ปัญหาหนี้นอกระบบที่พุ่งสูงขึ้น กำลังเป็นภัยคุกคาม ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ มีการประเมินว่า มูลหนี้นอกระบบของไทย มีสัดส่วนมากกว่า 30% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) หรือกว่า 5 ล้านล้านบาท (ข้อมูลปี 2565 มูลค่าจีดีพี ไทย 17.4 ล้านล้านบาท) จากหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าหาบเร่ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ ลูกจ้าง ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมถึงประชาชนที่ตกงาน
ส่วนใหญ่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ แม้ต้องเสียดอกเบี้ยสูงมากกว่า 20% ต่อเดือนก็ตาม เพราะไม่ต้องใช้หลักฐานอะไรมากในการกู้ แต่ปัญหาที่ตามมา เมื่อรายได้ลดลงไม่พอใช้จ่าย ไม่มีเงินเหลือพอที่จะไปใช้หนี้ได้ ผลที่ตามมาถูกติดตามทวงหนี้ ถูกขู่เข็ญ ถูกทำร้าย เป็นปัญหาสังคมตามมา สะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในการดำรงชีวิต และส่งผลถึงการบริโภคภายในประเทศในที่สุด
ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน2566 หนี้สินครัวเรือนของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พุ่งสูงขึ้น 3.6 % หรือราว 16.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6 % มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก
ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง ส่งผลให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.68% จากไตรมาสแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 2.71 % ต่อสินเชื่อรวม
ทั้งนี้ ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้ภาคเกษตรกรรม กำลังเจะเป็นปัจจัยบเสี่ยงต่อต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม
การที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ” และเปิดให้ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการต่างๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ก็ต้องมาติดตามกันว่า จะประสบความสำเร็จ หรือ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเจ้าหนี้จะให้ความร่วมมือหรือไม่
ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ ก็ต้องไปเร่งยกระดับรายได้ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งต้องติดตามว่า นายกรัฐมนตรี จะมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างไรในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
หากรัฐบาลแก้ปัญหาการเป็นหนี้ของประชาชนทั้ง 2 ก้อนนี้ได้ ก็จะเป็นส่วนสำคัญให้คนในประเทศมีเงินเหลือกลับมามีกำลังซื้อ กระตุ้นการบริโภค ช่วยเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ ที่สำคัญช่วยให้ประชาชนในประเทศมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อีกทางด้วย