ฝน8 แดด4

01 มิ.ย. 2567 | 06:15 น.

ฝน8 แดด4 คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

บนเส้นทางสายเหมืองเเร่เขาจะเริ่มต้นกันที่บางสะพาน ประจวบฯ ไปพะโต๊ะ ไประนอง ไปกระบุรี ไปคุระบุรี ไปพังงา ไปกระบี่ ไปภูเก็ต ยันนราธิวาส
 
ฟากทางใต้นี้ ฝนมันจะตกเยอะ ตกเฉอะแฉะ ตกทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะที่ระนองอัตราฝนเยอะที่สุดในประเทศ ทั้งปี มี 12 เดือน ฝนแน่ๆ 8 เดือน เหลือให้แดดออก 4 เดือนพอพาให้เกิดความร้อนชื้น/อ้าวอบ/และเย็นชื้นตามจังหวะว่ามีลมพัดมาช่วยไหม คล้ายยังกะอยู่ลอนดอน!
 
แวะพักบรรทัดนี้เพื่อคารวะแด่คนใต้ท่านใช้คำไพเราะว่า ‘ฝนริน’

อยู่เมืองฝนแปดแดดสี่พรรค์อย่างนี้ต้องมีวิธีเอาตัวรอดหาเสื้อฝน/ร่มติดมือไปทุกวันเพราะมันอาจฝน 8 ชั่วโมงทำการขึ้นมาได้เสมอ ที่โรงแรมลิงแห่งเมืองระนองนี้ เขายังมีงานขึ้นป้ายเปนกิมมิคเตือนนักเดินทางอย่างเปนปรัชญา ด้วยว่ามาเมืองระนองแล้วอย่าหาบ่นเรื่องฝน
 
ป้ายภาษิตอังกฤษในห้องนอนนี้เขาเขียนว่า “Do not be angry with the rain ; it simply does not know how to fall upwards.”
 
ก็มันตกขึ้นฟ้าได้ที่ไหนล่ะฝน! ชื่อว่าฝนมันก็มีแต่ ตก“ลงมา” งั้นน่ะซี จะไปโกรธไปขึ้งมันทำไมตอนตกลงมา!!55!!

 

พวกกันท่านถามมาว่าเดินทางงวดนี้สนุกไหม ในวัน/เวลาของกระแส workvacation ก็เรียนตอบท่านไปด้วยใจมิตรว่าพลังใจนั้นไม่หมดหรอกแต่พลังร่างกายมันโรย แถมหาเรื่องตั้งเป้าจะเดินทางแบบมัธยัสถ์ ก็เลยไม่ได้เรื่องกันในส่วนที่จะครบเครื่องความบันเทิง
 
รร. เจ้านี้เขาดี ห้องนึงนอนได้สามเพราะทำชั้นลอยให้คนปีนป่ายขึ้นไปนอนได้พิเศษในห้อง แต่ยุคนี้การนอนกรนคุณหมอท่านนับว่าเปนโรค จำจะต้องไปหาทำบำบัดด้วยเครื่องเป่ารูคอสวมใส่เสียก่อนจะนิทรา ถ้าลืมเอามา? โรงแรมที่เขาสู้อุตส่าห์ออกแบบไว้ให้พักได้หลายคนคุ้มค่าก็จะไม่ช่วยอะไรเพราะเเรงกรนของคนร่วมห้องพาหนวกหูรำคาญต้องเปิดห้องใหม่เพิ่มอยู่ดี 55
 
อีทีนี้เวลาลองล่องใต้ไปปลายด้ามขวาน ถ้าลงมาจากหัวหิน มองทางซ้ายมือริมทะเลอ่าวไทย จะมีที่ดินเขาใช้ในกิจการโรงแรมทหารชื่อว่า ‘สวนสนประดิพัทธ์” คำว่าสวน ‘ต้นสนประดิพัทธ์’ นี่มีที่มา ด้วยว่าท่านพระยาประดิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) เปนคนนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย ใช้ปลูกริมทะเลสวยดีด้วยกันลมได้ด้วย ชื่อเดิมเรียกว่าสนทะเล เขาจึงตั้งชื่อใหม่เปนเกียรติแก่ท่านผู้ริเริ่มนำเข้า ว่าสนประดิพัทธ์
 
