ในการไปเยือนกรุงย่างกุ้งในช่วงวันที่ 24-27 เมษายนที่ผ่านมา สถานที่หนึ่ง ที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้จัดให้มีการแวะเวียนไปร่วมประชุมเสนอข้อคิดเห็น สำหรับส่วนตัวผมสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ “การท่าเรือเมียนมา” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงย่างกุ้ง เพราะตั้งแต่ผมเข้าไปอยู่ในประเทศเมียนมานานกว่าสามสิบปี ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปภายในท่าเรือเลย ได้แต่ขับรถผ่านไปมา และมองเห็นผ่านรั้วของการท่าเรือเท่านั้น ข้างในเสมือนเป็นแดนสนธยามากๆ จึงอยากรู้อยากเห็นเป็นอย่างยิ่ง ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผมเป็นอย่างยิ่งครับ
ที่ทำการของการท่าเรือเมียนมา สังกัดกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร ตั้งอยู่บนถนน Strand Rd เรียบชายฝั่งแม่น้ำย่างกุ้ง ฝั่งตรงข้ามเป็นท่าเรือย่างกุ้ง อาคารใกล้กันในอดีตเป็นที่ทำการของกรมศุลกากร อาคารไปรษณีย์และการสื่อสาร ที่เด่นที่สุดของถนนสายนี้ ก็มีโรงแรมระดับหกดาวของประเทศเมียนมาตั้งอยู่ นั่นคือโรงแรม Strand Hotel ซึ่งในยุคก่อนปี 2010 ที่นี่จะเป็นที่สำหรับต้อนรับอาคันตุกะสำคัญของประเทศเมียนมา คนสำคัญที่เคยมาพักที่นี่ก็มี ท่านประธานาธิบดีบารัก ฮูเซน โอบามา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ฮิลลารี คลินตัน, ไมเคิล แจ็คสัน เป็นต้น ตัวผมไม่เคยไปนอนหรอกครับ ได้แต่ไปนั่งดื่มกาแฟที่นั่นก็หรูมากแล้ว เพราะค่าที่พักแพงหูฉี่เลยครับ
การไปเยี่ยมเยือนครั้งนี้ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย เพราะช่วงก่อนเดินทาง ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างกองกำลังกระเหรี่ยงหลายฝ่าย กับทหารรัฐบาลอยู่พอดี ทำให้สะพานมิตรภาพแห่งที่สองระหว่างไทย-เมียนมา ที่เมียวดี-แม่สอดได้ถูกปิดลง เราเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เมื่อไหร่จะสงบและสามารถเปิดใช้สะพานได้ใหม่อีกครั้ง ผมจึงไปเจรจากับทางท่านผู้ว่าการท่าเรือเมียนมา ท่าน U Ni Aung ซึ่งท่านก็ให้การต้อนรับคณะนักธุรกิจไทยอย่างอบอุ่น และให้ความสำคัญในการที่จะช่วยกันผลักดันให้ท่าเรือในการดูแลของท่าน ให้ความสะดวกต่อการใช้บริการเป็นอย่างยิ่งครับ
ท่าเรือย่างกุ้งมีทั้งที่เป็นของรัฐบาลและท่าเรือของเอกชน ที่ทางการให้เอกชนโดยบริษัทเอเชียเวิล์ด เข้ามาบริหารจัดการ ด้วยการให้พื้นที่ๆ อยู่ตอนปลายของท่าเรือ คือส่วนที่เลยจากสะพานใหม่ที่จะข้ามไปสู่เขตด่าล้าไปอีกเกือบกิโลเมตร ในวันนั้นทางการท่าเรือก็ได้พาคณะเราเข้าไปเยี่ยมชมอย่างใกล้ชิดด้วย เขาพาคณะลงไปดูในพื้นที่ท่าเรือที่กำลังโหลดสินค้า หลายคนเริ่มเร่งรีบถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันใหญ่ เสียดายที่เวลามีน้อยมาก อีกทั้งแดดร้อนมากจริงๆ จึงได้เห็นกันไม่มากนัก พวกเราก็ต้องรีบขึ้นรถไปที่สำนักงานของเขา เพื่อฟังคำบรรยายจากภาพวีดีโอเท่านั้น แต่ก็ได้ทราบถึงรายละเอียดที่ตัวผมเอง แม้จะทำธุรกิจอยู่ที่นั่นมานาน ก็ไม่ได้มีโอกาสเช่นนี้เลยครับ
การท่าเรือเมียนมา ในอดีตกรุงย่างกุ้งมีเพียงท่าเรือแห่งนี้ที่เดียว ซึ่งในยุคนั้นท่าเรือค่อนข้างจะแออัดมาก ทุกวันเราจะเห็นพวก “ป่วยซา” หรือพวกนายหน้า มานั่งรอเรือเข้าที่หน้ากรมศุลกากรเต็มไปหมด เพื่อรอเดินพิธีการ บางส่วนก็รอพวกคนเรือ นำเอารูปภาพสินค้าที่อยู่บนเรือ ลงมาให้พวกป่วยซาเอามาต่อรองราคาซื้อ-ขายกันอย่างสนุกสนาน
ส่วนใหญ่สินค้าที่นิยมกันมากที่สุดในยุคนั้น ก็คือ “รถยนต์มือสอง” ที่นำเข้ามาทางเรือจากประเทศญี่ปุ่น เพราะในยุคนั้นการนำเข้ารถยนต์ยากมาก ใบอนุญาตนำเข้ามีน้อย แต่คนต้องการซื้อเยอะ ทำให้ไม่ต้องรอเห็นสภาพรถจริง ก็สามารถขายได้แล้ว เรียกว่า “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย”กันเลยทีเดียว รถยนต์คันแรกของผม ก็มาซื้อจากที่นี่แหละครับ
ต่อมาเข้าสู่ยุคปี 2000 ทางการจีนก็ได้เข้ามาช่วยเหลือการก่อสร้างท่าเรือเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง คือท่าเรือที่ออกจากกรุงย่างกุ้งไกลมาก อยู่ในเขตตะยิ่น (Thanlyin) ถนนที่จะไปก็สภาพย่ำแย่มาก เป็นถนนลูกรังสองเลน ในยุคนั้นต้องขับรถนานเกือบสองชั่วโมงเลยครับ นั่นคือ “ท่าเรือติลาว่า” แต่ปัจจุบันนี้ถนนหนทางได้ทำเสร็จหมดแล้ว ถนนได้กลายเป็นถนนสี่เลน ใครที่เคยไปเที่ยวที่เจดีย์วัดกลางน้ำเจ้าตาน Kyanuktan หรือที่คนไทยขนานนามว่า “วัดสิเรียม” ก็คงจะนึกภาพออกนะครับ ท่าเรือติลาว่าอยู่ระหว่างครึ่งทางของเจดีย์วัดกลางน้ำเจ้าตานกับตัวเมืองย่างกุ้ง จะมีทางแยกตรงวัดใจ๋เค่าพะยา (Kyaik Khauk Pagoda) เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณสี่-ห้ากิโลเมตร ก็จะถึงท่าเรือติลาว่าครับ
ในอดีตที่ดินแถบนั้นด้านซ้ายจะเป็นท้องนา ด้านขวาติดแม่น้ำย่างกุ้ง เลยท่าเรือติลาว่าไปทางใต้อีกสี่-ห้ากิโลเมตร ก็จะเป็นปากน้ำที่แม่น้ำไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะ (ปัจจุบันนี้เรียกว่าอ่าวย่างกุ้ง) ที่นี่จะมีมหาวิทยาลัยมารีนทร์าม ที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาในยุคปี 1988 นักศึกษาได้ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ทำให้ทางการออกมาปราบปรามเสร็จสิ้นลง ก็ได้เริ่มแยกมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ออกเป็นหลากหลายมหาวิทยาลัย ที่ปากทางเข้าท่าเรือติลาว่าตอนปลาย ก็จึงได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ย่างกุ้งเกิดขึ้นที่นี่ เมื่อท่าเรือเริ่มมีการก่อสร้าง ทางการก็เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนที่เขตอุตสาหกรรมมากขึ้น
ในยุคเริ่มเปิดใหม่ๆ ไฟฟ้าก็ยังไปไม่ถึง ถนนก็ไม่ดี น้ำก็ต้องเจาะน้ำบาดาลกันเอง เพื่อนๆ ชาวเมียนมาของผมหลายคน ก็เข้ามาลงทุนซื้อที่ดินทิ้งไว้กัน เขาก็ชวนผมมาซื้อกับเขาด้วย แต่ผมตาไม่ถึงใจไม่ถึง เพราะคิดแต่เพียงว่า ราคาแพงขนาดนั้น ผมซื้อที่เมืองไทยไม่ดีกว่าหรือ เพราะที่ไทยเราสาธารณูปโภคมีพร้อม ราคาก็พอๆกัน อีกอย่างก็คิดแต่เพียงว่า สักวันเราก็ต้องกลับมาตายที่บ้านเรา ผมจึงไม่ได้ซื้อเลยสักแปลงเดียว ซึ่งต่อมาเข้าสู่ยุคปี 2012 ราคาที่ดินที่นี่ราคากระโดดขึ้นไปกว่าเดิมมากถึงเจ็ดเท่าเลยครับ