เพื่อให้จบสมบูรณ์เกี่ยวกับกรณี พระแสง ทั้งพระแสงขรรค์ไชยศรีด้วย จึงสมควรมีตอนที่สามสำหรับข้อเขียนชุดนี้ปิดท้าย
ตามที่ได้เล่าสู่ท่านฟังแล้วว่า ดาบสรีกัญไชยนั้นในทางคติชนวิทยาถือกันว่าเปนของที่สร้างมาเพื่อเปนปฏิภาคกับพระขรรค์ไชยศรี(เก่า)ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาโน่น
ส่วนพระขรรค์ไชยศรีองค์ปัจจุบัน หรือ พระขรรค์ไชยศรีที่มาสู่พระบารมีสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น อาจจะเปนองค์เดียวกันกับพระขรรค์ไชยศรี (เก่า) ก็อาจเปนได้
ด้วยมีตำนานซึ่งท่านเล่าขานกันมาแต่เก่าก่อนโบราณ ว่า แต่สมัยยังมีพ่อขุนกันนั้น พ่อขุนพระองค์หนึ่ง(ลือกันว่าคือพ่อขุนผาเมือง) ทรงสร้างพระแสงขรรค์ไชยศรีขึ้น โดยเมื่อก่อนเสด็จสวรรคตได้พระราชทานมายังพระราชบุตรเขย ซึ่งเปนขอม (ขอมคือขอมมิใช่เขมร) ครองประเทศอยู่แถบกัมพูชาปัจจุบัน ราชวงศ์ขอมนั้นก็ครองดินแดนอยู่สืบชั่วอายุมา จนต่อมาทางวงศ์ขอมนั้นเสื่อมอำนาจลง ประดาทายาทเห็นว่าจะรักษาพระขรรค์สำคัญนี้ไว้มิได้ จึงซ่อนของโดยทิ้งลงทะเลสาบ ลุถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ดินแดนละแวกนั้นเปนขัณฑสีมาของสยาม เกิดมีผู้พบพระขรรค์นี้เข้า ลวดลายโลหะสวยงามล้ำค่าเปนอัศจรรย์เก่าแก่ เจ้าเมืองเกรงว่าสมควรนำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งสยามน่าจะเปนการเหมาะสม ครั้นแล้วในรัชกาลพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าฯ ก็มีพระมหากรุณา พระราชทานขนานนามสอดคล้องกับศาสตราวุธสำคัญในตำนานเดิมนั้น ว่าพระแสงขรรค์ไชยศรี
บันทึกมีว่า ระหว่างอัญเชิญพระแสงนี้เข้าเมือง ปรากฏว่ามีอัสนีบาต(ฟ้าผ่า)ถึง 7 ครั้ง สองครั้งสุดท้ายที่ประตู ‘วิเศษไชยศรี’ และประตู ‘พิมานไชยศรี’
ในกรณีเครื่องศาสตราวุธอันเปนของสำคัญจำเปนของนักรบโบราณนั้นข้างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้มหาราชเอง แม้เมื่อเสด็จขึ้นทรงครองสิริราชสมบัติแล้วยังทรงตีดาบด้วยพระองค์เอง
โดยทรงพระกรุณาให้ตั้งเตาเผาเหล็ก ณ ชานชาลาฟากตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงตีสำเร็จออกมาเปนพระแสงดาบทรงอย่างญี่ปุ่น และ ทรงใช้ประจำพระหัตถ์อยู่ระยะหนึ่ง เดิมเปนพระแสงฝักไม้ทารักสีดำ ต่อมาได้พระราชทานพระแสงองค์นี้ให้ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ผู้ซึ่งรับราชสมบัติเปนรัชกาลที่ 2 ต่อมา) โดยขูดรักออกแล้วทาด้วยสีแดง
จนเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงให้ขูดสีแดงออกทาสีดำตามเดิม ขนานนามกันว่าพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง
เมื่อมีการพระราชทานต่อแต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอชั้นต่อๆลงไป ท่านก็จะให้ขูดสีดำออก ทาสีแดง จนเมื่อผู้รับพระราชทานทรงเปนกษัตริย์แล้ว ก็กลับขูดรักหุ้มด้ามสีแดงออก เปลี่ยนเปนสีดำ สลับกันไปแต่ละรัชกาล เปนที่จดจำกันว่าพระแสงฝักทองเกลี้ยงนี้หากอยู่ในพระหัตถ์ผู้ที่กลายเปนกษัตริย์แล้วสีไม้จะทำเปนสีดำเสมอไป หากอยู่กับรัชทายาทจึงทำเปนสีแดง นับเปนพระแสงสำคัญมากๆอีกองค์หนึ่ง เรื่องเล่าสำหรับพระขรรค์ไชยศรีปัจจุบันนั้น ท่านผู้ใหญ่เคยพูดให้ฟังว่า หากจะมีเหตุต้องชำระ (ทำความสะอาด/ลงน้ำมัน)จะอัญเชิญลงมาจากบันไดแก้วเฉพาะวันอังคารเท่านั้น ด้วยวันอังคารเปนวันเเข็งตามศาสตร์ไทย ผู้อัญเชิญจะเปนสายสกุล/ตำแหน่งที่รับพระบรมราชานุญาตเฉพาะเท่านั้น และทุกครั้งที่เปลือยฝัก (ถอดจากฝัก) ยามเก็บจะต้องสังเวยดื่มเลือด โดยบาดนิ้วผู้อัญเชิญนิดหนึ่งเสมอไป
