Casa de Lipe บ้านขาวเก้าอี้แดง แห่งเกาะทะเลสตูล

18 พ.ย. 2566 | 01:30 น.

Casa de Lipe บ้านขาวเก้าอี้แดง แห่งเกาะทะเลสตูล คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ช่วงทศวรรษปี 1920 บาวเฮ้าส์ ถือเปนสายสกุลเเห่งงานศิลปะเชิงสถาปัตยกรรมยุคใหม่ นักสถาปนิกหลากหลายที่นิยมความเรียบง่ายแต่ Structural_เข้มแข็งในเส้นสายตรงไปตรงมา นับแต่นั้นมาเริ่มทยอยให้ความสำคัญกับศิลปะในสกุลบาวเฮ้าส์
 
มันจะเริ่มที่ฉากหลังอันสะอาดตาสีขาว (neath & clean) จากนั้นจึงค่อยๆแต้มแม่สีหลักลงไปทีละสีแดงก่อนตามด้วยเหลืองแล้วค่อยใส่สีฟ้าหรือว่าน้ำเงิน ตามลงไป
 
งานบาวเฮ้าส์ส่วนใหญ่ ใส่กรอบให้คมด้วยการตัดขอบดำกริบ และรูปเรขาคณิตดูอย่างยอดนาฬิกาที่ดูแปลกตา แต่ทว่ากลับกลมกลืนอย่างน่าพิศวงเหล่านี้_Alain Silberstein ที่สถาบันศิลปะระดับโลกอย่าง Christie’s นำออกประมูล รุ่นALAIN SILBERSTEIN, KRONO BAUHAUS 2 LIMITED EDITION และในเวลาเดียวกัน สถาบันการประมูลคู่แข่งอย่าง Sotheby’s ก็นำ Krono Bauhaus 2 ยี่ห้อเดียวกันออกประมูลในตลาด ราคาเริ่มที่ 30,000 เหรียญฮ่องกง ไปจบที่ 126,000! 

 


อีทีนี้ว่าน้ำทะเลอันดามันช่วงชายแดนตะรุเตาเข้าเกาะหลีเป๊ะนี่มีสีสันแจ่มใสงามงดอยู่แล้วซึ่งโทนสีฟ้าแสบสว่างจัด

ท่านเจ้าของวิลล่า, ขออภัย, คาซ่าใช้สีฟ้านี่เองเปนฉากหลัง แล้วเติมเข้าไปซึ่งบ้านทรงกระฉับกระเฉงอันเรียบหรูสีขาวปลอดไว้เฉลียงระเบียงตากอากาศ แล้วก็วางเก้าอี้สานสีแดงทรงคลาสสิกเข้าไปคู่นึง เพียงเท่านี้มันก็ไม่เห็นจะต้องมีการพึ่งสีเหลืองมาสาดแต่ง! บาวเฮ้าส์ เพียงเท่านี้เขาก็ให้ความสวยงามเรียบ_โก้_โคซี่ อยู่สบายในสไตล์ของคำว่า คาซ่า ซึ่งในภาษาสเปญ นี่แปลว่า ‘บ้าน’ _ บ้านอันแสนอุ่นอยู่สบายในหน้าหนาว และกลับโปร่งโล่งเย็นชื่นกายใจในสายลมและกลิ่นแดดจัดจ้านแห่งชาวเกาะหลีเป๊ะนี้ เขาว่าภาษายาวีแปลว่ากระดาษ/กระดาน บ่งนิยามความหมายในประดาเกาะต่างๆละแวกนั้น ทั้งอาดัง ทั้งราวี และตะรุเตา หลีเป๊ะราบเรียบที่สุด ราบอย่างว่ากระดาษ แบนเรียบอย่างแผ่นกระดาน 
 