พระยาประดิพัทธ์ภูบาล ผู้นี้เปนทายาทสืบสายตระกูลเจ้าเมืองระนอง (Raya of Ranong) มาแต่ยุคท่านบิดาพระยาคอซูเจี้ยง ท่านผู้นี้เกิดที่ปีนังและได้เนติบัณฑิตอังกฤษ ท่านรับราชการมาแต่ยุค รัชกาลที่ 5 เปนผู้ทันสมัยอินเตอร์เดินทางไปทั่วโลก เปนผู้ตั้งคลัภย์ม้าแข่งร่วมกับพระยาติลิกี้ (แอนด์กิบบิ้นส์) และ เปนพระยายืนชิงช้า (รับหน้าที่ลงทรงพระอิศวร) เปนคนสุดท้ายในการพระราชพิธีตีปวายตรียัมปวายโล้ชิงช้าแห่งสยามประเทศ มีชนมายุยืนยาวเฉียดร้อยนับได้ว่าเปนผู้สำเร็จท่านหนึ่ง
 
ส่วนคำว่าระนองนี้มันมาจากคำว่า แร่_นอง ด้วยแถวนั้นมันมีแร่มาก ภูเขาลูกหนึ่งอาจมีดินมีสินแร่มากถึงสามชนิด ยังไม่นับรวมน้ำแร่ที่ปะทุร้อนขึ้นมาจากใต้ดิน ในอดีตนั้นแร่ดีบุกมีมาก พวกไทยเก่าเรียกดีบุกว่าตะกั่วป่า แต่วิชาทำเหมืองเอาดีบุกทำไม่ค่อยเปน
 
ท่านพระยาคอซูเจี้ยง เปนจีนแซ่คอ มาจากมณฑลฮกเกี้ยน รูปร่างสูงใหญ่น่าเกรงขาม เดิมทีตั้งบ้านเรือนทำเหมืองอยู่พังงาแต่ยังหนุ่ม คราวพม่าเสียทีแก่อังกฤษ เจ้าอาณานิคมเริ่มจะบุกเเซะมาเอาแร่ในเมืองระนอง เมืองกระบุรี ซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยพำนัก การณ์จะรักษาเขตขัณฑสีมาทำได้ยาก ท่านคอได้คุณท้าวผู้ใหญ่ที่ภูเก็จ (สะกดแบบเดิม) นำทางเข้าเฝ้าถวายตัวเปนนายอากร ยกครัวฮกเกี้ยน ที่พังงาขึ้นมาบุกเบิกเมืองเเร่นอง มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานยกเปนจางวางเจ้าเมืองต่อมา
 
ศูนย์กลางแต่งแร่ ค้าแร่ สต็อกแร่ อยู่ในจวนของท่าน ซึ่งมีถิ่นฐานตั้งอยู่กลางเมือง วันดีคืนดีก็มีการปล้นแร่ ท่านจึงดัดแปลงจวนเจ้าเมืองเปนค่ายเสียไว้ยิงรับมือป้องกัน จึงเรียกชื่อกันใหม่ว่า “ในค่าย” (ปัจจุบันอยู่ใกล้กับโรงแรมลิงแค่ชั่วไม่กี่ก้าว)


 
ยุคต่อมาก็เริ่มทำสำนักงานค้าแร่ เรียกว่า ‘เทียนสือ’ มีการวางกลทางเข้าซับซ้อนถึง 5 ชั้น กว่าจะเข้าถึงตัวคลังเก็บแร่ เทียนสือแปลว่า “ของขวัญฟ้าประทาน”
 
เขาจำหลักไม้เปนคำพรว่าขอเงินทองหลั่งไหลมาเหมือนสายฝนต้องตกในสวนดอกท้อ_แหม่ ไปไหนๆก็มีคำกลอนคำคมทั้งจีนทั้งฝรั่งเลยนะเมืองระนอง
 
เช้านี้ตื่นมาแล้วออกไปเที่ยวดูในค่าย มีคนรุกล้ำเปนระยะๆตามประสา รอบค่ายมีซอยสะพานยูงตั้งตลาดแบกะดินขายของสดแห้งต่างๆนานาน่าสนุก สายหน่อยเขาก็วาย คนมาตลาดจอดรถเกะกะไม่สนสี่สนแปดอะไรทั้งนั้น วุ่นวายขายขนม เส้นหมี่ฮกเกี้ยนมีกินเยอะที่ระนอง เขาก็ผัดๆมาเติมน้ำนองหน่อยใส่ไข่เหลวหยาดเยิ้ม กินกับเครื่องหอมแดงเหมือนข้าวซอยเมืองเหนือ ชั่วแต่ว่ารสชาติสุภาพ กลมกล่อม
 
