เทียนพรรษาลายก้านแย่ง

08 มิ.ย. 2567 | 03:22 น.

เทียนพรรษาลายก้านแย่ง คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เข้าฤดูฝนแล้ว  พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพากันระลึกได้ถึงประเพณีสืบทอดมายาวนานแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือ สมเด็จพระผู้มี
 
พระภาคเจ้า ทรงบัญญัติเขตเวลาเข้าพรรษาแก่ประดาภิกษุพุทธสาวกให้อยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่ง มีอารามก็อยู่ประจำในอารามมิออกไปธุระปะปังหรือไปค้างอ้างแรมข้างนอกหากไม่มีกิจจำเปนยิ่งยวด  
 
คนไทยพุทธเรียนกันมาแต่เด็กว่า ฤดูพรรษาในเวหานั้นลมหอบฝนมา ประดาชาวนาชาวไร่ท่านเริ่มหว่านเริ่มไถ ต้นกล้าอ่อนเพิ่งผลิจากเมล็ดลงดินได้ฝนก็ออกต้นแย้มใบมาดูโลก ทว่าไม่เท่าไร ภิกษุจาริกไปทำกิจนอกอารามเกิดเหยียบย่ำตามจังหวะเดินเข้า ก็ได้รับความเสียหาย ปวงเขามาทูลร้องฟ้องความแต่สมเด็จพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงไต่สวนพิจารณาได้ความเปนสัตย์ จึงมีพุทธบัญญัติ ให้ภิกษุเข้าพรรษามีกำหนดสามเดือนในฤดูฝนดังกล่าว

อีทีนี้หากว่า กรณีพระภิกษุต้องออกไปจำพรรษาที่อื่นด้วยมีเหตุจำเปนยิ่งยวดนั้น ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้กระทำได้  เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ”  โดยจะต้องกลับมายังที่ตั้งภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาด และไม่ถือว่าเปนอาบัติ ได้แก่ กรณีภิกษุต้องไปดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วย, ภิกษุทำสังฆกรรม อาทิ ออกไปจัดหาข้าวของซ่อมกุฏิที่ชำรุด, ภิกษุมีทายกนิมนต์ให้ไปทำบุญค้างคืน

พรรษาขาดแล้วเปนอย่างไร?

อันนี้ก็ต้องเรียนย้อนไปก่อนว่า ถ้าพรรษาไม่ขาดจะเปนอย่างไร??

 

ท่านพระภิกษุที่พรรษาไม่ขาดนั้น ท่านจะได้สิทธิ์ยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ กล่าวคือ
 
1. มีสิทธิ์เที่ยวเดินทางออกจากวัดโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นได้
 
2. มีสิทธิ์เที่ยวเดินทางได้โดยไม่ต้องถือจีวรครบ 3 ผืน
 
3. มีสิทธิ์ฉันล้อมวงแบบคณโภชน์ได้
 
4. มีสิทธิ์เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
 
5. มีสิทธิ์เก็บจีวรเมื่อมีผู้มาถวายได้ หากเกินกว่าไตรครอง โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง
 
อีทีนี้ถ้าพรรษาขาด ก็ภิกษุนั้นหมดสิทธิ์ 5 ประการนี้
 
ส่วนคำว่า “คณโภชน์” ก็หมายถึง การฉันเปนหมู่ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป มีที่มาน่าสนใจมาก กล่าวคือ ครั้งหนึ่งพระเทวทัตคู่ปรับของพระพุทธองค์พร้อมด้วยบริวารได้นำคณะเที่ยวไปขออาหารจากชาวบ้านมาฉัน ชาวบ้านต่างพากันติเตียน เหล่าภิกษุได้ยินเข้าจึงนำความกราบทูลสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้สอบถามชำระความพระเทวทัต พระเทวทัตก็ยอมรับว่าได้ทำเช่นนั้นจริง พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ภิกษุต้อง(อาบัต้) ปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเปนหมู่” เชื่อกันว่าสิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพราะการฉันเป็นหมู่นั้นมักจะมีการพูดคุยกัน มักจะเผลอฉันอย่างไม่สำรวม และไม่ระวังกิริยาอาการ ทำให้ผู้พบเห็นเสื่อมศรัทธาได้
 