บางท่านบางคนมาเยือนหลีเป๊ะเห็นกองหาดทรายสวยป่นละเอียดนวลขาว เห็นเหล่าปะการังสดใสในน้ำผืนแผ่นแผ่ราบเรียบ ก็อุทานว่า เอ้ นี่มันมัลดีฟเมืองไทยล่ะสิท่า สายแล้วลมพัดเฉื่อยนั่งเอนอยู่บนคาซ่า ใต้ต้นเสม็ดแดง เห็นฝรั่งพายเรือท้องกระจกเที่ยวชมทรัพยากรนิเวศใต้ทะเลสวยงามกันอยู่ทั่วไป และในเวลาเดียวกันที่เฉลียง balcony แห่งนั้น ในยามค่ำก็เจอตัวบ่างขนาดย่อมๆมาเกาะกินลูกต้นเลียบชายน้ำ สายมาก็เจอจิ้งเหลนเขียวOlive tree skink เกาะแกะมากับลำต้นเจ้าเสม็ดชุนMYRTACEAE เปลือกแดง สวยงามธรรมชาติชีวิต เปน casa อย่างว่า ‘บ้าน’ ซึ่งในที่นี้ เปนอะไรบางอย่างที่มากกว่า  ‘โรง’ สำหรับ ‘แรมคืน’
 
ซึ่งอีโรงอันนี้นั้นบรรยากาศมันค่อนจะขรึมอึลอลหนาหนักและเย็นเยียบ ปี่ยมไปด้วยความจริตจะกร้านเพื่อการบริการชนิดว่าสุดขีดการรับรอง (แบบที่ว่าไม่ควรจะสนหน้าอินทร์หน้าพรหม) ซึ่งผู้แรมคืนในโรงนั่นต้องสวมใส่ ‘จรรยา’ เข้าไปด้วยเพื่อการรับบริการอันถึงขนาด

ในขณะที่ บ้าน_อย่างว่า casa นี่มันต่างไปมันอยู่สบายๆ มีน้ำใสใจจริงแห่งเจ้าบ้าน ให้บริการความหลับสบายในเครื่องนอนคุณภาพอันเต็มตื้นเพื่อการตื่นเปนสุข ไม่มีเสียล่ะไอ่ที่ว่าต้องแต่งทั้งจริตและจรรยา!
 
เกาะหลีเป๊ะเเห่งนี้หนา เปนที่ซึ่งประดาผู้รักทั้งธรรมชาติและความบันเทิงจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างผาสุกได้ง่ายดาย ด้วยว่ารูปทรงเกาะแบบบูมเมอแรง  กั้นแหล่งทะเลรับพระอาทิตย์ตก กับพระอาทิตย์ขึ้นไว้คนละฟาก แถมแหล่งสนุกสนานกับแหล่งสงบคลื่นลมก็ถูกแยกกั้นไว้ได้โดยปราการธรรมชาติ
 
อีกฟากของเกาะก็มีบริการบาร์ริมหาดธรรมชาติ กับข้าวไทย กับข้าวแขก กับข้าวสเปญ ฝรั่งเศสมีทั้งหมด ค่าที่ว่าห่างจากเกาะลังกาวีแหล่งสินค้าปลอดภาษี ไม่ถึงจะหกไมล์ทะเลกันดี ซุปเปอร์มาเก็ตที่หลีเป๊ะนี้ ยังสามารถหาสุรารสดีจาก มาร์กเซย ในนาม Pastis น้ำนมอานีสกลั่นแห่งโปรวองซ์ได้หน้าตาเฉย
 
น้ำใสและปะการังสดสวยเปนสวรรค์ของผู้นิยมธรรมชาติดำน้ำอย่างตื้น บางคราวปลาหมึกก็ดีดตัวว่ายผ่านมา จุด (site) สำหรับดำดูปลาก็มีไม่ต่ำกว่า 3 แถมยังมีเกาะหินงามสีดำลึกลับที่สวยงามราวลูกปัดเจียระนัย ฝรั่งมาจอดเรือใบทิ้งอ่าวกันอยู่หลายลำ ไม่น่าเชื่อเลยว่าอีกฟากที่มองเห็นอยู่ลิบๆคือเกาะตะรุเตาที่ครั้งหนึ่งในอดีตเคยถูกใช้เปนคุกทัณฑสถานก่อตำนานหฤโหดทั้งคนและโจรสลัด ดังได้เล่าแล้วในตอน กับข้าวช่องแคบ ว่า สลัดมันมาจากภาษามาเลย์แปลว่า “ช่องแคบ” 
 