อันว่าพระแสงทั้งนั้น ก็เปนที่นับถือกันว่าเปนพระแสงราชศัสตรา ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าอยู่หัวทรงอำนาจเปนเจ้ามหาชีวิต มีสิทธิตัดหัวคนได้ พระแสงดาบถือเปนเครื่องหมายแห่งอาญาสิทธิ์ที่พระราชทานแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ทั้งแม่ทัพคุมทัพ ทั้งเจ้าเมืองคุมเมือง ท่านผู้รับพระราชทานพระแสงอย่างว่าอาญาสิทธิ์นี้ มีอำนาจประหารผู้กระทำผิดอาญาศึก/อาชญาเมืองก่อน ค่อยกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบภายหลัง
พระแสงอาญาสิทธิ์อาจมีหลายๆองค์ก็เปนได้ แตในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะพระแสงราชศัสตราที่พระราชทานแก่เจ้าเมืองต่างๆ ด้วยเหตุแห่งความสวยงามล้ำค่าทางศิลปะเปนหลัก มีทั้งสิ้นอยู่ 32 องค์ กล่าวคือ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๑๓ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ มณฑลกรุงเก่า, เมืองอ่างทอง, เมืองสิงห์บุรี, เมืองชัยนาท, เมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์, เมืองพิจิตร, มณฑลพิษณุโลก, เมืองพิชัย, เมืองกำแพงเพชร เมืองตราด, มณฑลจันทบุรี และมณฑลปราจีน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๑๓ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองนราธิวาส, เมืองสายบุรี, มณฑลปัตตานี, มณฑลนครศรีธรรมราช, เมืองตรัง, เมืองนครศรีธรรมราช, มณฑลชุมพร, มณฑลราชบุรี, เมืองเพชรบุรี, เมืองประจวบคีรีขันธ์, เมืองระนอง, มณฑลภูเก็จ และมณฑลนครชัยศรี
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๖ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองแพร่, เมืองลำปาง, เมืองเชียงราย, เมืองเชียงใหม่, เมืองลำพูน และเมืองพังงา
พระแสงราชศัสตราทั้งหลายเก็บรักษาไว้ประจำเมืองที่ได้รับพระราชทาน ยกเว้นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิชัยและเมืองสายบุรี เก็บรักษาไว้ที่สำนักพระราชวัง เนื่องจากเมืองพิชัยถูกยุบเปนอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์และ เมืองสายบุรีกลายเปนอำเภอในจังหวัดปัตตานี
ลักษณะลวดลายศิลปกรรมของพระแสงราชศัสตราประจำเมือง มีความคล้ายคลึงกันในแต่ละรัชกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝักพระแสงซึ่งดุนลายงดงาม สะท้อนให้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเปนอยู่ของราษฎร และสภาพภูมิประเทศของเมืองในแต่ละภูมิภาค เช่น พระแสงราชศัสตราประจำเมืองทางภาคเหนือ แสดงภาพป่า ภูเขา ช้าง และสัตว์ป่านานาชนิด พระแสงราชศัสตราประจำเมืองทางภาคใต้ มักปรากฏลายดุนบนฝักพระแสงจะเป็นภาพทะเล เรือ สัตว์น้ำ ฯลฯ
สำหรับพระแสงราชศัสตราประจำมณฑลราชบุรีนั้น ลายดุนบนฝักจะเปนภาพบ้านเรือน ทะเล เรือ ป้อม กำแพงเมือง ปืนใหญ่ สภาพป่า และสัตว์นานาชนิด ลักษณะของพระแสงราชศัสตราประจำเมืองแต่ละองค์บ่งบอกถึงลำดับชั้นความสำคัญของเมือง เช่น เมืองสำคัญเป็นสถานที่ตั้งมณฑลเทศาภิบาล พระราชทานพระแสงด้ามทอง ฝักทองลงยาราชาวดี เมืองสามัญทั่วไป พระราชทานพระแสงด้ามทอง ฝักทอง เปนต้น
