การเซ็นสัญญา NCA ก้าวแรกของสันติภาพ

15 ต.ค. 2566 | 21:25 น.

การเซ็นสัญญา NCA ก้าวแรกของสันติภาพ คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม เป็นวันครบรอบ 8 ปีของการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ซึ่งมีการเช็นสัญญากันเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 รัฐบาลเมียนมาในขณะนั้น และองค์กรชาติพันธุ์ 8 องค์กรได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นหนึ่งของรัฐบาลภายใต้การนำของท่านประธานาธิบดีเต็งเส่ง ผมคิดว่านั่นเป็นเพียงสัญญาฉบับหนึ่งในอีกหลายๆ ฉบับ ที่เราเคยได้ยินได้ฟังมานาน และคงไม่ใช่ฉบับสุดท้ายของรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์อย่างแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ก็สามารถพูดได้ว่า นั่นอาจจะเป็นปฐมบทของสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ของประเทศเมียนมาเท่านั้น

เท่าที่เห็นในภาพข่าว จากสื่อที่ทั้งอยู่ในประเทศเมียนมาเอง และสื่อที่อยู่ในประเทศไทย ในการเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปีของข้อตกลงในครั้งนี้ เราได้เห็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมในงาน มีเพียงกลุ่มผู้นำกองกำลังชนชาติพันธุ์เพียง 4 กลุ่มด้วยกัน ที่เข้ามายังกรุงเนปิดอร์ เพื่อแสดงถึงความต้องการเห็นสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศเมียนมา

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน หลังจากรัฐบาลเมียนมายุคปัจจุบันได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีอยู่หลายกลุ่มกองกำลัง ที่ได้แสดงเจตจำนงค์ในการเข้าร่วมกันสร้างสันติภาพ ซึ่งก็จัดขึ้นโดยรัฐบาลในชุดนี้ แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้เห็นการเข้าร่วมงานในวันนี้มากนัก ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะมีความรู้สึกแปลกใจเหมือนที่ผมคิดเช่นกัน คงจะต้องมองไปข้างหน้าต่อไปว่า ทุกฝ่ายกำลังคิดอะไรกันอยู่นะครับ

สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับ คือสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ แม้ว่ารัฐบาลทหารที่มีท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้มีการแทรกแซงจากประเทศตะวันตกหลายประเทศ ที่มีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำการแซงชั่น อีกทั้งยังมีกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของรัฐบาลทหาร ออกมาสร้างกระแสต่อต้านอยู่เป็นเนื่องๆ ทำให้การสร้างสันติภาพในประเทศเมียนมา เป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งการที่พรรคการเมืองภายในประเทศเมียนมา ก็มีการชักนำให้ประชาชนบางกลุ่ม ที่ออกมาเปิดหน้าเปิดตาไม่เห็นด้วย นั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังนั้นการแสดงออกของกลุ่มกองกำลังชนชาติพันธุ์ จึงไม่ได้ออกมาร่วมงานในครั้งนี้ก็เป็นไปได้ครับ

ความขัดแย้งในประเทศเมียนมาตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ก็มักจะมีปัญหาภายในไม่รู้จบ กลุ่มที่ขัดแย้งกันที่ใหญ่ๆ ในอดีต มักจะเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธเป็นกองทัพหนุนหลังความขัดแย้งอยู่ มักจะมีการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องมายาวนานกับกองทัพของรัฐบาลเมียนมาในอดีต ซึ่งก็หนักหนาสาหัสมากในการที่จะมานั่งบนโต๊ะเปิดการเจรจากันได้ แต่พอเริ่มมีการตกลงหยุดยิงกันได้ เราก็นึกภาพมโนไปเองว่า “ฟ้าคงจะเปิดแล้ว สันติภาพใกล้เข้ามาแล้ว” แต่ที่ไหนได้ พอเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เพียงกลุ่มกองกำลังชนชาติพันธุ์เท่านั้น ที่ออกมาผสมโรงกัน สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา กลุ่มใหม่ๆ ก็มีหลากหลายกลุ่มมาก ไม่เพียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเมียนมาในยุคนี้เท่านั้น ยังมีกลุ่มนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจ และกลุ่มพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคไป กลุ่มนักวิชาการและนักวิชาชีพอื่นๆ ที่ออกไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นยังนอกประเทศอีก เฮ้อ....แค่ฟังแค่นี้ก็สับสนวุ่นวายแล้วนะครับ

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชาติต่างๆ ที่เข้ามาร่วมประสมโรงกับเขาด้วย ผมเห็นแล้วก็ต้องบอกว่า น่าสงสารประเทศเมียนมาจริงๆ เลยครับ เราคงทำได้เพียงส่งกำลังใจไปให้เมียนมากัน อยากให้เขาได้มีสันติภาพเป็นอันดับแรกก่อน ส่วนการมีเสรีภาพ อิสรภาพ และประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา อย่าเพิ่งคิดไปไกลเกินจริงก็ได้ เพราะถ้ามีสันติภาพแล้ว ทุกอย่างที่คาดหวังก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้วครับ

บางครั้งคนรุ่นใหม่มักจะเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังไม่ถูก อันที่จริงแล้วหากสร้างสันติภาพไม่ได้ บ้านเมืองมีแต่ความไม่สงบ สันติภาพไม่เกิดขึ้น การที่จะแสวงหาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ย่อมไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการสร้างความสงบสุข ที่เครื่องมือในการสร้างความสงบสุขได้นั้น ไม่สามารถใช้แค่ตัวบทกฎหมายในการบังคับใช้ได้หรอกครับ เพราะถ้าหากทุกคนมีอาวุธอยู่ในมือ กฎหมายย่อมไม่สามารถบังคับใช้ได้ มีเพียงการปลดอาวุธเท่านั้น กฎหมายจึงจะสร้างความศักดิ์สิทธิได้ เมื่อมีกฎหมายแล้ว คราวนี้ก็ต้องมาดูกันต่อว่า กฎหมายเหล่านั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าหากกฎหมายไม่เป็นธรรม ประชาชนไม่สามารถได้รับความยุติธรรม หน้าที่ก็จึงจะค่อยมาตกที่มือของผู้ออกกฎหมายนั้นๆ บทบาทเหล่านี้จึงอยู่ในมือของนักการเมือง ทุกคนจึงจะเริ่มใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” มาเป็นเครื่องมือ ในการเลือกนักการเมืองจากพรรคต่างๆ เข้าไปดำเนินการให้เครื่องมือนั้น มีประสิทธิภาพอย่างบริสุทธิยุติธรรมได้ 

ดังนั้นการใช้กำลังเข้าไปห้ำหั่นกันเพื่อสร้างประชาธิปไตย ผมยังไม่เห็นช่องทางไหนที่เคยเกิดขึ้นเลย ไม่ว่าประเทศใดๆ ในโลกนี้ ย่อมมีวิวัฒนาการที่คล้ายๆ กันหมดแหละครับ ผมจึงคิดว่าที่ประเทศเมียนมาเอง ก็คงไม่สามารถผิดแผกแตกต่างออกไปได้ จึงอยากวิงวอนให้ทุกฝ่าย หันหน้าเข้าหากัน นั่งคุยกันเพื่อสร้างสันติภาพเถอะครับ เพราะผมเองก็มีการลงทุนในประเทศเมียนมาอยู่เยอะมาก.....แฮ่ เข้าตัวเองจนได้เนอะ