แล้วอีโจรที่อยู่แถวช่องแคบมันก็กลายเปนโจรสลัดไปด้วยกรณีเหตุดังนี้ ช่องแคบระหว่างเกาะตะรุเตากับเกาะลังกาวี เห็นเขาเรียก “ช่องแคบสลัดจินเจ็น” ส่วนคำว่า “ตะรุเตา” นั้นคำ “ตรุ” หรือ “ตะโล่ะ” แปลว่า “อ่าว” ส่วนคำ “เตา” หรือ ตาว มันแปลว่าน้ำจืด 


 
ผู้เฒ่าเล่าว่าในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นิยมให้จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เปลี่ยนชื่อตำบล อำเภอ จังหวัด ที่ออกเสียงเปนต่างด้าว ให้มาเปนภาษาไทย
 
มหาแจ่ม ดีประวัติ สรรพสามิตจังหวัดสตูลยุคนั้น เสนอให้เปลี่ยนชื่อเกาะตะรุเตาเปน “เกาะโฮมวิทยา” แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เปลี่ยน  นักโทษที่ถูกส่งมากักกันบนเกาะตะรุเตารุ่นแรกมาจากเรือนจำบางขวางราวห้าร้อย ต่อมาจึงทยอยเพิ่มไปถึงสามพัน คงจะด้วยความห่างไกลสายตาของรัฐและความกันดาร สถานการณ์ก็พาให้ผู้คุมนักโทษกลายร่างเปนโจรสลัด ออกจัดการปล้นสะดมเรือสินค้าจากพม่าจากมาเลย์เรื่อยมา เปิดตำนานขุนโจรสลัดที่เปนขุนของแท้คือ ขุนอภิพัฒสุรทัณฑ์ ณ ที่นี้ และเปิดตำนานการเขียน Dictionary พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย จนเกิดฉบับเล่มสมบูรณ์ก็ที่นี่ โดยฝีมือ หลวงมหาสิทธิโวหาร หรือ ชื่อสามัญในนาม สอ เสถบุตร ผู้ต้องขัง แห่งสถานกักกัน ณ เกาะตะรุเตา
 
คืนนี้ Lady of the House จัดหาปลาสดจากเรือเล็กพื้นบ้านมารับรอง ได้ทั้งอีโต้มอญ บาราคูด้า จาระเม็ดดำขาว เอาลูบเนยเข้าหน่อยแล้วห่อฟอยล์เผาไฟ ได้รสพิศมัยเเห่งท้องทะเล ไหนจะกุ้งลายเสือทำย่าง ปลาหมึกสดหั่น และขาดไม่ได้เลยคือปูม้าสักตะกร้านึ่งไอน้ำร้อน


 
หน้าหนาวปีนี้ ท่านที่สนใจหากำไรให้ชีวิต ควรได้จับเครื่องบินจากเมืองหลวงมาลงสนามบินหาดใหญ่ก็ได้สนามบินตรังก็ดี นั่งรถชมธรรมชาติ 120 นาที ก็ถึงสถานีเรือปากบารา เขาติดแอร์ไว้รอท่ารับรองเพียบพร้อม แล้วค่อยล่องคลื่นอ่อนๆ อีกสัก 70 นาทีไปที่เกาะไข่ ที่ซึ่งเฉดสีน้ำทะเลคมขำขับกับผืนทรายและไม้เขียว 
 
จึงใช้เวลาอีกสักพักเทียบท่าที่เกาะหลีเป๊ะฝั่งตะวันตกอันเปนที่ซึ่ง ‘คาซ่า เดอ หลีเป๊ะ รีสอร์ท & เรสสิเดนท์’ เขาซ่อนตัวอยู่อย่างรำไรกับชายหาดเหนื่อยล้ากับการเดินทางก็เชิญขึ้นมาที่คาซ่าซึ่งหน้าวิลล่าทุกหลังนั่นเขาใส่สระจากุชชี่น้ำวนเอาไว้ให้ที่เฉลียงเพื่อท่านได้จุ่มชุบองค์สรงสนานกายา จะได้มองออกไปที่สุดขอบฟ้าสำหรับวัน_เวลาที่มีค่าควรแก่การน่าจดจำ 
 
ขอบคุณภาพสวยจาก facebook.com/casadelipe และ www.casadelipe.com

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,941 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566