สตรีและสตางค์ กับดักพระภิกษุสงฆ์

29 ต.ค. 2567 | 23:00 น.

สตรีและสตางค์ กับดักพระภิกษุสงฆ์ คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

พระสงฆ์ดังๆ ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณ มีผลงานในการเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์ มักเจอกับดัก 2 ประการ คือ สตรี และสตางค์ เรื่องพวกนี้มิใช่ของใหม่ มีมาแล้วในอดีต ปัจจุบันก็ยังเป็นข่าว อนาคตก็ตัองเกิดอีก ตราบใดที่พระมาจากปุถุชนคนธรรมดา เมื่อบวชแล้วมีฐานะเป็นสมมติสงฆ์เท่านั้น

ครูบาอาจารย์ท่านรู้สาเหตุ จึงพร่ำสอนลูกศิษย์ว่าอย่าประมาทในเรื่องดังกล่าว 

แต่ความประมาทมักเกิด เมื่อหลงในชื่อเสียง ประกอบกับกิเลส เช่น ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ และอวิชชา เข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสอนครูบาอาจารย์ที่หวังดีไปสิ้น จนกระทั่งติดกับดักได้แก่ สตรีหรือสตางค์ 

พระดังๆ ทั้งหลายที่เกิดพลาด หรือติดกับดักที่ว่า ย่อมตกเป็นเหยื่อสื่อมวลชนกระแสหลัก และโซเชียลมีเดีย อย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้ชาวพุทธบางส่วน เกิดความเอือมระอา หมดศรัทธา จึงเหมารวมว่าใส่บาตรไปไม่มีประโยชน์ พูดชัดๆ คือเลิกใส่บาตรพระ หันไปทำบุญในบุญเขตอื่น เช่น ให้ทาน หรือช่วยสาธารณะสงเคราะห์ดีกว่า

แม้ว่าพระที่ทำเรื่องอื้อฉาวจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมส่งให้พระผู้ปกครองสึก คนแล้วคนเล่า เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามศาสนา ดังที่เรียกว่านิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้นทิ้ง ก็ไม่ทำให้คนทั่วไปกลับมีศรัทธาเหมือนเดิม

ในความเป็นจริง เมื่อลูกชาวบ้านเข้ามาบวชเป็นพระแล้ว นอกจากปฏิบัติตามกฏระเบียบของวัด ยังต้องถือนิสัย หรือปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต 4 ประการ คือ 1. เที่ยวบิณฑบาตร 2. อยู่โคนต้นไม้ 3. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล และ 4. ฉัน (กิน) ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ปัจจุบันโลกพัฒนา ไม่มีใครกินแล้ว) และต้องเอื้อต่อพระธรรมวินัย เช่น ทำวัตร สวดมนตร์ และฟังพระปาติโมกข์ 15 วันครั้ง เพื่อเตือนสติหรือทบทวนตัวเอง ว่าละเมิดศีลข้อไหนในศีล 227 ข้อนั้นบ้าง ซึ่งเป็นภาคบังคับของแต่ละวัด

ถ้าชาวบ้านทั่วไป อยากทราบความหมายของปาติโมกข์ และแนวปฏิบัติของพระ ให้อ่านหนังสือนวโกวาท และวินัยมุข เล่ม 1 พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พิมพ์ที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย แถววัดบวรนิเวศวิหาร จะได้ทราบอย่างลึกซึ้ง

นอกจากนั้นเมื่อบวชพระเป็นสมาชิกคณะสงฆ์ต้องเอื้อต่อ กฎ ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคม กฎหมาย ระเบียบ ประเพณี ธรรมวินัย อีกหลากหลาย ถ้าทำตัวเคร่ง ศีลก็บริสุทธิ์ โลกวัชชะไม่มี และไม่ติดกับดัก สตรี และสตางค์ด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเรื่องเสียๆหายๆ ของพระ ชาวบ้านมักถามว่าทำไมองค์กรปกครองสงฆ์ ที่เรียกมหาเถรสมาคม ไม่เทคแอคชั่น ปล่อยให้เป็นเรื่องอื้อฉาว เป็นโลกวัชชะได้ไง และยังถามบทบาทสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่ามีหน้าที่อะไร ช่วยแก้ปัญหาพระอื้อฉาวได้ไหม