(อย่างไรก็ดีต่อมา พระพุทธองค์ทรงผ่อนพระบัญญัติที่ได้วางไว้เดิม คือ พระภิกษุสามารถฉันเป็นหมู่ได้ในกรณี ว่า คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นมา คือ พระภิกษุเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ชาวบ้านได้นิมนต์ฉัน แต่พระไม่รับนิมนต์ โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามการฉันเปนหมู่ )
 
ส่วนอดิเรกจีวรนั่น ก็คือจีวรส่วนเกินจากที่ตนต้องจำเปนใช้และอธิษฐานใช้เอาไว้ ปกติได้มาเก็บไม่ได้ต้องสละ ทั้งนี้ อดิเรกแปลว่ามากกว่าหนึ่ง


 
ตามพระวินัยแล้ว ภิกษุสามารถเก็บจีวรส่วนเกินนี้ไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน โดยทำให้เปนสองเจ้าของเสีย เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด ความเปนมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ถวายพระสารีบุตรซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ใช้เวลาประมาณ ๑๐วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าจะปฎิบัติอย่างไรกับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร ไว้ได้ไม่เกิน ๑๐วัน
 
ทีนี้เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ในอาวาสต่างๆ จะเตรียมตัวซ่อมแซมบูรณะวัดให้พร้อมแก่การจำพรรษา เพราะว่าบางทีเสาโย้บ้าง หลังคารั่วบ้าง และเจ้าอาวาสจะเปนผู้ประกาศ “วัสสูปนายิกา” เกี่ยวกับการเข้าพรรษาไว้ให้ชัดเจน หลังจากจบประกาศแล้วก็จะมีการขอขมาลาโทษกันเพื่อให้พระสงฆ์ในวัดมีความสามัคคีกันเพราะจะต้องอยู่ร่วมกันโดยใกล้ชิดอีกตั้ง 3 เดือน
 
ฝ่ายพวกเราชาวประสก พอถึงเขตจะเข้าพรรษาก็จะนิยมเดินทางไปวัดเพื่อช่วยทำความสะอาด บูรณะสถานที่ต่างๆ ในวัดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จะอยู่จำพรรษา รวมถึงเตรียมตัวเพื่อถวายทานอื่น ๆ อาทิ บวชบุตรหลานที่อายุถึงวัย, ถวายผ้าอาบน้ำฝนและก็ ถวายเทียนพรรษา
 
ซึ่งของที่สำคัญสำหรับตัวพุทธศาสนิกที่นับถือกันมาเปนธรรมเนียมก็คือ_งดเหล้า หยุดเสพสุราของอร่อยที่เย็นซ่าหวานลิ้นทว่าขมชุ่มคอ ไปตลอดระยะเวลา 3 เดือน! ได้กุศลแก่ตัวในแง่เปนคนมีศีลมีสัตย์ และได้พักการทำงานของตับซึ่งคอยขับพิษสุรายาเมาออกจากร่างกายโดยมิต้องอาศัยกลูตาไธโอน
 
มาบัดนี้ก็จะกล่าวถึงเรื่องเทียนพรรษา เจตนาของเทียนพรรษาที่ว่าต้นใหญ่กว่าเทียนเล่มๆปกติ ก็เพื่อเหล่าพระภิกษุสามเณรได้มีแสงสว่างขนาดใหญ่ใช้อ่านคัมภีร์ ศึกษาพระธรรมยามค่ำคืน เทียนจึงมีขนาดใหญ่มีไส้ใหญ่เพิ่มแรงเทียนว่ายังงั้น แต่ว่าอย่างไรก็ดีทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ผู้ซึ่งว่ากันว่าเปนต้นกำเนิดเรื่องเทียนบูชา ปวงเขานับถือวัวเพราะถือว่าวัวเปนพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตายจะเอาไขจากวัวมาทำเปนน้ำมัน เพื่อจุดบูชาพระผู้เปนเจ้า ที่ตนเคารพ ดังนี้เเล้วอีกนัยยะหนึ่งชาวพุทธผู้นับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย ก็เช่นกัน โดยยุคเก่า จะเอารังผึ้งที่ร้างแล้วมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเปนเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวคืบ หรือ ศอก แล้วใช้จุดบูชาพระ พอถึงพรรษา เทียนพรรษาจะเปนเทียนขนาดใหญ่ และยาวเปนพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สาหรับจุดในโบสถ์ตลอดพรรษา ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา พระจะอยู่โบสถ์อ่านตำราหรือไม่ก็ตามใจพระ ฝ่ายโยมถือว่ากุศลโยมสำเร็จลงแล้ว


