ช่วงนี้มักจะมีเพื่อนๆ ถามผมว่า “สถานการณ์ในเมียนมาจะจบเมื่อไหร่?” และอีกคำถามยอดฮิตคือ “แล้วจะจบอย่างไร? ฝ่ายไหนจะชนะ?” ซึ่งผมก็ชอบตอบติดตลกไปว่า “ถ้าผมรู้ก่อนขนาดนั้น ผมก็คงรวยแล้ว” ปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องภายในของประเทศเมียนมาเขา เราในฐานะเพื่อนบ้านที่แสนดี เราไม่ควรเข้าไปยุ่งกิจการภายในของเขา แต่ก็ไม่วายที่มีคนอยากให้ผมวิเคราะห์ให้ฟัง เอาเป็นว่าผมจะพยายามพูดแบบกลางๆ ไม่ได้แบ่งพรรคแบ่งพวกนะครับ หวังว่าจะไม่กระทบความเข้าใจอันดีงานระหว่างประเทศ จนทำให้ผมลำบากและเดือดร้อนได้ก็แล้วกันนะครับ
การเมืองภายในประเทศของเมียนมา เป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและชาติพันธุ์ที่ยาวนานที่สุดในโลก ความขัดแย้งนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1948 หลังจากที่ประเทศเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ และยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน ด้วยการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงรัฐบาลกลางของเมียนมา ที่มีที่มาจากกองกำลังความมั่นคงแห่งชาติ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และกลุ่มผลประโยชน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ความขัดแย้งนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา
ที่สำคัญการเข้ามาแทรกแซงของชาติมหาอำนาจ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเมียนมากับประชาคมนานาชาติหลากหลายฝ่าย มีปัญหามากระทั่งข้ามศตวรรษเลยครับ ผมต้องบอกว่า บุคคลหรือประเทศที่สองที่อยากจะเข้ามาแก้ไขปัญหา คงจะยากที่จะประสบความสำเร็จได้ครับ
ปัญหาที่เกิดขึ้น มีมาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ปัญหาชนชาติพันธุ์ ที่มีอยู่หลากหลายเผ่าพันธุ์ในประเทศเมียนมา ปัญหาความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ ที่ประเทศเมียนมามีมากมาย จนเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มหาอำนาจทั้งในอดีตและปัจจุบัน แห่แหนแตนแต้กันเข้าไปมะรุมมะตุ้มในประเทศเมียนมา และปัญหาอำนาจทางการเมือง ที่อำนาจเข้าสู่มือของฝ่ายใดก็ตาม ย่อมสร้างการกระตุ้นต่อมให้เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนไม่ยอมมองเห็นผลประโยชน์ของชาติและประชาชน นี่เพียงไม่กี่ปัจจัย ที่ประชาชนชาวเมียนมาจะต้องเป็นผู้แก้ไขเองเท่านั้น จึงจะสามารถนำพาเอาเรือลำน้อยนี้ ฝ่าคลื่นฝ่าพายุในท้องทะเลไปได้ครับ
พูดถึงชนชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายในเมียนมา ที่มีมากเกินกว่าหนึ่งร้อยเผ่าพันธุ์ และจะมีอยู่ยี่สิบกว่าเผ่าพันธุ์ที่มีกองกำลังและอาวุธอยู่ในมือ ตั้งแต่ปี 1948 หลังการส่งมอบเอกราชให้แก่ชาวเมียนมาแบบมีเงื่อนไขของชาติอังกฤษ จนทำให้เกิดปัญหาหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเหล่าชนชาติพันธุ์นี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทำให้เขาเหล่านั้นมีความหวังที่จะปกครองตนเอง ในเขตพื้นที่อิทธิพลของตนเอง ซึ่งแต่ละกลุ่มชนชาติพันธุ์ล้วนมีภาษา วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างกัน
ความหลากหลายนี้กลายเป็นปัญหาอย่างใหญ่หลวง ที่รัฐบาลส่วนกลางที่นำโดยกลุ่มชาติพันธุ์พม่า(ชนชาติพันธุ์หลักที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ) จะใช้ความพยายามรวมประเทศและควบคุมพื้นที่ต่างๆ อย่างสันติมาช้านาน ในขณะที่ฝ่ายชนชาติพันธุ์ก็ไม่ค่อยให้การยอมรับ อาจจะเป็นเพราะชนชาติพันธุ์บางกลุ่ม รู้สึกว่าเขายังไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และเขาเองยังมีความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติกำเนิดของเขา มากกว่าประเทศชาติเมียนมา จึงเกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลในปัจจุบันนั่นเองครับ