เสร็จแล้วขึ้นไปเนินเขาสุสานของท่านเจ้าเมืองคอซูเจี้ยงอันเปนที่ดินที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้ให้ตั้ง 300-500 ไร่ บรรดาท่านพระยาต่างๆในสายสกุลนี้ ตั้งสุสานกันอยู่ที่นี้ ทำเลลดหลั่นกันลงไป สุสานใหญ่ของท่านต้นตระกูลจัดทำสวยงามถูกต้องตามฮวงจุ้ยลัทธิเต๋า ส่งผลให้ลูกหลานสืบสายตระกูลยาวนานมั่งคั่งมั่นคง สุสานใหญ่ทำเลแรงที่สุดยกให้สุสานพระยาคอซูเจี้ยงต้นตระกูล ส่วนสุสานท่านพระยาประดิพัทธ์ที่ได้กล่าวถึงแต่ต้นนั้น อยู่เล็กลงมา เขาทำบ่อน้ำโค้งลึกถึงเข่าเข้าตำรา
 
อันว่าวิชาวางฮวงซุ้ยนี้เขามีมานาน เปนที่รู้กันว่าทางฮวงซุ้ยนั้นศพบิดาหันหน้าทางใด หรือ ขยับเอียงมาทางใดล้วนส่งผลแก่คนทายาทต่างกันไป ลูกผู้ชายได้มากหรือลูกผู้หญิงได้น้อยขึ้นกับท่านอนและองศานอนของท่านผู้วายชนม์ด้วย ทายาทที่รู้งานเขาจะแย่งกันไปจัดท่าศพก่อนบรรจุเสมอ แต่ทว่าถ้าว่ายังไม่ตายแต่อยากจะได้ดีมีโชคไปก่อนเลยไม่อยากต้องรอบรรพชนมาอำนวยให้นั้น ท่านว่าให้ทำสุสานคนเป็นหรือว่าทำแชกี สำนักฮูลินมีวิทยาการทางนี้อยู่ ต้องเฉือนหนังเนื้อแลเลือดเราบางส่วนไปทำการเปิดสุสานก่อนตาย


 
ข้างรูปสุสานท่านเจ้าเมืองระนองเปนหลังเต่านี้ก็มีความหมาย หลายคราวเขาผูกดวงเจอว่าเราสัมพันธ์กับอะไร บางคนเปนดวงมังกรทอง บางคนเปนทีมมังกรขาว บางคนเปนเสือขาว บางคนเปนสัมพันธ์กับเต่ามังกร ก็สร้างรูปสร้างราวให้สอดคล้องกันจะได้เสริมกันและกันให้เรืองรุ่ง
 
สถาปนิกมาดูสุสานท่านพระยาเจ้าเมือง ถึงเเก่เอ่ยว่าเปนสวนสวรรค์ ก็แน่ล่ะสนามกอลฟสันติบุรีสวยงาม landscape อย่างไร สุสานพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีก็ภูมิสถาปัตย์งามงดเปนอมตะเสมอมาจนบัดนี้
 
บรรทัดถัดไปนี้ก็จะขอกล่าวถึงท่านผู้สำเร็จฝ่ายพระบ้าง ที่ย่านบางนอนของเมืองระนองยังมีท่านผู้สำเร็จท่านหนึ่งนามกรว่า ท่านพ่อด่วน วัยรุ่นปากดีบอกว่า สัจจะวาจานาครับ ไปไหว้ท่านพ่อด่วนงาน/เงินที่มันมาช้าๆจะได้ด่วน_express 555 สมดังชื่อท่าน ก็ว่ากันไป
 
เช้านี้หาที่ทำบุญใส่บาตรก็ให้นึกถึงท่านพ่อด่วน คนใต้ลึกลงไปเรียก พ่อท่าน คนใต้ตื้นขึ้นมาเรียกท่านพ่อ คนภาคกลางเรียกหลวงพ่อ คนเหนือเรียก ครูบา ลอบสังเกตดูพบว่าเรียกขานต่างกันดังนี้
 
ท่านพ่อด่วน เปนพระอภิญญา ซึ่งทรงคุณวิเศษมากมาย แต่เมื่อหนุ่มๆได้ขึ้นไปบำเพ็ญบนเขาชัยสนเมืองพัทลุง สำเร็จอิทธิคุณบางประการแล้ว จึงล่องเรือมาระนอง ปักกลดอยู่ป่าช้าบางนอน พัฒนาอารามให้รุ่งเรืองประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้มั่นคงแล้ว
 
ก่อนจะถึงแก่กาลมรณาพาสังขารในวัย 91 ท่านได้สั่งเสียแก่ประดาลูกหลาน ว่า ‘อย่าเผากูนะ กูร้อน’ พร้อมสำทับว่า “ใครไม่เชื่อ จะได้เห็นกัน”
 
ชั่วแต่ว่ายามเมื่อท่านสิ้นลมแล้ว กรรมการวัดไม่สนใจคำบอกกล่าวของลูกหลานท่านเท่าที่ควร ไปทำเรื่องขอรับพระราชทานเพลิงศพในฐานะท่านเปนพระครูสัญญาบัตรที่พระครูประภัสร์วิริยคุณ ในวันประชุมเพลิงร่างท่านพ่อด่วนวันนั้นมีเหตุประหลาดอาเพศมากมาย ทั้งการก่อตั้งเวที มีปัญหา พายุมา เมรุลอยพัง
 
ข้างผู้เชิญไฟพระราชทานมาก็ สามารถประกอบพิธีได้เรียบร้อยดีในการเผาหลอก ทว่าเมื่อถึงเวลาเผาจริง 21:00 ก็ให้บังเอิญว่า ประธานในพิธีซึ่งถือว่ามีบรรดาศักดิ์สูงสุดในเมืองแล้ว ขึ้นจุดไฟประชุมเพลิง ท่ามกลางความลุ้นระทึก ก็พบว่า แม้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง เตาเผาอัดน้ำมันเบนซิน และเปลวไฟร้อนแผดนั้น ก็หาทำอะไรศพท่านพ่อด่วนมิได้ _แถมไฟโหมนั่นยังดับได้เองอีก
 
แม้แค่ชายจีวรยังมิไหม้ไฟ สัปเหร่อ อัดน้ำมันเพิ่มครั้งที่สอง และเร่งพัดลมโหมไฟ ก็เกิดเหตุไฟดับได้เองอีกครั้ง จนเพิ่มพัดลมเปนตัวที่สาม ไฟคำรบสามก็ยังดับได้เองอีก สัปเหร่อยกมือไหว้ท่วมหัวกราบขอขมา_ว่า “ผมไม่เอาแล้วๆ”


 
คณะกรรมการลนลานพาศพของท่านออกจากเชิงตะกอน ถอดจีวรอันชุ่มด้วยน้ำมันนั้นออก ถวายน้ำสรง มือดีจากกรุงเทพแย่งเอาจีวรผืนวิเศษนั้นกลับบ้านได้สำเร็จ ไม่มีบันทึกไว้ว่า ประธานงานเผาได้มาขอขมาศพท่านอย่างเปนทางการหรือไม่ แต่ศพท่านพ่อด่วนวันนี้ แม้ผ่านไป 13 ปี ยังเปนอมตะสังขารในโลงแก้ว แห้งลงแต่แลดูยังมีเลือดฝาด และที่สำคัญคือนัยตาท่านยังใสแหนวลูกนัยตาของท่านก็ยังใสกาววาวไม่แห้งเหือด ไม่เหมือนศพอื่นที่ดำเเข็งคล้ำเปนหิน
 
ดังนี้เชื่อว่าด้วยอิทธิคุณของท่าน ท่านยังคงเดินภพอยู่ในโลกนี้แหละ เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น มัคทายกวัดแนะนำว่า หากบนบานแล้วสำเร็จ ให้แก้ด้วยขนมจีนแกงหอย
 
ท่านพ่อด่วนมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดได้ ครั้งหนึ่งเศรษฐีแพปลาเมืองระนองต้องอาถรรพณ์ทางธุรกิจถึงขั้นล้มละลาย ท่านแนะให้เปนกรรมการสร้างรูปหล่อหลวงปู่ทวดล้มลุก เอาเคล็ด ก็เปนที่นิยมเล่นหาในศิลปะที่ rustic ดิบดี และท่านผู้ล้มละลายก็ลุกขึ้นกอบกู้กิจการได้ในชั่วเวลาไม่นาน