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองทุกองค์ มีลักษณะเปนดาบไทย ฝีมือช่างทองหลวง มีความประณีต งดงาม วิจิตรบรรจง สมกับเปนเครื่องราชูปโภคที่พระราชทานไว้แทนพระองค์ ตีจากเหล็กกล้าอย่างดี มีความยาวประมาณ ๑๐๐-๑๑๐ เซนติเมตร ด้าม ๓๑-๓๕เซนติเมตร ใบยาว ๖๕-๖๗ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร
พระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร เปนพระแสงประจำเมืองหนึ่งเดียวที่เก่าแก่ที่สุดสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยมีพระมหากรุณาพระราชทานแก่พระยากำแพงเพชร (นุช) เปนบำเหน็จเมื่อครั้งไปราชการทัพที่เมืองปัตตานี
ลักษณะเปนพระแสงด้ามทอง ฝักทอง เปนพระแสงดาบคู่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีลักษณะเหมือนดาบล้านนา_เรียวยาวและค่อนจะเล็ก มีความยาว 88.5 ซม. ด้ามยาว 39.5 ซม.ฝักยาว 49 ซม. ใบดาบยาว 45.5 ซม. กว้าง 2.4 ซม. มีน้ำหนักของด้ามพร้อมใบพระแสงราชศัสตรา 471 กรัม น้ำหนักของฝักพระแสงราชศัสตรา 165.2 กรัม รวมน้ำหนัก 632.2 กรัม
พระแสงอาญาสิทธิ์องค์นี้นับเปนของพระราชทานประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาหลายชั่วอายุคน คือ ส่งต่อมาถึงพระยากำแพง(นาค), พระยากำแพง(บัว), พระยากำแพง(น้อย), พระยากำแพง(เกิด), พระยากำแพง(อ้น) และท้ายสุดตกทอดมาถึงหลวงพิพิธอภัย (หวล) บุตรพระยากำแพงอ้น ซึ่งมิได้เปนเจ้าเมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือนสิงหาคมพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ณ เมืองกำแพงเพชร หลวงพิพิธอภัย จึงได้นำดาบฝักทองพระราชทานไปทูลเกล้าถวายคืน ซึ่งพระองค์พระราชทานกลับคืนมาให้เปนสมบัติประจำเมืองกำแพงเพชร
เรื่องพระเเสงราชศัตรประจำเมืองนี้ตามแบบธรรมเนียมแล้วหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจังหวัดใดทางราชการ ผู้ว่าราชการ(เจ้าเมือง) จังหวัดนั้นต้องอัญเชิญพระแสงราชศาสตราประจำจังหวัดมาทูลเกล้าฯถวาย ในลักษณะการถวายพระราชอำนาจอาญาสิทธิ์คืนแต่สมเด็จพระองค์ท่าน และพระแสงนั้นๆจะอยู่กับพระองค์ท่านไปตลอดเวลาที่ประทับในจังหวัด
โดยจะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระแสงกลับไปประจำจังหวัดต่อเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ/ออกจากจังหวัดนั้นๆ
เอกสารประกอบการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองนครศรีธรรมราช ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๕๘ ความว่า ... และเพื่อแสดงน้ำพระราชหฤทัยหมายดีของพระองค์ที่จะทรงปกครองประชาชนให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงศัสตราซึ่งเปนพระแสงของพระองค์ ไว้สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชเปนของต่างพระองค์เปนพยานแห่งพระราชอำนาจ เพื่อใช้ป้องกันสรรพอันตรายอันจะมาย่ำยีบีฑา และสำหรับผู้ปกครองใช้เปนอำนาจปราบปรามผู้ทำร้ายแก่อาณาประชาชน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการเมืองและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับพระราชอำนาจแบ่งพระราชทาน ให้ใช้ในทางสุจริต และยุติธรรม ซื่อตรงต่อหน้าที่และโปรดเกล้าฯ ให้รู้สึกว่าไม่ใช่แต่ผู้ว่าราชการเมืองผู้เดียว หน้าที่ราชการแผนกต่างๆ ได้รับแบ่งพระราชอำนาจไว้ด้วยและให้เปนเครื่องเตือนใจว่า ต่างได้รับภาระอันหนักเพื่อรักษาความสงบสุขสงบเรียบร้อยของประชาชนทั่วไป เมื่อประพฤติและคิดอยู่เช่นนี้คงมีความเจริญและความสุข ซึ่งพระราชทานพรให้มีความสุขศิริสวัสดิ์ทั่วกัน”