ถอดบทเรียน.....วิกฤติการศึกษาของไต้หวัน

12 พ.ย. 2566 | 23:00 น.

ถอดบทเรียน.....วิกฤติการศึกษาของไต้หวัน คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ครั้งที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงการไปเยี่ยมเยือนหน่วยงานด้านการศึกษาของไต้หวัน ที่ในสายตาผมเองคิดว่า น่าจะเข้าขั้นวิกฤติแล้ว เพราะหากจับสัญญาณที่ทางการไต้หวัน ได้กระโดดลงมาส่งเสริมให้มีการมอบทุนการศึกษา ที่มีโปรโมชั่นกันขนานใหญ่ เพื่อดึงเอานักเรียน(ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น) นักศึกษา(กระทั่งถึงขั้นปริญญาเอก) เข้าไปศึกษาต่อที่ไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ผมได้เล่าถึงปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหามาแล้วเล็กน้อย ก็มีคนที่สนใจไม่น้อยที่ส่งคำถามมา บางท่านอยากให้ผมวิเคราะห์ถึงปัญหานี้ให้ลึกลงไปกว่านั้น วันนี้เลยต้องขออนุญาตใช้คอลัมน์นี้วิเคราะห์ให้ถึงกึ้นไปเลย ไม่แน่ใจว่าตอนเดียวจะจบได้ลงหรือเปล่า แต่ก็จะพยายามดูนะครับ

หากจะถามหาปฐมเหตุของปัญหาวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ในความคิดของผม ผมคิดว่าเกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ที่ขยายตัวเร็วมาก จนเกิดสภาวะที่ไม่สมดุลของรายรับและรายจ่ายภาคประชาชน ดังจะเห็นได้จากในยุคแรกของการเปลี่ยนถ่ายทางการเมือง เมื่อสิ้นยุคของประธานาธิบดีเจียง ไค เชค หลังจากที่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ.1975 อำนาจของพรรคก๊ก หมิน ตั๋ง ก็ได้ตกทอดสู่ทายาทผ่านการเลือกตั้ง บุตรชายของท่านคือประธานาธิบดีเจียง จิง กั๋วได้ขึ้นมาปกครองประเทศ

ในยุคนั้นได้มีการเร่งรัดให้ดำเนินโครงการสิบเมกะโปรเจค (十大建設) ซึ่งริเริ่มโดยท่านอดีตประธานาธิบดีเจียง ไค เชค อันประกอบด้วย 1. การสร้างทางด่วนเหนือจรดใต้ (ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นทางด่วนจงซาน) 2. ทางรถไฟวงแหวนรอบภาคเหนือ 3. ท่าเรือน้ำลึกเมืองไทจง 4. ท่าเรือน้ำลึกเขตซูอ้าว 5. สนามบินนานาชาติจงเจิ้น (ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสนามบินนานาชาติเถาแหยน) 6. รถไฟที่ใช้ไฟฟ้ามาทดแทนรถไฟดีเซล 7. โรงงานถลุงเหล็กกล้า (ปัจจุบันนี้ได้แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนไปแล้ว) 8. อู่ต่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ 9. โรงงานปิโตรเคมี และ10. โรงงานผลิตไฟฟ้าปรมาณู 

การพัฒนาดังกล่าวให้ส่งผลถึงสภาวะเศรษฐกิจของไต้หวัน ทำให้มีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นช่วงแรกที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นเสือตัวที่ 4 ของทวีปเอเชียขึ้นมาทันทีเช่นกัน หลังจากนั้นการพัฒนาของไต้หวัน ก็เริ่มเห็นภาพเด่นชัดมากขึ้นเป็นลำดับ มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเกษตรพื้นฐาน ด้านการเกษตรแปรรูป ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ด้านอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้าง และด้านอุตสาหกรรมไอที ในยุคนั้นไต้หวันเป็นดาวเด่นในเกือบทุกๆ ด้าน

ในส่วนของด้านการศึกษาเอง ก็มีการดึงดูดเอานักเรียน-นักศึกษาลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล เข้าไปเล่าเรียนศึกษาหาความรู้กันที่นั่นอย่างมากมาย มีการให้ทั้งทุนการศึกษาและสิทธิประโยชน์ด้านการเรียน เช่น นักเรียนท้องถิ่นคะแนนสอบผ่านถูกกำหนดให้ตัดผ่านที่ 60% แต่นักเรียนต่างชาติรวมทั้งกลุ่มนักเรียนชนชาติพันธุ์ (ที่มีทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมากับกองทัพ และกลุ่มชนชาติพันธุ์ท้องถิ่น) จะกำหนดให้ผ่านเกณฑ์ที่ 50% อีกทั้งการสอบเอนทรานซ์ ก็จะให้กลุ่มนักเรียนต่างชาติและกลุ่มชนชาติพันธุ์สอบแข่งขันกันเอง ไม่ได้สอบร่วมแข่งขันกับนักเรียนท้องถิ่น ในยุคนั้นเป็นช่วงจังหวะชีวิตของผม ที่ได้ไปเรียนอยู่ที่นั่นพอดีเลยครับ

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวมากขึ้น ค่าครองชีพก็เริ่มขยับตัวสูงขึ้น ตามมาด้วยค่าแรงขั้นต่ำก็เริ่มปรับตัวมากขึ้น ผมจำได้ว่าในช่วงปีค.ศ.1974 - 1976 ยุคนั้นผมเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เงินเดือนที่ผมได้รับจากการทำงาน อยู่ที่ประมาณเดือนละสอง-สามพันหยวนเท่านั้น ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับเงินบาท ในยุคนั้นเงินบาทไทยยังแข็งค่ากว่าเงินหยวนไต้หวันเกือบเท่าตัว

ในขณะที่ยุคนั้นการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มประชาชนทุกระดับ ที่ต้องการจะถีบตัวเองเพื่อหาความก้าวหน้าในชีวิต จึงทำให้การแข่งขันที่จะเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาได้รุนแรงมากขึ้น อีกทั้งสถานการศึกษาเช่นมหาวิทยาลัย ก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน ยังจำได้ว่าอัตราการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่ำมากๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบนรถเมล์ สวนสาธารณะ และห้องสมุด จึงคราคร่ำไปด้วยเด็กๆ นักเรียนมัธยมปลายที่มือต้องมีหนังสือถืออ่านกันเกือบทุกที่เลยครับ 

เมื่อการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนสูงมาก ในขณะที่การแข่งขันกันเข้าสู่ตำแหน่งงาน ก็เริ่มมีปัญหาเช่นกัน เพราะ Supply กับ Demand ของแรงงานไม่สมดุลกัน ค่าแรงก็พยายามดีดตัวขึ้นตามมา แต่ก็วิ่งตามไม่ทันการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ดี จึงทำให้เกิดปัญหาแรงงานที่เป็น Skill labor เริ่มที่จะหาช่องทางออกไปเรียนต่อยังต่างประเทศกัน

ในยุคแรกๆ ก็อาจจะเพียงคิดว่า ถ้าได้เรียนที่ต่างประเทศแล้ว หากกลับมาทำงานที่ในประเทศ ก็สามารถอัพเกรดค่าตัวของตนเองให้สูงขึ้นได้ แต่หลังจากที่ไปอยู่เล่าเรียนหนังสือยังประเทศที่เจริญแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดาและยุโรปบางประเทศ ทุกคนก็เริ่มมองเห็นช่องทางในการทำมาหากิน ที่มีโอกาสทั้งหน้าที่การงานและค่าตอบแทนที่ดีกว่า จึงทำให้เกิดสภาวะสมองไหลออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่ายๆ เลยครับ

หลายท่านคงอดสงสัยไม่ได้ว่า บทเรียนอันล้ำค่าของไต้หวัน น่าจะมีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศไทยเรา แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพและความสามารถระหว่างคนไทยกับคนไต้หวัน เราไม่มีทางที่จะเทียบเขาได้ ทั้งด้านความรู้และด้านภาษา เหตุผลเพราะภาษาที่เขาใช้อยู่ที่เป็นภาษาเรียน คือ “ภาษาจีนกลาง” ที่เป็นภาษาหลักสากลหนึ่งในสองภาษา ในขณะที่นักเรียนไทยเราเอง ผมในฐานะที่เคยเป็นครูบาอาจารย์สอนเด็กนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมา ก็พอจะทราบว่าเด็กของเราสัดส่วนของการใช้ภาษาอังกฤษยังด้อยกว่าเขามาก

หากจะเปรียบเทียบกับเด็กนักศึกษาในแถบอาเชียนเรา ก็ยังยากเลยครับ ยิ่งภาษาจีนด้วยแล้ว เราคงไม่สามารถเปรียบเทียบเขาได้เลยครับ ดังนั้นโอกาสที่เราจะเดินออกสู่ตลาดแรงงานในโลกใบนี้ จึงค่อนข้างจะมีอุปสรรคเยอะกว่าเขามากครับ แต่หากจะมองในแง่ของการสูญเสียทรัพยากรบุคคล ที่ประเทศชาติได้ลงทุนไปกับตัวเยาวชนของชาติ ก็ยังเป็นผลดีที่เราไม่ต้องสูญเสียไปครับ

วันนี้เราคงมาถอดบทเรียนของไต้หวันได้ไม่จบ เพราะหน้ากระดาษหมดเสียก่อน อาทิตย์หน้าเรามาต่อกันอีกครั้งนะครับ ผมจะวิเคราะห์การแก้ปัญหาของไต้หวัน ที่เขากำลังใช้บทเรียนเดิมๆ ที่เขาเคยใช้ได้ผลมาในอดีต กลับมาปัดฝุ่นนำมาใช้ใหม่ ว่าจะมีผลดีผลเสียอย่างไรให้พวกเราได้คิดตามดู โปรดติดตามตอนต่อไปครับ