 
ที่โรงหล่อเทียนหลวงจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระชนกธิเบศร์ฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปณิธานให้มีการคิดค้นการหล่อเทียน ไม่ให้หักง่าย เนื้อเทียนมีความมันลื่น เมื่อจุดจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายกลิ่นน้ำผึ้งธรรมชาติ ทั้งไม่เกิดน้ำตาเทียนเมื่อจุดในห้องอับลม และมีควันน้อย เปนการช่วยสนับสนุนรับซื้อขี้ผึ้งจากแหล่งเลี้ยงผึ้งทางภาคเหนือ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการดำเนินงานโรงหล่อเทียนหลวง ในปีเก่าก่อนนั้นได้นำไม้เก่าภายในพระบรมมหาราชวังบางส่วนปนกับจัดซื้อไม้ใหม่เพิ่มอีกบางส่วนมาทำการก่อสร้างโรงหล่อขึ้น
 
ทั้งยังมีผู้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเงินสมทบทุนในการสร้างโรงหล่อเทียนหลวงด้วยอีกทั้งมีการถวายเครื่องหล่อเทียน 4 เครื่องพร้อมอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหล่อเทียน มีภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทางวิทยาการ
 
ข้างเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเคี่ยวเทียน ก็ได้ใช้แกลบอัดแท่งซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา อยู่แล้ว 
 
เทียนพรรษาที่มีพระมหากรุณาให้เชิญจากโรงหล่อเทียนหลวงไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆนั้น เปนเทียนสีแดง ปิดทองคำแท้ มีฉัตรทอง 5 ชั้น ประดับยอด
 
เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาจะมีพระมหากรุณาฯประกอบพิธีเจิมเทียนเหล่านี้เสียก่อน แล้วจึงพระราชทานให้เจ้าพนักงานอัญเชิญไปยังพระอารามหลวงจังหวัดต่างๆตามกรรมวิธี
 
จากนั้นมักมีพระมหากรุณาฯให้เจ้านายผู้ใหญ่ในราชตระกูลเปนผู้แทนพระองค์เสด็จไปจุดเทียนพรรษาสีแดงที่พระราชทานแล้วนี้ ยังพระอารามนั้นๆอีกคำรบหนึ่ง
 
ในปีพ.ศ. 2530 โรงหล่อเทียนหลวง
ได้เริ่มดำเนินการหล่อเทียนพรรษาพระราชทานจากแม่พิมพ์เทียนพรรษาที่ทำขึ้นใหม่เนื่องจากในระยะหลังลวดลายต่างๆไม่ใคร่จะคมชัดนักเนื่องเพราะแม่พิมพ์ถูกใช้งานมานานอีกทั้งกรรมวิธีในการหล่อเทียนพรรษาแบบเดิมนั้นใช้เวลานานมากกว่าจะได้ต้นเทียนพรรษาครบตามจำนวน

ดังนั้น เจ้าหน้าที่โรงหล่อเทียนหลวง จึงดำเนินการทำแม่พิมพ์ลอกลายขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนปลาสเตอร์หิน จากนั้นนำขี้ผึ้งมาอัดลายจากแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นแล้วค่อยนำไปปิดบนต้นแบบซึ่งเปนไม้แปดเหลี่ยมแล้วนำไปทำแม่พิมพ์โดยใช้ยางซิโคนพร้อมกับทำครอบไฟเบอร์กลาส บนพิมพ์ยางอีกชั้นหนึ่งในการทำแม่พิมพ์เทียนพรรษาพระราชทานนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนพระราชทานข้อแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการจัดทำแม่พิมพ์อย่างมาก มีคณาจารย์จากแผนกงานหล่อ จากวิทยาลัยเพาะช่างมาร่วมจนดำเนินการได้สำเร็จเรียบร้อย


