บทเรียนท่าเรือน้ำลึกเมืองมะละกา

29 ต.ค. 2566 | 22:00 น.

บทเรียนท่าเรือน้ำลึกเมืองมะละกา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีโอกาสไปนอนที่เมืองมะละกาหนึ่งคืน เพราะตอนแรกคิดว่าจะมีการพบปะเพื่อนฝูงที่นั่น เพราะเจ้าภาพที่ชวนไปเที่ยว เขาพูดถึงการลงทุนของเขาที่เมืองมะละกา คณะเรามีผู้สูงวัยอยู่สองท่านรวมทั้งผม .....แฮ่ เราเลยจองโรงแรมไว้ที่นั่นทั้งสองคืนเลย พอถึงวันเดินทาง เพื่อนที่นัดไว้บอกว่า ปกติเขาอาศัยอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์มากกว่าที่เมืองมะละกา เราเลยต้องยกเลิกโรงแรมที่เมืองมะละกาหนึ่งคืน หันกลับมาใช้บริการโรงแรมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แทน ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ประสานงาน คือตัวผมเองนั่นแหละ ที่ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับใจความผิดครับ

การไปครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับท่านสว.ท่านหนึ่ง(ขอสงวนนาม) ที่ท่านมีทั้งประสบการณ์ในด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างโชกโชน ท่านได้พาบุตรชาย-บุตรสาวทั้งสองท่านร่วมคณะไปเที่ยวด้วย ซึ่งในการจั่วหัวข้อเรื่องว่า “บทเรียนท่าเรือน้ำลึกเมืองมะละกา” ซึ่งผมต้องบอกว่า เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับชีวิตผมนะครับ ผมมิบังอาจไปวิจารณ์ท่าเรือน้ำลึกของประเทศอื่นเขาหรอก เพราะความรู้และบารมีผมไม่ถึงขนาดนั้น ก็ไปดูมาเพื่อสอนตัวเอง และนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆ และลูกหลานฟังเป็นบทเรียนนะพอได้อยู่ครับ 

ในกรุงกัวลาลัมเปอร์คงไม่จำเป็นต้องเล่านะครับว่า เขาเจริญไปมากน้อยแค่ไหน เพราะเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยไปมาบ้างแล้ว แต่ขอเล่าสั้นๆ ว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เขาได้ใช้เวลาในการปิดประเทศ มาพัฒนาบ้านเมืองของเขาเยอะมาก รถราบนท้องถนน ก็ติดขัดไม่แพ้กรุงเทพฯ ในยุคก่อสร้างทางด่วนเมื่อหลายสิบปีก่อนเลยครับ ออกไปทานข้าวที ต้องนั่งรถเป็นชั่วโมง ทั้งๆ ที่คนขับรถของเราเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ ที่ขับเร็วจนหัวใจคนแก่จะวาย ก็ยังไม่สามารถทำเวลาได้ครับ

มาที่เมืองมะละกา ที่เป็นเมืองท่าของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมืองนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งอยู่บนช่องแคบมะละกาทางฝั่งประเทศมาเลเซีย เป็นเมืองที่มีชายทะเลน้ำลึกที่สามารถสร้างเป็นท่าเรือได้ และเป็นตัวเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ในปีค.ศ.1406 ประเทศจีนในยุคสมัยของราชวงศ์ชิง ท่านนายพลเจิ้น เหอ ซึ่งเป็นแม่ทัพอยู่ที่มนฑลฟู่เจี้ยน(ฮกเกี้ยน)ได้ยกทัพเรือนำเอาชาวจีนบุกขึ้นบกที่ท่าเรือมะละกา จึงทำให้มีชาวฮกเกี้ยนอาศัยอยู่ที่เมืองมะละกามายาวนาน บ้านเรือนในแถบใจกลางเมือง จึงเป็นบ้านเรือนสไตล์จีน ตั้งอยู่เป็นตึกแถวสองชั้น เรียงรายกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ชาวฮกเกี้ยนกลุ่มนี้ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของจีนอย่างมั่นคง ลูกหลายชาวจีนที่ใช้ชีวิตมากว่า 5 Generation’s ยังคงสภาพความเป็นคนจีนไว้อย่างเหนียวแน่น และยังคงใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนและจีนกลางได้เป็นอย่างดี 

ใจกลางเมืองมะละกา ซึ่งได้มีการประกาศเป็นมรดกโลกไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 เมืองมะละกาได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ เนื่องจากบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนที่ไหน ทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งที่เมืองนี้ อาหารการกินสไตล์บาบ๋า-ย่าหยา(ตามคำเรียกขานแบบไทยๆ) ซึ่งยังคงมีให้เห็นและหารับประทานได้หลายร้าน

