KEY
POINTS
เนื่องมาจากอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากที่ผมลงพื้นที่จังหวัดระนองกลับมา คล้อยหลังเพียงวันเดียว ก็มีข่าวว่ากลุ่มกองกำลังว้าหรือ UWSA (佤邦聯合軍) ที่ปักหลักอยู่ใกล้ชายแดนไทย ได้เกิดมีการรุกล้ำพรมแดนไทยเข้ามา อีกทั้งข่าวเรือประมงไทยก็ถูกเรือประจำการของเมียนมา ยิงถล่มอย่างที่เป็นข่าวดังในขณะนี้ ทำให้คิดต่อไปว่า ทำไม? ทำไม? ทำไม? สันติภาพในเมียนมาจึงเกิดขึ้นได้ยากเย็นเสียเหลือเกินครับ
ต้องยอมรับว่าประเทศเมียนมา มีประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความท้าทายในการรักษาความสงบสุข ทั้งในระดับภายในประเทศและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาประสบปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายใน ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐบาลเงา (NUG) กลุ่มผู้ต่อต้าน PDF และกลุ่มกองกำลังชนชาติพันธุ์ ที่ต้องการความเป็นอิสระและการคิดต่างทางการเมือง รวมไปถึงการเผชิญหน้ากันในปัญหาชายแดน ที่มีความตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย จีน และอินเดีย
ซึ่งแม้จะไม่ค่อยชัดเจนมากนักก็ตาม แต่ถ้าคนที่สนใจติดตามข่าว ก็จะทราบได้บ้างครับ ดังนั้นในความคิดเห็นของผม สันติภาพในประเทศเมียนมาจะสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประเทศเมียนมาเองต้องมีความสงบภายในประเทศ และความสงบตามชายแดนของประเทศ และจะต้องได้รับการแก้ไขและเสริมสร้างไปในทิศทางที่มีความยั่งยืนเท่านั้นครับ
เรามาดูหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ทำให้ประเทศเมียนมาประสบกับความขัดแย้งภายในอย่างยาวนาน นั่นก็คือปัญหาชนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนของประเทศ ที่มีหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ฉาน(ซึ่งมีชนชาติพันธ์ไม่เฉพาะไทยใหญ่เท่านั้น ยังมีกลุ่มว้า กลุ่มปะโอ กลุ่มตะอ่าง ฯลฯ) คะฉิ่น ชิน อารากัน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีความต้องการที่จะได้รับการปกครองตนเอง และสิทธิที่เท่าเทียมกับประชากรกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ อันเป็นที่มาของการแย่งชิงพื้นที่อำนาจกันเอง และทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ จนสืบเนื่องมาจนถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชาติพันธุ์กับรัฐบาลกลาง กระทั่งก่อเกิดการก่อการร้าย การต่อสู้ในพื้นที่ชายแดน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการอพยพของประชาชนที่หนีภัยสงคราม ดังนั้นสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการเจรจากันบนโต๊ะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือกลุ่ม Steak Holder ทั้งหลายนั่นเองครับ
อีกหนึ่งปัญหาเท่าที่มองเห็น ซึ่งเราชาวต่างชาติในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด แม้จะไม่สามารถก้าวก่ายเขาได้ แต่ก็พอจะทราบได้ว่า น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหานั่นคือปัญหาทางด้านการเมือง อันต่อเนื่องไปจนถึงรัฐธรรมนูญของประเทศเมียนมา ที่จะต้องมีการปรับปรุง ให้สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยให้มากที่สุดให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างสันติภาพในประเทศเมียนมาให้ยั่งยืน
ส่วนรายละเอียดคงไม่ต้องอธิบายมาก เพื่อไม่ให้เป็นการไปก้าวล่วงเขามากจนเกินไป ผมขอแตะนิดๆ แค่ต้องมีการแก้ไขด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เกิดการยอมรับในสิทธิที่เท่าเทียม และการแบ่งปันอำนาจอย่างยุติธรรม ก็น่าจะเพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่ายหันมาจับมือกันได้ครับ
อีกเรื่องคือปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษา และการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ชาวเมืองกับชาวชนบทมีความแตกต่างกันมาก จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นการส่งเสริมความเข้าใจ และความเห็นใจระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในสังคม ก็จะช่วยให้สันติภาพยั่งยืนในระยะยาวด้วยเช่นกันครับ
ในขณะที่ปัญหาภายในเมียนมาที่กล่าวมาข้างต้น อีกปัญหาหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ และมีความสำคัญมากๆ นั่นคือปัญหาการกระทบกระทั่งกันกับเพื่อนบ้าน ประเทศเมียนมาต้องไม่ลืมว่า วันนี้ประเทศเมียนมากำลังอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก จากการแทรกแซงของชาติตะวันตก ที่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัญหาการค้า-การลงทุน ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อันนำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหลายๆประเทศที่อยู่ห่างไกลจากประเทศเมียนมา ต่างหลบลี้หนีหน้ากันไปหมด จะมีเพียงประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทยเท่านั้น ที่ยังคงตรึงสถานภาพของความเป็นมิตรประเทศไว้อย่างมั่นคง
ดังนั้นประเทศเมียนมาจึงมีความจำเป็นต้องดูแลความสัมพันธ์อันดีงามนี้ไว้ ถ้าหากมีชนชาติพันธ์ที่ต้องการสร้างความปั่นป่วนให้แก่ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ รัฐบาลเมียนมาคงต้องรีบออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ด้วยการเจรจาให้ทุกฝ่าย อย่าได้ก้าวล่วงกัน หรือหากจะว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ก็จะต้องกระตือรืนร้นในการแก้ไขปัญหา อย่าให้รุกลามไปมากกว่านี้นั่นเองครับ ในขณะเดียวกัน ข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคงทั้งหมด ก็จะต้องพยายามอดกลั้นอดทน อย่าได้ใช้อาวุธในการแก้ไขปัญหา เพราะนั่นอาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นได้นั่นเองครับ
ส่วนการที่รัฐบาลเมียนมาจะต้องเสริมสร้างความมั่นคงในประเทศ เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถที่จะให้ความคิดเห็นในลักษณะก้าวล่วงได้ แต่ถ้าจะอนุญาตให้เราคิดและมองด้วยความเป็นกลาง ผมก็เชื่อว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมุ่งเน้นแต่ความมั่นคงทางการทหารอย่างเดียว ผมคิดว่าทุกฝ่ายควรจะต้องร่วมมือกัน และต้องเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการศึกษา และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อให้ประเทศเมียนมาสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ สันติภาพจึงจะเกิดอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับภายในประเทศ และการจัดการกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเขตชายแดน เพราะการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศเมียนมา สามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความสงบสุขครับ