ภิกษุสกุลโพธิ : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ

25 พ.ย. 2566 | 01:05 น.

ภิกษุสกุลโพธิ : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณมานานหนักหนา หากจะพูดถึงว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นมีมาแน่นแฟ้นมั่นคง ความสัมพันธ์ทางสมณทูตกลับหนักแน่นยืนยงเข้าไปใหญ่
 
คณะพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล มีเจ้าคุณพระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร อินเดีย เปนหัวหน้า ในวงการเรียกกันว่าท่านเจ้าคุณใหญ่อินเดีย ปฏิบัติสมณกิจเกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายไม่เลือกหน้าทั้งเทศไทยด้วยความเข้มแข็งต่อเนื่อง ยังผลให้ชาวพุทธมีความศรัทธาอย่างมากล้นนับเนื่องมาตลอดหลายสิบปีตั้งแต่ ยังเปนที่พระราชรัตนรังษี เลื่อนเปนพระเทพโพธิวิเทศ และ พระธรรมโพธิวงศ์จนปัจจุบัน
 
ท่านผู้นี้เองเปนผู้ริเริ่มกำเนิดการบรรพชา อุปสมบทใต้ต้นพระศรี มหาโพธิ์ และกำเนิดภิกษุในสกุลโพธิ


 

ปลายปีนี้ลมหนาวพัดมาเยือกแรก เปนจังหวะเหมาะพอดีที่ตรงกับฤดูกาลที่ปวงเราชาวไทยนิยมไปแสวงบุญกันที่ดินแดนพุทธภูมิ นมัสการสังเวชนียสถาน และออกบรรพชาอุปสมบทใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ประดาทหารตำรวจข้าราชการผู้ใหญ่ ส่งหมายข้อความขอขมาลาบวชสองสามวันมานี้เปนการทั่วไป ก็ขออนุโมทนาสาธุการกับทุกๆท่าน และขอถือโอกาสอันเหมาะนี้นำข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบทเปนภิกษุสกุลโพธิเมื่อสิบปีก่อน มาแลกเปลี่ยนกัน

บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบทในแดนพุทธภูมิของวีรภทฺรโพธิภิกขุ สัทธิวิหาริกในพระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทฺโธ) ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม 2557 
 
บันทึกนี้มีอยู่ราว 27 ตอนเรียบเรียงโดย นายพีรภัทร์ เกียรติภิญโญ B.A. (Economics)  

พระวีรภทฺรโพธิภิกขุ เมื่อลาเพศฆราวาสตัดสินใจออกไปอุปสมบทได้สมาทานไม่จับต้องเงินทอง ไม่ยกกล้องถ่ายรูป ไม่ปฏิบัตินอกแนวพระวินัยบัญญัติเพื่อศึกษาทำความเข้าใจโลกฝ่ายธรรมะ โดยร่วมโครงการอุปสมบทหมู่ถวายเปนพระราชกุศลกับสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ด้วยทุนส่วนตัว มีผู้ร่วมอุปสมบทด้วยจำนวน 23 ราย
 
พระอุปัชฌายาจารย์ คือ พระเทพโพธิวิเทศ Ph.D. เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร อินเดีย*
 
พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระครูนิโครธบุญญากร Ph.D. เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม เนปาล
 
พระอนุสาวนาจารย์ คือ พระมหาปราโมทย์ มหาวีริโย เจ้าอาวาสวัดพระราชวังกบิลพัสดุ์ เนปาล**
 
พระพี่เลี้ยง คือ พระครูปัญญาสารพินิต เจ้าอาวาสวัดโสกน้ำใส ยโสธร , พระอาจารย์วิทยา ปัญญาวโร วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
 
*ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เปนที่พระธรรมโพธิวงศ์
 
**ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เปนที่พระครูศรีพัฒนวีราภรณ์

0. สหธรรมมิตร
 
สห คือ union ธรรมมิตร คือ มิตรทางธรรม หมายถึงว่า ผู้ที่ได้ร่วมพัทธสีมาบวช ร่วมพำนัก ร่วมจาริกอยู่ด้วยกัน แม้คราวนี้มีพระนวกะโพธิถึง 23 รูป (พระใหม่บรรพชาใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์) แต่ผู้ที่สนิทคุ้นเคยกัน ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือท่านที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อน คือเปนศิษย์ร่วมสถาบันพระปกเกล้า มีท่าน ขนฺตยกรโพธิ (ปราชญ์ผู้เปนบ่อเกิดแห่งความอดทน) ผู้เพศฆราวาสเปนนายสัตวแพทย์จากเยอรมัน ท่านนิจารุโพธิ (ผู้มีความงดงามโดยไม่มีส่วนเหลือ) นายธนาคารผู้ใหญ่ ส่วนที่สองคือท่านที่มาคุ้นเคยกัน ณ แดนพุทธภูมินี้ด้วยว่าพักอยู่ที่กุฎีเดียวกัน ได้แก่ ท่านกิตฺติสทฺโพธิ (ปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงดีงาม) ผู้มัณฑนากรระดับสากล ท่านกนฺตธีรโพธิ (ปราชญ์ซึ่งเปนที่รักของชนทั้งหลาย) ช่างภาพ ท่านสุจินฺตโพธิ (ผู้มีความคิดงาม) วิศวกรโทรคม ท่านญาณวชิรโพธิ (ผู้มีญาณแข็งแกร่งดุจเพชร) ครูวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมต้น ท่านโฆสกโพธิ (ผู้มีปัญญานำมาซึ่งชื่อเสียงอันกึกก้อง) ผู้ถือหุ้นในกิจการก่อสร้าง
 
