เมื่อมังกรใช้ “วัสดุใหม่” ในการก้าวกระโดดครั้งใหม่ (จบ)

22 ธ.ค. 2567 | 00:00 น.

เมื่อมังกรใช้ “วัสดุใหม่” ในการก้าวกระโดดครั้งใหม่ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4055

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างจับต้องได้ก็คือ ในช่วงหลายปีหลัง จีนทำลายสถิติด้านกำลังการผลิตโพลีซิลิคอน เวเฟอร์ซิลิคอน เซลล์ และ ส่วนประกอบแบตเตอรี่ และอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ...

ข้อมูลจากคณะกรรมการวัสดุเคมีขั้นสูง ภายใต้สหพันธ์อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีแห่งชาติจีน ระบุว่า ในปี 2022 กำลังการผลิตวัสดุใหม่ของจีนมีปริมาณมากกว่า 45 ล้านตัน โดยมีผลผลิตกว่า 31 ล้านตัน และมูลค่าผลผลิตทะลุ 1 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรก แถมการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีก่อนก็มีอัตราเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี ทดแทนอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ยาฆ่าแมลง สีย้อม และ สารเคลือบผิว 

สหพันธ์อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีฯ ยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 การบริโภควัสดุใหม่ของจีน จะมีปริมาณมากกว่า 57 ล้านตัน ขณะที่ขนาดตลาดวัสดุใหม่ของจีน จะมีมูลค่าเกินกว่า 2 ล้านล้านหยวน และอัตราการพึ่งพาตนเองจะแตะหลัก 78% 

ศูนย์วิจัยบางแห่งยังคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในระหว่างปี 2026-2028 อัตราการเติบโตของตลาดวัสดุใหม่ของจีน จะอยู่ที่ 15% ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2028 ขนาดตลาดโดยรวม จะมีมูลค่าเกิน 3 ล้านล้านหยวน หรือราว 80% ของขนาดเศรษฐกิจของไทยโดยรวมเลยทีเดียว

จากตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาวัสดุใหม่ดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่า วัสดุใหม่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่น่าทึ่งที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจีน โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนสามารถเปลี่ยนสถานะของตนเองจากการเป็นผู้บริโภคไปสู่ผู้มีบทบาทในด้านการผลิต การวิจัย และนวัตกรรม

อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ภาควัสดุใหม่ของจีนยังคงถูกครอบงำโดยบริษัทข้ามชาติของต่างประเทศ อาทิ ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) และ ฮันนีเวลล์ (Honeywell) ที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในเวทีโลก ขณะที่ผู้ประกอบการจีนเป็นเพียง “ผู้มาใหม่” 

ในฐานะบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ Samsung ประสบความสำเร็จอย่างมาก และรักษาตำแหน่งผู้นําในด้านวัสดุใหม่ และ เซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่ด้านการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมในระยะแรก ไปจนถึงความหลากหลายและความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งทางธุรกิจ รวมทั้งยังได้รับประโยชน์จากความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัทท้องถิ่นของจีน 

ขณะที่ Honeywell แสดงให้เห็นถึงกลุยทธ์ที่รอบด้าน ซึ่งสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรม กับ ความเป็นเลิศในการดำเนินงานผ่านความยั่งยืน และประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดจีน

กลยุทธ์ “ตะวันออกเพื่อตะวันออก” ของบริษัทฯ ซึ่งเปิดตัวเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ช่วยให้บริษัทฯ ได้ศึกษานโยบายของจีนและจัดหา ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่ครอบคลุม จัดการกับความท้าทายเฉพาะของอุตสาหกรรม ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร และสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีในจีน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการบินและอวกาศ และวัสดุอาคารที่มีประสิทธิภาพและโซลูชั่นด้านความปลอดถัยและผลผลิต ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือกับสถาบันวิจัยอาคารอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ ในปี 2023 Honeywell ยังได้เปิดตัวความริเริ่มหลายอย่างในจีน ซึ่งรวมถึงศูนย์นวัตกรรมดิจิตัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และศูนย์สนับสนุนเทคโนโลยีโอเอฟินส์ เป็นต้น

ผลการวิจัยบริษัทด้านวัสดุใหม่ชั้นนำของจีนผ่าน “ดัชนีการปรับโครงการบริษัทของจีนปี 2024” (2024 China Company Transformation Indicator) ยังพบว่า มีเพียง 2 บริษัทจีนเท่านั้นที่ติดอันดับ 10 บริษัทด้านวัสดุใหม่ยอดเยี่ยมในจีน อันได้แก่ Beijing Easpring Materials Technology และ Semcorp  
Easpring Material
นับเป็นหนึ่งในผู้นำด้านประสิทธิภาพการทำงานด้วยจุดแข็งด้านความสำเร็จทางธุรกิจ ความแข็งแกร่ง และนวัตกรรมในระยะเริ่มต้น 

แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ในช่วง 2-3 ปีหลัง แต่ Easpring Material ก็สามารถปรับปรุงผลกำไรได้ดี โดยอาศัยรูปแบบการวิจัยและพัฒนาที่สร้างสรรค์ผ่านสถาบันวิจัยสำคัญหลายแห่ง ในการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมแบบบูรณาการ 

ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านวัสดุแคโทดแบตเตอรี่ลิเธียม บริษัทฯ ได้รับเกียรติประวัติในระดับประเทศ และระดับมณฑลมากมาย และยังมุ่งมั่นคิดค้นกลยุทธ์การตลาดอย่างจริงจัง โดยเน้นที่ “การขยายตลาดจีน เสริมสร้างตลาดยุโรป และเพิ่มประสิทธิภาพตลาดสหรัฐฯ” 

ขณะที่ Semcorp แต่เดิมมีชื่อว่า Yunnan Energy New Material Co., Ltd. ก็มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตวัสดุขั้นสูงใน 2 ระบบธุรกิจสำคัญ ได้แก่ พลังงานใหม่ และ บรรจุภัณฑ์ ทำให้ครอบคลุม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์ฟิล์ม ผลิตภัณฑ์การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์กระดาษ

บริษัทฯ เข้าลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น นับแต่เดือนกันยายน 2016 และบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตฟิล์มแยกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรายใหญ่ที่สุดในโลก และ เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอลจี เคม (LG Chem) ซีเอทีแอล (CATL) บีวายดี (BYD) และ ซัมซุงเอสดีไอ (Samsung SDI) 

                                เมื่อมังกรใช้ “วัสดุใหม่” ในการก้าวกระโดดครั้งใหม่ (จบ)

นอกจาก 2 บริษัทดังกล่าว จีนยังมีบริษัทที่มีความก้าวหน้าด้านวัสดุใหม่อีกหลายแห่งที่อยู่ใน CCTI นั่นเท่ากับว่า บริษัทจีนที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อก้าวขึ้นเป็น “ผู้ท้าชิง” ดังจะเห็นได้จากการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ภายใต้นโยบาย MIC 2025 อย่างจริงจังในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา

แต่ “จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ได้อย่างไรในอนาคต” เป็นประเด็นที่ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านให้ความสนใจมากกว่า เพราะไม่เพียงการดำเนินนโยบายดังกล่าวเพื่อหวังผลในปัจจุบันเท่านั้น 

แต่ผมยังมั่นใจว่า อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ยังมีอนาคตอย่างยาวไกลในจีน แม้กระทั่ง ที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 เมื่อกลางปี 2024 ที่ผ่านมา ก็ยังให้การรับรองอุตสาหกรรมฯ นี้

ภายหลังการประชุมดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ได้ร่วมกันออกเอกสารที่ระบุสาระสำคัญว่า จีนจะขยายแพลตฟอร์มการทดสอบวัสดุใหม่ ที่มีการก่อสร้างอย่างเป็นมืออาชีพ การดําเนินงานที่มุ่งเน้นกลไกตลาด และบริการแบบเปิด 

โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาแพลตฟอร์ม “ระดับนำร่อง” จำนวน 300 แห่ง และ “ระดับสูง” ราว 20 แห่ง ระหว่างปี 2024-2027 ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนทางเทคโนโลยี และ บริการสาธารณะของแพลตฟอร์มเหล่านี้ 

แพลตฟอร์มเหล่านี้จะให้บริการในการนําผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการไปสู่การผลิตทางอุตสาหกรรม โดยจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุในด้านปิโตรเคมี เหล็กและโลหะอื่น อโลหะสีเขียว และวัสดุอื่นที่ล้ำสมัย

ดูเหมือนจีนยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ต่อไป ในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 15 (2026-2030) เพื่อสานต่อการดำเนินนโยบาย “MIC 2025” ด้วยนโยบายใหม่ “New Quality Productive Forces”  

การบูรณาการวัสดุใหม่ที่ล้ำสมัยเข้ากับนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม และ บล็อกเชน จะพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตของจีนสู่การ “ก้าวกระโดดครั้งใหม่” ในอนาคต ...