิ่มเลย เถ้าแก่จ้างเราเพราะเคยช่วยกันจึงได้งานทำ สถานการณ์ช่วงนี้มันต่างกับเมื่อปีก่อนๆ คิดแล้วก็เริ่มทำใจได้ อารมณ์ขุ่นก็ตกตะกอนเหลือแต่ความรู้สึกใสๆ นี่ไง…สันโดษ!
ถ้าคนนี้เกิดในยุคยายเคี้ยวหมาก ผมจะชวนเขาเดินเล่นผ่านบ้านนี้สักพักก็จะหิวน้ำ จะชี้ให้เขาไปหยิบตะบวยที่ยายตั้งไว้บนฝาโอ่งหน้าบ้าน เอามาตักน้ำในโอ่งนั่นแหละ
คนสมัยโน้นเขาจัดหาตะบวยวางไว้สองขนาด ใครหยิบตะบวยเล็กตักน้ำกิน ถ้ายังไม่อิ่มก็ตักซ้ำอีกที เขาจะเจอดีเพราะยายจะเขกหัวหนึ่งโป๊กโทษฐานที่ไม่รู้จักประมาณว่า ควรจะตักมากน้อยแค่ไหน (ฮา)
ในมุมกลับกัน ใครหยิบตะบวยใหญ่ตักน้ำกิน ถ้ากินไม่หมดเขาจะเจอดี ยายจะเขกหัวหนึ่งโป๊กเช่นกัน โทษฐานที่ประมาณไม่เป็น (ฮา)
ก่อนจะประเมิน หรือ ประมาณ เราควรที่จะ ประมวล สรรหาข้อมูล เอามาใคร่ครวญทบทวนให้มันชัวร์ อย่าสรุปมั่วๆ ดังที่ได้เห็นได้รู้กันอยู่ทุกสมัย
นักประวัติศาสตร์โซนตะวันตกเองเขายังล่ำลือกันเลยนะว่า การประเมินราคา คือ “ศิลปะ” ที่เก๋าเกม มานานตั้งแต่ก่อน ปี ค.ศ. 220 แต่ผู้เฒ่าเหล่านั้นเขาก็ให้เกียรตินักวัดผลรุ่นหลัง ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกนั้นสนใจ “การแก้ไข” เป็นสำคัญ รู้แล้วซึ้งเลยสิ “ศิลปะ” กับ “การแก้ไข”
จะมาเหยียบเท้ากันเองทำไม ช่วยกันระวังทิศทางกระสุนปืนของกลุ่มยุยงสงครามจะดีกว่าไหม (ฮา)
“จุดเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการของการประเมินประสิทธิภาพ” เกิดขึ้นในช่วง ต้นทศวรรษ 1900
“การพัฒนาระบบที่เป็นทางการ” เกิดขึ้นในช่วง ทศวรรษ 1950
“การวัดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย” เกิดขึ้นในช่วง ทศวรรษ 1960
"หลักการค้นหาข้อบกพร่อง” เกิดขึ้นในช่วง ทศวรรษ 1970
“มาตรการแบบองค์รวม” เกิดขึ้นในช่วง ทศวรรษที่ 1980 จนถึง ช่วงต้นทศวรรษ 2000
โชคดีที่แนวทางเหล่านี้เป็นเพียง ชุดความคิด ไม่ใช่ คน ถ้า ชุดความคิด คือ คน เขาคงจะถามนำร่องว่า “ฟ้าส่งข้ามาแล้วส่งเอ็งลงมาด้วยทำไม” เทวดาไม่ว่างจึงฝากมาบอกว่า “ฟ้าไม่ได้ส่งให้มากัดกัน” (ฮา)