ดาบสรีกัญไชย 2

22 มิ.ย. 2567 | 00:11 น.

ดาบสรีกัญไชย 2 คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากฉบับ4,001) 
 
...เวลานั้นประดาราชครูปู่หมอผู้มีวิทยา แลเห็นว่าบ้านเมืองล้านนามีภัยอาถรรพณ์เข้าแล้ว จึงคิดหาทางทำการซ้อนกลเข้าแก้ไข ว่าทำอย่างไรจึงจะทำลายอาคมของเหล่านักรบแดนใต้ที่มาทำใส่ไว้ได้ ศึกษาดูก็พบว่า พวกเจ้าอยุธยามีศาสตราวุธสำคัญชื่อ “พระขรรค์ไชยศรี” กุมไว้ในมือ ซึ่งนับและถือกันว่าเปนเทพศาสตรที่ได้ลงคาถาอาคมขลังประจุพลังต่างๆเอาไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการหล่อหลอมเหล็ก ทุบทั่ง ไปจนถึงกระทั่งชุบไฟตีทรง ทำการลงอักขระเลขมนต์ลงบนคมมีด ปลุกเสกคาถาอาคมอีกมากมาย เมื่อได้ดาบ (พระขรรค์) วิเศษดังนี้แล้วทัพอยุธยาจึงมีวิทยากล้ายกขึ้นมาตีชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือเอาชนะประดาคาถาม่านหมอกอาคมปกห่มคุ้มเมืองล้านนาได้ 


 
ท่านประดาเหล่านักรบผู้เก่งกล้าทางอาคมและพระเกจิคณาจารย์ของอาณาจักรล้านนาตรองได้ดังนี้จึงได้ปรึกษาหารือกันคิดหาทางแก้เกมส์ โดยการสร้างศาสตราวุธ คือ ดาบล้านนา ขึ้นมาใหม่โดยลงย้อนคาถากลับ เหมือนกับเปนการย้อนเกล็ดปลา เพราะเกล็ดก็เหมือนเกราะกำบังเมื่อขูดเกล็ดย้อนกลับก็สามารถถอดเกล็ดปลาออกได้

ด้วยเหตุนี้จึงได้สร้างและตั้งชื่อดาบสำคัญเล่มนั้นว่า “ศรี-ขรรค์-ไชย” เปนคำพลิกผวนถอดเกล็ดกลับจาก “ขรรค์-ไชย-ศรี” ดาบมีสกุลของอยุธยา ก็ในเมื่ออยุธยามี พระขรรค์ไชยศรี ล้านนาก็มี พระศรีขรรค์ไชย เปนอาวุธที่แก้กันได้พอดิบดี! ออกสำเนียงเหนือว่า ‘สรีกัญไชย’
 
อันดาบสรีกัญไชยนี้มีนัยยะพอดีกับที่ว่าพวกทางเหนือทางทิเบต ภูฏาน พม่านับถือในพระโพธิสัตว์ด้วย คติความเชื่อนี้ถ้านับเนื่องมาถึงล้านนาก็ไม่น่าเเปลกอะไร หากจะว่าไปว่าดาบสรีกัญไชยเปนดาบแห่งพระโพธิสัตว์ ตามประสาตำราดาบศักดิสิทธิ์ต่างๆในโลกที่มักจะมีเทพเทวามาคอยรังสรรค์ เช่น พระแสงดาบคุซานางิ ของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นพระแสงดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ของกษัตริย์อาเธอร์ เจ้าอัศวินโต๊ะกลมเกาะอังกฤษ
 
อันกระแสข่าวในเรื่องการตื่น ตนบุญ หรือตื่นพระโพธิสัตว์ ตื่นผู้วิเศษนี้ ผู้คนทั่วไปชอบกันอยู่แล้ว
 

ลุมายังสมัยรัตนโกสินทร์ คราวที่ครูบาศรีวิชัยตนบุญผู้ใหญ่ฝ่ายล้านนาท่านได้รับการสักการะนับถือและป็อปปูล่าร์มากๆ ก็มีผู้ปล่อยข่าวลือว่า เทพยดาพระโพธิสัตว์ต่างๆในใต้หล้า ต่างให้การรับรองนบไหว้ว่าครูบาเปนผู้มีบุญหนัก(จะ)มีศักดิ์ใหญ่ต่อไปในอนาคต โดยสำหรับการรับรองนั้น