โดยในประเทศแถบมาเลเชีย สิงคโปร์ อินโดนีเชีย เขาเรียกลูกหลานชาวจีนว่า “กลุ่มปาปา-เหนียงเย่อ” (峇峇-娘惹) ซึ่งเขาจะเรียกสุภาพบุรุษว่า “ปาปา” ส่วนสุภาพสตรีจะเรียกว่า “เหนียงเย่อ” มีการแต่งกายผสมผสานระหว่างจีน-มาเลเซียเข้าด้วยกัน อาหารการกินก็มีกลิ่นอายของจีนผสมมาเลเซียเช่นกัน ในประเทศไทยเรา ก็มีลูกหลานชาวจีนกลุ่มนี้อยู่มาก โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต ตรัง และจังหวัดที่มีดินแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ก็มีเยอะเช่นเดียวกันครับ

มัวแต่เล่าเรื่องชาวบ้านเลยยังไม่ได้เล่าถึงท่าเรือน้ำลึกเสียที กลับมาๆๆ...นายกริช อย่าไปไกล ที่นี่เมื่อประมาณปีค.ศ.2014 ได้มีนักธุรกิจชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ได้มองเห็นศักยภาพของเมืองนี้ จึงได้หาพันธมิตรชาวมาเลเซียท้องถิ่น ร่วมลงทุนเพื่อสร้างโปรเจ็คใหญ่ขึ้นที่นี่ โดยจะสร้างเป็นอาณาจักรที่ชื่อว่า “Golden Gate” ภายในโปรเจ็คนี้ จะมีห้างสรรพสินค้าใหญ่ โรงแรม ศูนย์การท่องเที่ยวและท่าเรือน้ำลึก ซึ่งในความตั้งใจของเขา เขาจะเอาท่าเรือแห่งนี้มาแข่งขันกับท่าเรือที่สิงคโปร์เลยทีเดียว

ในช่วงที่เปิดตัวโครงการ ได้มีการโปรโมทอย่างยิ่งใหญ่มาก แต่ก็เจอปัญหาภายในระหว่างนักลงทุนชาวจีน รัฐบาลมาเลเซียในขณะนั้น จึงได้ระงับโครงการไปชั่วคราว ซึ่งทั้งโครงการได้ลงทุนการก่อสร้างไปแล้วเกือบยี่สิบเปอร์เซนต์ ทำให้ทุกอย่างต้องถูกแช่แข็งไปทันที ต่อมาได้มีการเจรจากับทางภาครัฐและเอกชน จนกระทั่งรัฐบาลได้อนุญาตให้ดำเนินการต่อได้ แต่ก็ต้องมาเจอกับสภาวะโรคระบาดโควิด-19 เข้าให้ อีกทั้งในจังหวะนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มเข้มงวดกับการนำเงินออกมาลงทุนในต่างประเทศ นักธุรกิจชาวจีนจึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จนกระทั่งเมื่อสาม-สี่เดือนที่ผ่านมา จึงได้เริ่มมีการปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งท่านสว.ก็ให้ความเห็นว่า โครงการนี้น่าจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากทีเดียว

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะไปลงทุนนะครับ เพราะผมไม่มีปัญญาหรอก คำตอบคือ “ไม่มีเงินครับ” เพียงแต่เห็นว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะได้มีโอกาสเดินทางไปกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ ท่านจะได้วิเคราะห์ปัญหาให้เราฟังได้ว่า เกิดจากเหตุผลกลใด? เพราะนี่เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญที่เราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหามาเอง มีคน(นักธุรกิจจีน)ใช้เงินซื้อหามาให้เราได้ศึกษาแล้ว จึงได้เดินทางไปดูครับ

สิ่งที่ได้ไปเห็นมา สอนให้เรารู้ว่า การทำธุรกิจฯที่ใหญ่ๆ ใช้เงินใช้ทองเยอะมาก ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ความเสี่ยงของความหายนะย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้น อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึง หรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง ย่อมมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ดังนั้นอย่าได้มองข้ามครับ คำจีนโบราณสอนไว้ว่า “ฟ้าลิขิต ย่อมเหนือกว่าความคิดของมนุษย์” 人算不如天算 ดังนั้นเราจึงมิอาจฝืนชะตาฟ้าลิขิตได้ครับ