อะไรคือ ความน่ากลัวของการถดถอยทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

29 ก.ย. 2565 | 07:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2566 | 04:46 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”

ความไม่สอดคล้องกันของนโยบายการเงินต่อเป้าหมายเศรษฐกิจของประเทศเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดอย่างประเทศไทย กับนโยบายการเงินที่ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่มีต่อค่าเงินประเทศต่างๆ ทำให้ความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศไทยมีความยากลำบาก 
 

โดยเฉพาะประเด็นต่อการลดเงินเฟ้อ ด้วยการสร้าง Technical Recession โดยที่ไม่หวังให้เกิด Recession จริง ในขณะที่ประเทศไทยต้องการลดเงินเฟ้อ แต่ไม่ต้องการ Technical Recession หรือการถดถอยใดๆ ทั้งสิ้น 
 

เนื่องจากวงจรเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวการณ์จ้างงานเต็มที่นั่นเอง ทั้งนี้ด้วยความหมายของ “Technical Recession” หรืออาการการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจที่แท้จริง 
 

“Recession” สามารถวัดด้วยการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับด้วยฤดูกาลแล้วติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่อยู่ติดกันก่อนหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงและยังมีโอกาสที่ไตรมาสลำดับที่ 3 จะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%qoq) ซึ่งนั่นจะทำให้ไตรมาสนั้นมีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบ (%yoy) ซึ่งนั่นคือ การนำไปสู่การถดถอยทางเศราฐกิจที่แท้จริง
 

การถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นกลไกปกติของวัฎจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจผ่านช่วงเวลาของการขยายตัวสูงและเข้าสู่โหมดของการรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่ปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก เนื่องจากความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ของโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความแตกต่างกันออกไป
 

โดยเฉพาะห้วงเวลาที่บางประเทศที่มีการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในขณะที่บางประเทศผ่านการขยายตัวทางเศรษฐกิจจนเข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ไปแล้ว 
 

ดังนั้นผลของนโยบายเศรษฐกิจ ฐานะทางเศรษฐกิจการเงินการคลัง จึงมีความเหลื่อมซ้อนของช่วงจังหวะเวลาของนโยบายที่ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของแต่ละประเทศจึงบนวัฎจักรเศรษฐกิจคนละโลกเดียวกัน ความยากลำบากในการดำเนินนโยบายและประสิทธิภาพของนโยบายของนโยบายของเราจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

ในระยะสั้นการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อส่งสัญญาณทางนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด (อเมริกาเลือกใช้ Dot plot) เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจรับรู้และเตรียมตัวตอบรับผลของการดำเนินนโยบายที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (Priced-in) ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ต่างไปจากภาวะปกติ เช่น การ (เร่ง) ลดดอกเบี้ย การกระตุ้นการใช้จ่าย การลดภาษี 
 

แต่สำหรับบางประเทศแล้วกลับดำเนินการในทางตรงข้าม เพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น ความตั้งใจที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิด Recession เพื่อลดความอุปสงค์มวลรวมที่จะช่วยดึงเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่ยังควบคุมได้ โดยการให้น้ำหนักและจัดลำดับความสำคัญในการจัดการต่อเป้าหมายเศรษฐกิจในระยะสั้นจึงถูกนำมาใช้ก่อนเป็นอันดับแรก 
 

ธนาคารกลางหลายประเทศให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ และประเมินว่าน่ากลัวกว่า Recession เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นปัจจัยกำหนดเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเงินเฟ้อที่นานเกินไปจะปั่นทอนกำลังซื้อและประสิทธิภาพของนโยบายทุกชนิด ซึ่งนั่นจะกระทบต่อคุณภาพชีวิต ครัวเรือน การกระจายรายได้และปัญหาสังคม

 

ในระยะกลางของการถดถอยทางเศรษฐกิจจะแสดงผลไปที่ตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบผ่านกลไกการส่งผ่านจากตลาดเงินไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Transmission Process) โดยการหดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกระจายไปยังห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและภาวะอุปสงค์มวลรวมในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศที่มีฐานะการคลังแข็งแกร่งจะเริ่มนำเอาเครื่องมือทางการคลังมาใช้ในการแก้ปัญหาการถดถอยดังกล่าวรับไม้ต่อจากเครื่องมือทางด้านการเงิน 
 