‘ท่าน’ ได้มอบดาบสรีกัญไชยทองคำให้ไว้แด่ครูบาศรีวิชัยด้วย 
 
อีทีนี้เรื่องมันก็มาประจบตรงกับที่ว่า ประดาดาบสำคัญของเจ้าของเมืองในอาณาจักรล้านนานั้นท่านต้อง “หลูบ” คือการทำการหุ้มฝักหุ้มด้ามเสียด้วยโลหะมีค่า ถ้าว่าของแพงของแรงมากๆก็ต้อง “หลูบคำ”- คือ ตีหุ้มเสียด้วยแผ่นโลหะทองคำ (ดาบหลูบคำ อาจหาแสวงชมได้ จากสายตระกูล ณ เชียงใหม่ หรือ สายตระกูล ณ น่าน ปัจจุบันนี้) ถ้าว่าถอยศักดิ์ลงมาหน่อย ดาบเจ้านั้นก็ต้องหลูบด้วยโลหะเงินแท้ เรียกหลูบเงิน
 
ทั้งนี้ตามคติโบราณ เจ้าเมืองเหนือบริหารราชการแผ่นดินตัวเอง โดยมีกษัตริย์เปนเจ้าหลวง มีทีมงานหลักเปนเจ้าอีก สี่ เจ้า คือเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และ เจ้าเมือง แก้วบุรีรัตน์ รวมเปน 5 เรียกว่า เจ้าขัน 5 ใบ มีคณะกรรมการบ้านเมืองร่วมพิจารณาข้อราชการล้านนาต่างๆอีก 32 ท่านเรียกว่า “เก๊าสนามหลวง” - ทำนองว่าศาลา (เก๊า) ลูกขุนลำดับศักดิ์ของการหลูบดาบก็ลดหลั่นกันลงไปตามศักดิ์ 
 
(แทรกไว้ ณ ที่นี้ว่าต่อมา ยุคสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มตำแหน่งเจ้าขึ้นอีก 3 ได้แก่ เจ้าราชภาคิไนย เจ้าอุตรการโกศล และเจ้าไชยสงคราม และยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่ม เจ้าราชภาติกวงศ์ เจ้าราชสัมพันธวงศ์เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าทักษิณนิเกตน์ เจ้านิเวศอุดร เจ้าประพันธพงษ์ เจ้าวรญาติ เจ้าราชญาติและเจ้าไชยวรเชษฐ์)
 
อิทธิฤทธิ์ข่าวลือเรื่องดาบสรีกัญไชยหลูบคำเทวดามามอบถวายครูบาศรีวิชัยนี้ ประกอบว่าครูบามี

เชื้อเจ้าทางมารดาของท่าน รวมกัเรื่องอื่นๆอีกมาก มันเข้าเกณฑ์ความมั่นคงสั่นคลอน จนเปนเหตุให้ครูบาต้องอธิกรณ์ ต้องลงมาแก้อธิกรณ์ถึงเมืองหลวงหลายครั้ง เกิดเปนตำนานตราบใดสายน้ำปิงไม่ย้อนกลับครูบาจะไม่กลับไปเวียงเชียงใหม่


 
มาบัดนี้ก็จะขอแทรกไว้อีกว่า ประดาราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่กล่าวถึงในช่วงปลายอยุธยาจนต่อมารัตนโกสินทร์นั้น เคยมีการแบ่งสายหลักๆเปน สามสาย
 
สายแรกเปน วงศ์ทิพย์จักร เกี่ยวพันกับ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ พลตรีเจ้าราชบุตร วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่ เคยบันทึกไว้สรุปความได้ว่า สมัยที่เจ้าล้านช้างปกครองเมืองเชียงใหม่อยู่นั้น ได้เสียทีเสียเมืองให้แก่พม่า ประดาหัวเมืองโดยรอบจึงพากันถือโอกาสแยกออกเป็นหมู่ก๊กเหล่า ชิงอำนาจกันเอง โดยคิดว่าเมื่อครองอำนาจได้แล้วก็จะได้ขับไล่พม่าออกไป แต่ทว่าไม่สำเร็จ ดินแดนล้านนาไทยจึงตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดเปนทุรยศ
 
พ.ศ. 2272 เจ้าอาวาสวัดนายาง ที่เมืองลำปาง มีวิทยาคมแก่กล้าและมีผู้คนนับถือมากร่วมกับสมภารวัดสามขากับสมภารวัดฟ้อนลาสิกขาออกมาตั้งก๊กขึ้นคุมเมืองลำปาง เพราะในขณะนั้นไม่มีเจ้าผู้ครองนคร
 
ท้าวมหายศพม่าเจ้าเมืองลำพูนทราบข่าวการตั้งตัวของอดีตเจ้าอาวาสวัดนายางก็เกิดความไม่พอใจเกรงว่าจะมีอำนาจมากขึ้นจึงยกกำลังมาปราบปรามที่ตำบลป่าตัน (ป่าพุทรา)  กองทัพอดีตเจ้าอาวาสวัดนายางสู้ไม่ได้แตกพ่ายไปถูกล้อมอยู่ที่วิหารพระธาตุลำปางหลวง ครั้นตกถึงเวลากลางคืนอดีตเจ้าอาวาสและสมภารผู้ช่วยทั้งสองแอบหนีจากวงล้อมออกไปได้ แต่ก็ไปได้ไม่ไกลฝ่ายข้าศึกทราบทันท่วงทีจึงติดตามไปยิงตายทั้งสามคน
 
กองทัพของท้าวมหายศเป็นฝ่ายชนะเลยยึดมั่นอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แล้วรีดไถทรัพย์สินของราษฎรแถบนั้นจนเป็นที่เดือดร้อนกันทั่วไป จนในที่สุดก็สามารถยกพล เข้าปล้นและยึดเอาเมืองลำปางได้ทั้งเมือง


 
ต่อมาพระมหาเถระเจ้าอธิการวัดพระแก้วทนดูการกดขี่ข่มเหงราษฎรต่อไปไม่ไหว จึงคิดการที่จะ เอาเมืองลำปางคืนโดยเลือกเอาหนานทิพ ซึ่งเป็นพรานที่มีความกล้าหาญมากมีสติปัญญาดีมีศีลมีสัตย์ และมีกำลังวังชาสามารถล่าช้างเถื่อนได้ด้วยตนเอง จนได้สมญาว่า “ทิพช้าง” มาเป็นนายพลปราบท้าวพม่ามหายศ หนานทิพช้าง ท่านมีปรัชญาคติว่า “ข้าศึกชาวลำพูนก็เที่ยวตามพื้นดินกินข้าวเหนียว เหมือนกันกับเราหาควรยั่นเกรงกันไม่” 
 
ว่าแล้วหนานทิพช้างก็รวบรวมพลได้สามร้อยคน เข้าบุกประหารท้าวพม่ามหายศตาย แล้วรุกไล่ข้าศึกที่แตกหนีไป จนถึง ดอยดินแดงในเทือกเขาผีปันน้ำ ราษฎรทั้งหลายเห็นว่านายหนานทิพช้างจะเป็นที่พึ่งได้ต่อไป จึงขอให้พระมหาเถระเจ้าอธิการวัดพระแก้วประกอบพิธีปราบดาภิเษกให้นายทิพช้าง เป็นเจ้าพญาสุระวฤาไชยสงคราม ปกครองเมืองนครลำปางเป็นเอกราชอยู่นวน 27 ปี จึงถึงพิราลัย ทายาทรุ่นถัดลงๆมาของเจ้าหนานทิพช้าง (สุระ/ฤ-ลัวะ) มีเจ็ดตน เรียกวงศ์เชื้อเจ็ดตน แยกย้ายไปครอง ลำพูน เชียงใหม่ เป็นผู้นำในการสู้รบกับพม่าข้าศึกที่ เข้ามารุกรานเพื่อขยายอำนาจ ลุถึงยุคพระเจ้ากาวิละผู้หลาน ซึ่งร่วมกับพี่น้องเจ็ดตน ร่วมกับเจ้าพระยาจักรีจนสามารถไล่กองทัพพม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองฝ่ายเหนืออื่น ๆ ได้สำเร็จรักษาอิสรภาพของล้านนาไทยไว้ได้ในแว่นแคว้นสยามประเทศจนถึงปัจจุบันนี้
 
สายราชวงศ์ที่สอง คือ ฝ่ายเมืองแพร่ สืบวงศ์มาจากพระยาแสนซ้าย เรียกราชวงศ์แสนซ้ายหรือ วงศ์วรญาติ สายราชวงศ์ที่สาม คือ ฝ่ายนครน่าน สืบวงศ์มาจากเจ้าหลวงมหาวงศ์ เรียก ราชวงศ์ติ๋นหลวงมหาวงศ์ 
 
ทั้งหลายก็ล้วนสานสัมพันธุ์กันไปมาเปนญาติเปนดองกันไปยันเขตน่านฟ้าเชียงตุง
 
ย้อนกลับมาที่เรื่องว่าดาบสรีกัญไชยนั้น ศิลปะการจัดสร้างเปนเครื่องรางของขลังมีเรื่อยๆมา ที่เก่าแก่เเกร่งกล้า มี ความ rustic งามหยาบก็มาก แต่มีความชัดเจนละเอียดลงขึ้นมากในยุคหลังครูบาศรีวิชัย โดยมีครูบาขันแก้ว วัดสันพระเจ้าแดง เมืองลำพูนเปนเจ้าวิชา โดยครูบาขันแก้วนั้นท่านทำการตัดแผ่นทองแดงเปนรูปดาบเสียก่อนให้มีด้ามมีกั้นหยั่น ตั้งธาตุเปนดาบด้ามแก้ว แล้วจึงลงอักขระเลขยันต์ สรีกัญไชย ได้แล้วจึงม้วนแปลงรูปเปนตะกรุดไว้ให้ลูกศิษย์พกพาแทนที่จะถือดาบยาวๆแบกไปไหนให้ทางการบ้านเมืองเขาหนักใจ 


 
อนึ่งว่าคาถาบูชาดาบสรีกัญไชยสำนวนเดิม ท่านว่า 

@โอม ทิพพะ สะหะมังสะ
ดาบเถี่ยน*กล้า วาดว้าลุกเป็นเปลวไฟ
สรีกัญไชยกูเถี่ยนนี้
ปราบเมืองผีมาชู่ด้าว
บ่รู้กี่เช่นท้าวปราบกินมา
ร้อยภาษาก็ปราบได้
ใต้พื้นฟ้าเหนือหน้าแผ่นดิน
เก้าลิ้นกูก็เป็นหนาม
เค้าคางก็เป็นน้ำแม่ใหญ่
กูจักปัดไปออกถ้วมหัวผีตาย
ปลายลิ้นกูก็เป็นดาบเถี่ยนกล้า
ปราบใต้ฟ้ากูเที่ยง บ่กลัวสัง
โอม สะหะ ปัตโต มัง สวาหะ
โอม เพชชะรำ แผ่นดินดำไหววะวาด
สายตาผีขาดกลับหนี
ละคนดีตูไว้หนี้ (นี่)
อย่าเอาทวยฝูงหมู่ท่าน
ทังผีมารจักกะวาโล
พุทธมังคละ สักกัสสามิ
ตัสสะ เอเก จัมมิสัง
สัพพะวุฆฒิฆัง นมามิหัง
สวาหายฯ


 
เปนการสรุปอานุภาพของดาบสรีฯได้ดีครบถ้วนทุกประการ นาฑีนี้ท่านผู้ใดพบเจองานศิลปะดาบสรีกัญไชยของฝ่ายเมืองเหนือก็สมควรเก็บสะสมไว้เปนคอลเล็กชั่นด้วยคุณสมบัติทั้งความงามความขลังดังกล่าวก็เหมาะสมดีนักแลฯ 
 
* ลักษณะนามเมืองเหนือ เรียกมีด/ดาบ เปนเถี่ยน