คำตอบแรกคือ มหาเถรสมาคม หรือ มส. ที่เป็นองค์การปกครองสูงสุดนั้น ท่านกระจายอำนาจให้เจ้าคณะแต่ละนิกายรับผิดชอบ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่4 (พ.ศ.2506) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ โดยบอกว่าการปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนชั้นให้มีเจ้าคณะมหานิกาย และเจ้าคณะธรรมยุต ปกครองบังคับบัญชาวัดและภิกษุสามเณรในนิกายนั้น

ตามระเบียบที่ว่านี้ ท่านให้มีเจ้าคณะใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์นิกายนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของมหาเถระสมาคม(ที่งานประชุมและกิจนิมนต์เยอะ)

เจ้าคณะใหญ่มีทั้งหมด 5 คณะ โดยฝ่ายมหานิกาย มี 4 คณะ ธรรมยุต มี 1 คณะ ฝ่ายมหานิกายประกอบด้วย 1. เจ้าคณะใหญ่หนกลาง 2. เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ 3. เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และ 4. เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต

ถัดจากเจ้าคณะใหญ่ มีเจ้าคณะภาค 18 ภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส รับผิดชอบลดหลั่นกันไป (ในส่วน กทม.เจ้าคณะจังหวัดให้เรียกว่า เจ้าคณะ กทม.เจ้าคณะอำเภอให้เรียกว่าเจ้าคณะเขต เจ้าคณะตำบล ให้เรียกว่า เจ้าคณะแขวง)

เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค จนถึงเจ้าอาวาส (รวมตำแหน่งรองและผู้ช่วย) มีฐานะเป็นพระสังฆาธิการ ส่วนกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่มีฐานะเป็นพระสังฆาธิการ  ดังนั้นผู้ที่กล่าวหาว่า มส. ไม่ทำอะไร เมื่อเกิดอื้อฉาว ต้องเข้าใจใหม่ว่า  มส. ท่านกระจายอำนาจไปแล้ว จึงรับชอบ แต่ไม่ต้องรับผิด (เพราะไม่เป็นพระสังฆาธิการ)
 


ส่วนที่มีคำถามเกี่ยวกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่ามีหน้าที่อะไร ผมไม่ใช่กระบอกเสียงสำนักพุทธ แต่หาคำตอบมาให้ สำนักพุทธทำหน้าที่สนองงานพระศาสนาทุกกระบวนการ โดยผู้อำนวนการสำนักพุทธ ทำหน้าที่เลขาธิการ มหาเถรสมาคม

นอกจากนั้นมีพันธกิจหลายอย่าง เช่น พยายามให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการและกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนาในระดับโลก สร้าง-พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นที่ตั้งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เพิ่มมูลค่าศาสนสมบัติ(กลาง)ให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรม ยกระดับชีวิตโดยใช้หลักพุทธรรม เป็นเครื่องชี้นำ

เท่าที่ศึกษาดูไม่มีข้อใดให้อำนาจสำนักพุทธฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับพระภิกษุที่ทำผิดวินัย หรือละเมิดจริยาพระสังฆาธิการแต่ผู้คนยังหวังว่าท่านน่าจะมีส่วนช่วยดูแลด้วย

อย่างไรก็ตาม เราชาวพุทธอุ่นใจได้ระดับหนึ่งที่มีชาวบ้านรอบวัดที่รักพระศาสนาช่วยเป็นหูเป็นตา ไม่ให้พระในวัดทำนอกรีตนอกรอยจนเกินไป (เว้นแต่คนที่สมรู้ร่วมคิดกับพระภิกษุ)
ส่วนพระผู้ปกครองก็ไม่ละเลย ท่านมีวิธีการชำระล้าง ให้ศาสนาสะอาด เพื่อคงความสำคัญพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติ