ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เชื่อมั่นได้

09 ก.ค. 2566 | 22:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เชื่อมั่นได้ โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีแฟนคลับสอบถามมาว่า การตัดสินใจย้ายฐานการผลิต ออกจากประเทศเมียนมาของผู้ประกอบการบางบริษัท ผมมีความคิดอย่างไร? ผมต้องบอกว่า เราต้องมองด้วยสายตาเห็นธรรม ต้องเข้าใจเขาและเห็นด้วยกับการตัดสินใจของบริษัทเหล่านั้น เพราะเราไม่ใช่เจ้าของเม็ดเงินที่ลงทุนนั้น แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การตัดสินใจที่จะเดินออกไปลงทุนต่างประเทศของแต่ละบริษัท เขาย่อมมีสิทธิในการตัดสินใจอยู่แล้ว เพราะการตัดสินใจนั้น เขาอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากเราก็ได้ ที่ผมเคยพูดไว้มาตลอดเวลาว่า ปัจจัยในการเดินทางออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ช่างมีหลากหลายปัจจัยเหลือเกิน ถามว่าบริษัทเหล่านั้นเขาทราบหรือไม่? ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้แน่นอน เพียงแต่การให้น้ำหนักถ่วงของแต่ละปัจจัยอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้นวันนี้เรามาดูกันว่าปัจจัยเหล่านั้นมีอะไรกันบ้างนะครับ

ปัจจัยแรกคือตลาดของสินค้าที่จะผลิต แน่นอนว่าตลาดนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะบางบริษัทอาจจะต้องการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้านั้นๆ ไปขายยังประเทศที่ผลิต เพราะบางครั้งการนำเข้าสินค้าเหล่านั้น จะต้องเสียค่าภาษีนำเข้า และภาษีอื่นๆ อีกมากมาย หรืออาจจะต้องเสียค่าโลจิสติกส์ ที่จะต้องขนส่งสินค้าเข้าไปขาย เสียเวลาและค่าเสียโอกาสในการบริหารงานคลังของสินค้า เป็นต้น เพราะถ้าหากผลิตสินค้าในประเทศที่เป็นตลาด ที่มีความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้านั้น ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป เพราะเข้าไปอยู่ที่แหล่งของตลาดนั้นแล้วครับ

ปัจจัยต่อมาคือปัจจัยเรื่องแหล่งวัตถุดิบ ที่จะต้องนำมาผลิตสินค้านั้น โดยมีแหล่งที่มาในประเทศที่จะเข้าไปตั้งฐานการผลิต จะทำให้ลดต้นทุนของวัตถุดิบ ค่าขนส่งวัตถุดิบ ค่าปรับปรุงตกแต่งวัตถุดิบนั้นๆ ค่าขนย้ายสินค้าที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมากับค่าสินค้าวัตถุดิบนั้นๆ อีกมากมาย ปัจจัยต่อมาคือค่าที่ดิน ที่อาจจะมีราคาที่ต่ำกว่าประเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินในรูปของมูลค่าการซื้อ-ขาย มูลค่าการเช่า-ซื้อ หรือมูลค่าของค่าเช่า ซึ่งหากที่ดินของที่ประเทศตนเองสูงเกินกว่าที่จะตัดสินใจลงทุนในประเทศตนเอง นักลงทุนก็อาจจะตัดสินใจเดินทางไปลงทุนที่ประเทศอื่นๆ ได้ครับ

ปัจจัยต่อมาคืออัตราภาษีนิติบุคคล ซึ่งบางประเทศที่เขาต้องการนักลงทุน เข้าไปลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่นอกประเทศ ซึ่งอาจจะมีการจัดเก็บภาษีที่ถูกกว่าการลงทุนในประเทศของตนเอง หรือประเทศตนเองมีการจัดเก็บรายได้ด้านภาษีมากจนเกินไป ก็จะทำให้เขาตัดสินใจย้ายฐานการผลิตได้ครับ

