เผือกร้อนในมือ “สปสช.-สปส.”

25 ก.ย. 2567 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 05:19 น.

เผือกร้อนในมือ “สปสช.-สปส.” : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4030

ขณะที่ “กระทรวงสาธารณสุข” เร่งขยายโอกาสในการให้บริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมแก่ประชาชน และครอบคลุมในโรคต่างๆ มากขึ้น ผ่าน “บัตรทอง” หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งแต่ละวันมีผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 1 ล้านคน ขณะที่มีผู้ป่วยในเฉลี่ย 1 แสนคนต่อวัน มาใช้บริการในโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 1,000 แห่ง

แต่วันนี้โรงพยาบาลเหล่านั้น กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง สาเหตุสำคัญนอกเหนือจากการเบิกจ่ายที่ได้ล่าช้าแล้ว งบประมาณค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับต่อหัวยังตํ่ากว่าความเป็นจริง ง่ายๆ คือ ผู้ป่วยใน 1 คน จะได้รับงบในการรักษา 8,350 บาท ต่อหนึ่งหน่วย (AdjRW)

แต่ล่าสุดการจัดสรรงบจ่ายจริงจะได้เพียง 7,000 บาทต่อหน่วย (AdjRW) เพราะยิ่งมีผู้ป่วยในมากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น งบที่มีจึงต้องปรับลดลง 

แม้ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขจะไฟเขียวให้นำงบกลาง 5,924 ล้านบาท มาใช้จ่ายเพื่อผลักดันให้งบจ่ายได้ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วยเช่นเดิม แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นเท่านั้น

สิ่งที่โรงพยาบาลต้องการคือ งบประมาณที่มากขึ้น ค่าตอบแทนแพทย์ที่เหมาะสม ปรับภาระงานไม่ให้ล้นเกิน เพื่อให้แพทย์มีเวลาในการวินิจฉัยโรค มีเวลาพักผ่อน ลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง และแก้ปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบราชการ ที่สำคัญคือ “เปลี่ยนนโยบายด้านสาธารณสุข” เน้นสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก เพื่อลดการใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ไม่ใช่เพียงฟากของ “สปสช.” ที่มีปัญหา

ในส่วนของ “สปส.” หรือสำนักงานประกันสังคม ก็มีปัญหาเช่นกัน เมื่อโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญา ที่ให้บริการรักษาผู้ประกันตน ที่มีอยู่กว่า 120 แห่ง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 93 แห่ง แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีโรงพยาบาลใหม่เข้าร่วมเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ทำให้โรงพยาบาลมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถให้บริการผู้ประกันตนได้
 ปัญหาของโรงพยาบาลในระบบ สปส. ไม่ได้แตกต่างจากในระบบ สปสช. มากนัก เพราะปัญหาที่เจอคือ การปรับลดค่ารักษาพยาบาลในหมวดโรคค่าใช้จ่ายสูง  

ในปี 2565-2566 จากเดิมที่ได้รับ 12,000 บาท ต่อ AdjRW เหลือเพียง 7,200 บาท ต่อ AdjRW ในไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี และคาดว่า ในไตรมาส 4 ของปี 2567 ก็จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน หากต้องซํ้ารอยขาดทุนทุกปี ต่อเนื่อง แน่นอนว่าคงไม่มีโรงพยาบาลใดที่จะยืนหยัดแบกรับภาระขาดทุนได้

อีกทั้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สปส. ไม่เคยปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเลย โดยเฉพาะในหมวดโรคค่าใช้จ่ายสูง และโรคเรื้อรัง ซึ่งการจะให้คู่สัญญาเดินหน้าได้ ทุกฝ่ายต้อง win-win- win ทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สปส. โรงพยาบาลคู่สัญญา และผู้ประกันตน

ชั่วโมงนี้ ปัญหาการจัดสรรและเบิกจ่ายทั้งของ สปสช. และ สปส. จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ “นายกฯอิ๊งค์” ต้องเร่งสาง...