ในส่วนปัญหาความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศเมียนมาก็เสมือนดอกไม้ที่มีความสวยงาม และมีเกษรดอกไม้ที่หอมหวลขจรกระจาย ทำให้เหล่าหมู่มวลภมรเข้ามาดอมดมนั้นแหละครับ เพราะต้องพูดว่าประเทศเมียนมาที่มีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคสุวรรณภูมิ และได้มีรอยเลื่อนของเปลือกโลก ถึงสองเส้นตัดผ่านประเทศเป็นเส้นกากบาท ซึ่งจุดศูนย์กลางของกากบาทนั้น ตั้งอยู่ตรงใจกลางประเทศเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า “ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคพื้นนี้”
เราต่างก็รู้กันหมดว่า ประเทศเมียนมามีทั้งแร่ธาตุที่เป็นทั้งอัญมณีสำคัญๆ หลากหลายชนิด น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และป่าไม้ ที่ยังรอการเปิดหน้าสู่ตลาดโลก เมื่อพวกเรารู้แล้วทำไมประเทศฝรั่งมังค่าจะไม่รู้ละ? นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศเมียนมาถูกจับตามองอย่างไม่กระพริบตาเลยทีเดียวครับ
ด้านปัญหาอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่ประเทศเมียนมาได้รับเอกราชในปี 1948 เป็นต้นมา การเมืองของประเทศก็จะมีกลุ่มนายทหารในกองทัพ เข้ามาปกครองประเทศมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามายึดอำนาจในปี 1962 ซึ่งการปกครองโดยทหาร ได้มีการปรับเปลี่ยนกันระหว่างทหารที่ครองอำนาจ กับกลุ่มที่เข้ามาทำการปฎิวัติรัฐประหารในยุคนั้น อีกทั้งมีการประท้วงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทำให้มีการปราบปราม หรือต่อมาในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากมีการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาในปี 1988 จนทำให้กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงในการควบคุม ประชาชนได้รับบาดเจ็บล้มตายไปไม่น้อย ซึ่งพวกเราชาวไทยเองคงจำกันได้ เพราะในยุคนั้นมีผู้อพยพเข้ามาสู่ค่ายอพยพหลายสิบค่าย ซึ่งก็ได้มีการส่งผู้อพยพบางรายเหล่านั้น ไปยังประเทศที่สามในเวลาต่อมา หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคนี้ เราก็ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารกันมาโดยตลอด ต้องยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารที่บางข่าวก็เป็นข่าวลวง แต่บางข่าวก็เป็นข่าวจริง ตามบริบทของยุคสมัยนี้
ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า การที่ประเทศไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวที่เป็นรูปธรรม แม้ประเทศเมียนมาเองในอดีตจะมีองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกชาติตะวันตกควบคุมตัว และส่งไปอาศัยอยู่ยังประเทศอินเดีย จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในที่สุด ทำให้พี่น้องชาวเมียนมาทั้งประเทศ ขาดหายไปซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยว ผู้ที่เข้ามามีอำนาจสูงสุด ถ้าหากเป็นผู้ที่มีธรรมาภิบาลที่ดี หรือสามารถสร้างความสามัคคีภายในประเทศอย่างสันติวิธีได้ ประเทศก็จะเจริญรุ่งเรืองเดินหน้าต่อไปครับ
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ตัวผมเองก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่า ปัญหาของประเทศเมียนมาเมื่อไหร่จะจบลง? อีกทั้งไม่สามารถจะทำนายได้ว่าแล้วปัญหาจะจบลงอย่างไร? ใครคือผู้ชนะ? แต่ถ้าหากทุกฝ่ายยังคงดึงดันจะเอาชนะคะคานกันต่อไป โดยไม่ยอมเจรจาสันติภาพกัน ที่แน่ๆผู้แพ้จะมีเพียงฝ่ายเดียว คือ “ประชาชน” ครับ