แต่ละท่านมีที่มาต่างกัน มีวัตรปฏิบัติต่างไป แต่มีเป้าหมายเดียวกันในการรับไตรสรณคมน์ด้วยการถือเพศบรรพชิต
 
ท่านกิตฺติสทฺโพธิ มีกล่องเครื่องเขียนบรรจุปากกาคุณภาพพิเศษหลายด้าม ท่านมีสมุดพกส่วนตัวเวลาว่างจะจดบันทึกหลักธรรม ข้อคิดที่ได้ในแต่ละวันลงในสมุดนั้น ท่านสุจินฺตโพธิ เคยมาอุปสมบทที่อินเดียแล้วครั้งหนึ่ง ท่านมีจิตอาสาคอยช่วยเหลือหมู่คณะ บางคืนออกไปปักกลดในที่สงัดวิเวกเพื่อเจริญกรรมฐาน ท่านกนฺตธีรโพธิ แบกน้ำหนักนำผ้าไตรจีวร มาจากกรุงเทพ 9 ชุดเพื่อทำการทอดผ้าป่าถวายวัดแต่ละวัดที่เราจะจาริกผ่านไป ท่านญาณวชิรโพธิ มีใจระลึกถึงลูกศิษย์ทางเมืองไทยอยู่เสมอ คอยผลิตสื่อการสอนไว้นำไปถ่ายทอดเมื่อยามกลับโรงเรียน
 
ทุกรูปต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อต่อกัน ช่วยเหลือกันทำความสะอาดพื้นห้อง ห้องน้ำ ช่วยกันพับแลห่มจีวร แบ่งปันอุปกรณ์ซักล้างผ้าอันตรวาสก ฉายไฟยามเดินทาง สำรองไฟในอุปกรณ์ไฟฟ้า ค้นหายาเภสัชอุปัฏฐากอุปถัมภ์กันในยามเจ็บอาพาธ ราวกับรู้จักกันมานับเนื่องกว่าสิบปีทั้งที่พบกันไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมง


 
1. เกี่ยวกับจีวร วันหนึ่งพระพี่เลี้ยงคือพระครูปัญญาสารพินิต และพระอาจารย์ วิทยา ปญฺญาวโรมาช่วยห่มจีวร ท่านนวกะนิจารุโพธิถามพระพี่เลี้ยง คือท่านพระครูว่า ใช้เข็มกลัดกลัดเอาได้ไหม ท่านพระครูว่าไม่ได้ หันไปถามพระอาจารย์วิทยา ว่าจีวรมันหลุดบ่อย พระอาจารย์ตอบว่า “จีวรมันทำหน้าที่ของมัน”
 
จึงได้กระจ่างแจ้งแก่ใจว่า
 
1.1 การนุ่งห่มจีวรเป็นเรื่องยาก, นุ่งห่มให้งามเป็นเรื่องยากกว่า, นุ่งห่มให้ไม่หลุดลุ่ยเป็นเรื่องยากที่สุด
 
1.2 จีวรมีหน้าที่หลุดลุ่ย พระมีหน้าที่ระวัง, รักษา,บำรุง ไม่ให้หลุดลุ่ย ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน
 
1.3 เมื่อหน้าที่ของจีวรเปนดังนั้นแล้ว หน้าที่ของพระเป็นดังนั้นแล้ว จึงเป็นอุบายให้พระต้องสำรวมระวัง มีสติกำกับอิริยาบถ ในการยืนเดินนอนนั่ง ทุกขั้นตอน อนุมานได้ว่าเปนอุบายฝึกสติที่สำคัญอย่างหนึ่ง สรุปได้ว่าจีวรทำหน้าที่กำกับสติของพระอีกอย่างหนึ่ง
 
2. ศีล สมาธิ ปัญญา : กลไกของศีล
 
ในการนี้ต้องกราบขอบพระคุณโยมพี่สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล นายกสมาคมพลาสติกชีวภาพแห่งประเทศไทย ผู้เปนเจ้าของกิจการโรงฉีดพลาสติกส่งออกชั้นนำของประเทศ  ก่อนจะเดินทางนั้นได้มีโอกาสเข้าพบท่านเพื่อลาอุปสมบท และท่านได้กรุณาให้ข้อคิดในฐานะที่ท่านได้อุปสมบทมาก่อน ณ พัทธสีมา วัดเทพศิรินทราวาส เพื่ออุทิศกุศลให้โยมบิดาของท่านที่ล่วงลับไป
 
ท่านได้ให้ข้อคิดว่า “เป้าหมายของการปฏิบัติ คือใหัเกิดปัญญาคือความรู้แจ้ง จะไปถึงได้ต้องมีศีลเสียก่อน ศีลจะนำไปสู่สมาธิ สมาธินำไปสู่ปัญญา” ได้ฟังแล้วเก็บไว้ในใจควบกับวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยเรื่อยมา ว่าไม่มีศีลจะทำสมาธิได้ไหม ก็เห็นว่าน่าจะได้ ก็พบคนนั่งสมาธิกันอยู่ทั่วไป ได้เฝ้าครุ่นคิดปริศนาธรรมของโยมพี่สมศักดิ์เรื่อยมา จนวันที่ 2 ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์จึงได้ขบปริศนาธรรมข้อนี้ออก 

(ต่อตอน 2)

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ หน้า 18 ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,943 วันที่ 26-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566