 
ลายที่ปรากฏบนเทียนนั้นเราเรียกกันว่าลายก้านแย่ง อันเปนลายไทยลายหลักชนิดหนึ่งทางจิตรกรรมศิลป์ ซึ่งลายก้านนี้ประกอบไปด้วย ลายก้านขด ลายก้านแย่ง ลายก้านต่อดอก ฯลฯ
 
สำหรับลายก้านขดนั้น ก้านคือส่วนที่ต่อ ดอก ใบ หรือผลกับ กิ่งไม้ ทีนี้ก้านของตัวลายขดไปมาเปนวงขมวด เปนวงก้นหอย ศิลปินผูกลายโดยเดินเถา(ก้าน)ต่อเนื่องซ้ำ ๆกันบนพื้นที่ที่กำหนดระหว่างเถาผูกลายแทรกเปนระยะๆปลายเถาซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางขดนิยมผูกเปนช่อกนกแม่ลายต่างๆหรือประดิษฐ์เปนหัวสัตว์ หรือเทวดาครึ่งองค์ในขณะที่ลายก้านแย่ง จะมีรูปโครงเปนตาข่าย แย่งดอกแย่งก้านกัน จุดตัดเปนเทวดาก็ได้ แลไปคล้ายตารางเพชรข้าวหลามตัด
 
อนึ่งว่าลายก้านแย่งนี้ก็นับเปนลายไทยที่มีบรรดาศักดิ์ ยามเมื่อขุนนางสัญญาบัตรชั้นคุณหลวงสมัยก่อน หรือชั้นนายพันสมัยนี้ กราบถวายบังคมลาถึงแก่กรรม ก็จะมีพระมหากรุณาพระราชทานหีบลายก้านแย่งบรรจุศพให้เปนเกียรติยศ 


 
กลับมาที่โรงหล่อเทียนหลวงว่า จนเมื่อถึงปีพ.ศ.2544 โรงหล่อเทียนหลวงก็สามารถผลิตเทียนขี้ผึ้งที่มีคุณภาพทั้งเทียนเล่มและเทียนพรรษา รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ออกมาได้อย่างดีกะทัดรัดซึ่งนอกจากจะเพียงพอต่อการใช้งานในงานพระราชพิธีต่างๆ แล้วยังผลิตสำรองไว้ในคลังผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย
 
เทียนพรรษาลายก้านแย่งสำหรับบุคคลทั่วไปนำไปถวายเปนพุทธบูชาสืบอายุพระศาสนานี้ ไม่เปนสีแดง แต่เปนสีขี้ผึ้งดิบออกนวลขาว สะอาดตา ปิดทองคำเปลวแต่น้อย ได้มีโอกาส บรรทุกเครื่องบิน นำไปถวายตามอารามต่างๆในเขตเมืองหลวงพระบางจำนวน 9 แห่ง เมื่อห้าปีก่อน ทั้งยังนำถวายแต่พระสุปฏิปัณโณในเมืองไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้เปนระยะๆเรื่อยมา 
 
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณคุ้มเกล้าฯ การกุศลเทียนพรรษาด้วยเทียนจากโรงหล่อเทียนหลวงนี้ได้สำเร็จลงทุกๆปีตลอดหลายปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งความอิ่มเอิบในกองบุญกองกุศลเกิดความชุ่มเย็นเปนมงคลเปนหนักหนาแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าฯเปนที่ยิ่ง ส่งผลให้เพิ่มพูนซึ่งศรัทธาปะสาทะ มีกำลังใจตั้งมั่นจะเปนกำลังทำนุบำรุงพระศาสนาต่อไปและต่อๆไป