ปัญหาการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของเมียนมา

08 ก.ย. 2567 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 00:59 น.

ปัญหาการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวานนี้ ผมได้รับคำถามจากอาจารย์ขวัญ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ได้สอบถามผมมาเรื่องเส้นทางโลจิสติกส์ของการค้าชายแดน ในยุคของปัจจุบัน ที่มีความไม่สงบเกิดขึ้นภายในประเทศเมียนมา คำถามมีอยู่หลายข้อที่น่าสนใจมาก ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นที่สนใจของแฟนคลับที่อ่านคอลัมน์นี้อยู่ ผมจึงขออนุญาตนำมาลงในบทความ เพื่อแบ่งปันให้เพื่อนๆ แฟนคลับได้รับทราบด้วย ซึ่งท่านก็อนุญาตครับ 

สถานการณ์การค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดน จากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา อีกทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ได้แปรเปลี่ยนไป หลังจากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เกิดความไม่สงบจากที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร ค่อนข้างจะเยอะมาก ทำให้ด้านบนของประเทศเมียนมา มีแต่การก่อการที่นำไปสู่เหตุการณ์สู้รบกัน อีกทั้งการแทรกแซงจากชาติตะวันตก จึงส่งผลกระทบถึงการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจึงขอแยกแยะทีละประเด็นมาให้พวกเราได้เห็นภาพนะครับ

สถานการณ์การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ปัญหาเริ่มจากระบบโลจิสติกส์จากประเทศไทยไปยังเมียนมา ผ่านชายแดนในช่วงที่ผ่านๆ มา การขนส่งสินค้าของพ่อค้าชายแดน มักจะนิยมใช้ช่องทางด่านแม่สอด-เมียวดีเป็นช่องทางหลัก เหตุผลเพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ในการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดทางการค้าของประเทศเมียนมา นั่นคือ “ตลาดกรุงย่างกุ้ง” ที่ในอดีตกรุงย่างกุ้งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศเมียนมา ด้วยระยะทางเพียง 256.2 ไมล์หรือประมาณ410 กิโลเมตร ก็ถึงกรุงย่างกุ้งแล้ว อีกทั้งประเทศไทยเราได้ไปสร้างถนนช่วงระหว่างเมียวดี-เมืองเกาะกะเร็ก ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

ในปัจจุบันนี้น่าจะพออนุมานได้ว่า เป็นถนนที่ดีที่สุดของประเทศก็ว่าได้ เพราะเป็นถนนคอนกรีตสี่เลน ที่สามารถเดินทางได้เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งในอดีตเป็นถนนที่ใช้ในการเดินทางยากลำบากมาก เพราะเป็นถนนเลนเดียวบนไหล่เขา และเปิดให้รถยนต์วิ่งได้ในลักษณะวันคู่ขาไป-วันคี่ขากลับ อีกทั้งต้องใช้เวลาเดินทางค่อนข้างมาก

ต่อมาตั้งแต่มีความไม่สงบเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การเดินทางค่อนข้างจะมีความเสี่ยงสูง จากความเสียหายของการสู้รบ อีกทั้งในเดือนมิถุนายน ได้มีการวางระเบิดจากกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่สะพาน บนถนนที่เมืองบิรินถึงสองครั้ง ในเวลาห่างกันไม่นาน ทำให้การขนส่งสินค้าจึงยากลำบากมากขึ้น พ่อค้าชายแดนจึงได้หาช่องทางการขนส่งสินค้า ผ่านไปทางที่ปลอดภัยมากกว่าเส้นทางเดิม เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม   

ช่วงแรกๆ พ่อค้าชายแดนส่วนใหญ่ จะใช้ช่องทางใกล้ๆ กับด่านแม่สอด-เมียวดี แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงลงได้ไม่มาก จึงมีการโยกย้ายมาใช้ช่องทางด่านสังขละบุรี-พระยาตองซู (ด่านเจดีย์สามองค์) หรือด่านบ้านพุน้ำร้อน-ทีกิ เป็นช่องทางเลือก อีกทั้งบางชนิดสินค้าที่มีใบอนุญาตนำเข้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมียนมา ก็จะหันมาใช้ด่านระนอง-เกาะสอง ที่มีเรือบรรทุกขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ บางส่วนก็หันไปใช้ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก

แต่ด่านดังกล่าวมีระยะทางขนส่งที่ไกลกว่าด่านอื่นๆ จึงไม่ค่อยจะมีการใช้มากนัก อย่างไรก็ตามก็ยังคงสามารถทำได้ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของด่านนี้ ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะ เพียงแต่สามารถทำได้ตามปกติเท่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าการค้าชายแดน คงต้องกลับไปใช้ในด่านแม่สอด-เมียวดีเหมือนเช่นเดิมเป็นหลัก

ด้านสินค้าผ่านแดนขานำเข้า ที่เป็นการนำเอาสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านแดนเข้าสู่ประเทศเมียนมา ส่งเข้ามาประเทศไทย ส่วนใหญ่ที่ผ่านๆ มามีน้อยมาก เพราะสินค้าจีนที่ผ่านมาทางด้านนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักผลไม้ ที่มักจะส่งมาทางเรือโดยใช้เส้นทางแม่น้ำโขง เข้าสู่ด่านเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีความรวดเร็วและสะดวกมากกว่าการผ่านมาทางประเทศเมียนมา แต่ในอดีตเราจะเห็นมีสินค้าบางชนิดที่สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานานโดยไม่เน่าไม่เสีย เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ่านมาทางรถยนต์ เข้าสู่ประเทศไทยโดยผ่านแดนมาทางด่านท่าขี้เหล็ก-แม่สาย

ส่วนสินค้าผ่านแดนจากเมียนมา เข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่จะส่งตรงจากเมียนมา ผ่านด่านชายแดนเมียนมา-จีน ที่มีช่องทางด่านชายแดนอยู่หลายสิบด่าน ด่านสำคัญๆ ที่ใช้ในเส้นทางการค้า ก็มีด่านมู่เจ-หยุ้ยลี่ ด่านเมืองลา-ต่าหล่อ ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้วิธีการผ่านแดนมาที่ไทย แล้วค่อยส่งผ่านไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนครับ

ด้านขาส่งออก ก่อนหน้านี้พ่อค้าชายแดนไทยที่ส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ผ่านประเทศเมียนมา ไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม และน้ำมันพืชที่ใช้บริโภค โดยส่งผ่านด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และเข้าสู่ประเทศจีนทางช่องทางด่านเมืองลา-เมืองต่าล่อ  และด่านหลักกิโลเมตรที่ 420 เพื่อเข้าสู่เมืองต้าหมงหลง แต่ก็ยังมีช่องทางทางเรือโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางการขนส่ง โดยใช้ด่านอำเภอเชียงแสน ส่งตรงไปยังด่านกวนหลุ้ย เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา

ในขณะที่การขนส่งเข้าสู่ประเทศเมียนมาผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ จะเป็นทางเลือกของพ่อค้าชายแดนจีน-เมียนมา ในกรณีที่มีปัญหาด้านศุลกากรขาเข้าของประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่ในขณะนี้ภายในประเทศเมียนมา ได้มีความไม่สงบเกิดขึ้นทางรัฐฉาน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่รัฐฉานตอนบน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ส่วนรัฐฉานตอนล่างสถานการณ์ยังไม่รุนแรงเหมือนรัฐฉานตอนบน ดังนั้นการขนส่งสินค้าผ่านแดน ยังคงสามารถทำการขนส่งได้ตามฤดูกาลอยู่  แต่ถ้าหากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าก็ยังคงมีความเป็นไปได้ คงต้องหันกลับมามองช่องทางอื่นๆเป็นทางเลือกต่อไป  

ด้านการนำเข้าสินค้าจากประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรพื้นฐาน หรือสินค้าการเกษตรที่ไม่ได้มีการแปรรูปเป็นหลัก อันได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง พริกแห้ง ฯลฯ ส่วนใหญ่จะนำเข้าทางด่านแม่สอด-เมียวดี แต่หลังจากที่เกิดความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศเมียนมา การขนส่งดังกล่าวจึงไม่สามารถกระทำได้อย่างคล่องตัวเหมือนเดิม ก็ได้มีการหาช่องทางอื่นเป็นทางเลือก เช่นการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เข้าสู่ท่าเรือจังหวัดระนอง

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าขนส่งทางเรือยังคงมีอัตราที่แพงมาก ไม่สมเหตุสมผลต่อการใช้บริการ เชื่อว่าหากมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด คงต้องให้รัฐบาลมาช่วยชดเชยค่าขนส่ง เพื่อทำให้สามารถทำการส่งออกสินค้าให้ได้ต่อไปครับ