ปัจจัยต่อมาคือ ด้านต้นทุนค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเท่าที่ผมเคยเห็นมา บางประเทศเขาก็เอาเรื่องนี้มาล่อตาล่อใจนักลงทุน ให้ย้ายฐานการผลิตไปที่นั่นได้เช่นเดียวกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ คือปัจจัยของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งแต่ละประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย จะงัดกลยุทธ์ออกมาส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศกันอย่างรุนแรง เราจะเห็นในยุคแรกๆ ของการเข้ามาสู่ประเทศไทย ของนักลงทุนต่างชาติ ที่แห่แหนกันเข้ามาลงทุนกัน เพราะในยุคนั้นประเทศไทยเราต้องการเม็ดเงินลงทุน รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำพานักลงทุนภายในประเทศกระโดดตามเข้ามา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างเห็นได้ชัด ในเวลาต่อมาว่าประเทศไทยเราได้ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว และต่อมาเราก็ได้เห็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เด่นชัดมาก (ในโอกาสหน้าผมจะนำมาเล่าให้ฟังครับ) อีกทั้งประเทศเวียดนาม ที่เฝ้าเลียนแบบไทยและจีน ทำให้เขาได้เข้าสู่ประเทศที่มีความเจริญด้วยอัตรารายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นด้วยตัวเลขสองหลักติดต่อกันมาหลายปีเลยครับ

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เมื่อจะออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ที่เป็นพระเอก-นางเอกอยู่สองปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรกคืออัตราค่าแรงงานในประเทศที่จะไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกว่าแรงงานไร้ฝีมือ หรือค่าแรงงานที่มีทักษะหรือที่เรียกว่าแรงงานที่มีฝีมือก็ตาม เราต้องมองข้ามไม่ได้เลยครับ เพราะการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก(Labor intensives) อันได้แก่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานทอผ้า โรงงานผลิตอาหารต่างๆ ซึ่งหากค่าแรงงานขั้นต่ำสูงมากเกินไป ก็จะทำให้การแข่งขันทางด้านราคา ไม่สามารถสู้กับประเทศคู่แข่งได้ ฐานการผลิตก็จะถูกโยกย้ายออกนอกประเทศ ดังที่เราเคยประสบพบเจอมาแล้วในอดีตที่ไม่นานที่ผ่านมาไงละครับ

ปัจจัยอีกหนึ่งคือปัจจัยทางด้านการเมือง แน่นอนว่าหากการเมืองไม่นิ่ง หรือการเมืองที่มีปัญหาสะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภายในประเทศทั้งสิ้น ยิ่งนักลงทุนที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ความไม่สงบภายใน พอเสียงระเบิดดังตูม ก็ตกใจย้ายฐานการผลิตแล้วละครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม จะพบนักลงทุนประเภทนี้บ่อยมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น จะมีความอ่อนไหวอย่างที่สุด เสียงระเบิดหรือเสียงปืนดังเป็นหนีหมดเลยครับ

เราหันมาดูที่คำถามจากแฟนคลับ ตามที่ช่วงแรกผมกล่าวถึงมาแล้ว จะเห็นว่าความเสี่ยงที่ตัวนักลงทุนเขาไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้น แน่นอนว่าจะทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศ ที่มีการปฏิวัติ รัฐประหารทันทีที่เกิดเรื่องขึ้น ย่อมไม่ใช่เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายครับ ส่วนนักลงทุนหน้าใหม่ ที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศนั้น แม้จะมีการประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนดีแค่ไหนก็ตาม หรือค่าแรงงานขั้นต่ำจะถูกกว่าประเทศอื่นมากมายสักเพียงใดก็ตาม ย่อมเป็นการยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เขาได้ รัฐบาลโดยเฉพาะประเทศเมียนมา หากต้องการที่จะดึงเอานักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนใหม่ และจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเก่า ที่ยังคงทำมาหากินอยู่ในประเทศ จำเป็นจะต้องออกกำลังภายในให้หนักๆ อีกทั้งต้องสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนเหล่านั้น อย่างเป็นรูปธรรมมากๆ เลยละครับ บางครั้งต้องอาศัยบารมีของผู้บริหารประเทศ ออกมายืนยันนั่งยันว่า “ปลอดภัยๆๆๆๆ” ด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะฉุดกระชากขี้นบนสมองของนักลงทุนเหล่านั้นได้ครับ