เครื่องมือทางการคลังทั้งการใช้จ่ายในการลงทุนภาครัฐ การมีนโยบายลดและปรับโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรม การจูงใจและการพัฒนาเชิงพื้นที่ถูกนำมาใช้ด้วยเป้าหมายที่โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง ซึ่งนโยบายการคลังดังกล่าวไม่จำเป็นต้องอาศัยความสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ มีความเป็นอิสระในการดำเนินโยบายดังกล่าวได้ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศใดก็ตามที่มีภาครัฐเป็นกลไกใหญ่และสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังประเทศไทย
 

ในระยะยาวและจุดจบของการถดถอยทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าการหยุดเงินเฟ้อให้เข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพด้วยการขึ้นดอกเบี้ยจะใช้ Monetary และ Fiscal Space มากน้อยขนาดไหนในการดำเนินการจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเจริญเติบทางเศรษฐกิจ (Potential GDP growth) เพื่อไม่ให้การถดถอยที่ยาวนานจนเกินไป จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันไม่อาจจะกลับไปสู่จุดเดิมจะนำมาซึ่งหายนะทางเศรษฐกิจในระยะยาว การเติบโตต่ำ การติดกับดักรายได้ปานกลาง การลดลงของการออม การที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น คุณภาพชีวิตต่ำลง 
 

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความถดถอยอยู่กับประเทศนานจนเกินไป ผู้กำหนดนโยบายควรปิดความเสี่ยงอะไรบ้างในการดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้ 
1) เราไม่ควรไว้ใจและมั่นใจในประสิทธิภาพของเครื่องมือเดิมที่ใช้งานมานานจนเกินไป เพราะบริบทของเศรษฐกิจมันเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตตลอดเวลา 
2) เราต้องออกแบบนโยบายที่ครอบคลุมอย่างเพียงพอในตอนเริ่มต้นและต้องเสริมด้วยนโยบายที่เจาะจงตรงจุดในลำดับถัดไป เพื่อปิดช่องว่างที่เหลื่อมซ้ำให้เหลือน้อยที่สุด 
3) นโยบายต้องไม่ใช่สูตรสำเร็จแต่เป็นสูตรผสมที่เหมาะกับแต่ละประเทศ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่ต้องตามกัน แต่ต้องเน้นสร้างการรับรู้ของหน่วยเศรษฐกิจให้เห็นไปในทางเดียวกัน 
4) นโยบายที่ดีต้องมีขนาดที่เหมาะสมและสร้างความประหลาดใจให้กับหน่วยเศรษฐกิจได้ปรับตัวได้บ้าง 
 

นโยบายการแก้ปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจในอนาคตไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันระหว่างประเทศเล็กและประเทศใหญ่ แต่ต้องอาศัยอยู่บนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการสร้างเป้าหมายร่วมในการลบล้างอุปสรรคและสร้างความกินดีอยู่ดีในภาพรวม 
 

ยุคอนาคตที่โลกเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อห่วงโซ่มูลค่าถูกแยกออกเป็นวงใหญ่ 2-3 วง (Decoupling) ซึ่งเป็นต่อเนื่องจากสงครามและความไม่ไว้วางใจกันในกระบวนการผลิต Deglobalization จะทำให้ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง วัฎจักรของเศรษฐกิจจะสั้นลงและผันผวนมากขึ้น วงจรชีวิตของความรุ่งเรืองและวิกฤตอาจจะเกิดขึ้นใกล้กันในระยะเวลาอันสั้น
 

ประเทศที่ไม่สามารถสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นย่อมไม่สามารถที่จะนำพาประเทศออกจากภาวะถดถอยได้ ประเทศนั้นจะอยู่แค่คำว่า “ถดถอยมาก กับถดถอยน้อย” เท่านั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยืนอยู่บนนโยบายที่เข้มแข็งเป็นของตัวเอง และสร้างการรับรู้ (Perception) และการเตรียมความพร้อม (Readiness) อยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยจะอยู่กับคำว่าถดถอยตลอดไป