การแพทย์ยุคใหม่ Precision Medicine (3)

30 พ.ย. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2567 | 03:08 น.

การแพทย์ยุคใหม่ Precision Medicine (3) คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • การแพทย์เฉพาะบุคคลจะปรับแต่งการรักษาทางการแพทย์ตามองค์ประกอบทางพันธุกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาโรคต่างๆ ตัวอย่างเช่น การรักษามะเร็งสามารถปรับแต่งได้โดยการวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดและลดผลข้างเคียง

  • เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI จีโนมิกส์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ กำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลการวินิจฉัยจำนวนมหาศาล ในขณะที่การจัดลำดับพันธุกรรมช่วยระบุสาเหตุของโรค ส่งผลให้วินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้นและวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลได้

เมื่อครั้งที่ผ่านมาผมเล่าถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการแพทย์แบบแม่นยำของไต้หวัน หลายท่านอาจจะมีความสงสัยว่า “ขนาดนั้นเลยเหรอ?” หรือบางท่านอาจจะมองว่า แล้วมันจะเป็นอย่างไรละ? หรือถ้ารู้ตัวว่าในร่างกายของตนเอง มีโรคภัยไข้เจ็บแฝงตัวอยู่ เราควรจะทำอย่างไรต่อไปละ? หากเรารู้ตัวว่าเราเป็นโรคนั้นโรคนี้แล้ว เราจะจิตตกหรือวิตกจริตไปมั้ย? หรือแล้วมันจะช่วยอะไรเราได้ละ? หลากหลายคำถามก็มีตามมาเยอะแยะไปหมดเลยครับ

การใช้เทคโนโลยีเข้ามาในด้านการแพทย์ที่ไต้หวัน เท่าที่ผมได้ไปรับทราบมา ซึ่งมีหลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง เช่น การใช้ AI เข้ามามีส่วนช่วยให้มนุษย์เราทำงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะในอนาคตที่การประยุกต์ใช้ Precision Medicine ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ ที่มีการนำไปใช้ในการรักษาหลายโรคที่สำคัญ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท และโรคอื่นๆ โดยแพทย์ท่านสามารถใช้ในการปรับแนวทางการรักษา ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ เช่นการรักษามะเร็ง รักษาโดยการแพทย์แม่นยำหรือ Precision Medicine สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงลักษณะทางพันธุกรรม ที่ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถเติบโตและแพร่กระจายได้ อีกทั้งสามารถช่วยในการใช้ยาที่จำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง ตามลักษณะพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาทั่วไปได้อีกด้วยครับ

นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคหัวใจ ซึ่งการแพทย์แบบแม่นยำหรือPrecision Medicine ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ข้อมูลจากพันธุกรรม และวิถีชีวิตในการประเมินความเสี่ยงที่ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะพบความเสี่ยงจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การใช้ยา และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคหัวใจลุกลาม จนก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ไต้หวันเขาใช้ระบบเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาผสมผสานกันในการตรวจหาการเต้นของหัวใจ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งในทางเลือก จะเห็นได้ว่าการแพทย์แม่นยำ Precision Medicine ของปัจจุบัน สามารถนำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ จนทำให้การรักษา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถช่วยให้แพทย์ทำงานน้อยลงได้อย่างน่าเหลือเชื่อเลยทีเดียวครับ

นอกจากนี้แม้การรักษาโรคเบาหวานบางชนิด จะเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้โดยการปรับวิถีชีวิตและการใช้ยา แต่หากมีการตรวจวินิจฉัยของโรค ซึ่งผู้ป่วยแต่ละบุคคล อาจแตกต่างกันตามพันธุกรรม และการตอบสนองต่อการรักษา การศึกษาพันธุกรรมยังสามารถช่วยระบุผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวานดังกล่าว และช่วยในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมได้อย่างดี นี่คือผลพวงมาจากการแพทย์แม่นยำ Precision Medicine นั่นเองครับ

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การรักษาโรคทางระบบประสาท โรคอย่างพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ กำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในการใช้ Precision Medicine โดยการศึกษาพันธุกรรม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรค และการพัฒนาของโรคทางระบบประสาท ซึ่งอาจช่วยให้แพทย์สามารถพัฒนาแนวทางการรักษา ที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคตด้วยเช่นกันครับ

เทคโนโลยีที่ใช้ในแพทย์แม่นยำ Precision Medicine การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนา เทคโนโลยีที่สำคัญที่เกี่ยวข้องมีทั้ง การศึกษาพันธุกรรม (Genomics) การศึกษาลำดับของ DNA ช่วยให้สามารถระบุลักษณะทางพันธุกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของโรค โดยการใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรม (Next-Generation Sequencing หรือ NGS) ซึ่งช่วยในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของยีนและการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพันธุกรรม การตรวจสอบสุขภาพ และข้อมูลการใช้ชีวิตจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์และรูปแบบที่อาจช่วยในการรักษา ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและปรับการรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการรักษา AI สามารถช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากการตรวจวินิจฉัย เช่น ภาพถ่ายทางการแพทย์ หรือข้อมูลจากเครื่องมือวินิจฉัยอื่นๆ โดย AI สามารถช่วยประมวลผล และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หรือการใช้ 3D Printing นำมาใช้ในการแพทย์แม่นยำ Precision Medicine เพื่อสร้างอุปกรณ์การแพทย์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การผลิตอวัยวะเทียม ที่มีความแม่นยำสูงและสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วยเป็นต้น

ผมคิดว่าข้อดีของ Precision Medicine หรือการแพทย์แม่นยำ มีข้อดีหลายประการที่ทำให้เป็นที่น่าสนใจ ในวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับการรักษาให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น เนื่องจากสามารถเลือกใช้วิธีการรักษาที่ตรงกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังลดผลข้างเคียงในการใช้ยา หรือการรักษาที่เหมาะสมกับพันธุกรรมของผู้ป่วยจะช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาทั่วไป

บางท่านอาจจะถามว่า “แล้วค่าใช้จ่ายในการรักษาละ คงจะแพงมากๆเลยใช่มั้ย?” ต้องตอบว่า ที่ไต้หวันเนื่องจากรัฐบาลเขามีระบบประกันสุขภาพของบุคคลทั่วไป ที่เรียกว่า เหล่าเป่า “勞保” ซึ่งรัฐบาลเขามีส่วนช่วยเหลือประชาชนทั่วไป โดยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะโรคทั่วๆไป แต่ถ้าเป็นการใช้ในการรักษาหรือตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการแพทย์แม่นยหรือPrecision Medicine แม้จะไม่ใช่โรคทั่วไป แต่ รัฐบาลเขาก็จะช่วยจ่ายให้บางส่วน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนได้เป็นอย่างดีครับ ในระยะสั้นการลงทุนในเครื่องมือการแพทย์นั้น แม้ว่าจะมีมูลค่าที่สูงมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการรักษาที่จะต้องใช้งบประมาณในบั้นปลายของชีวิต ก็ยังคุ้มค่ามาก เพราะสามารถลดต้นทุนในการรักษา อีกทั้งการใช้ Precision Medicine สามารถลดการรักษาที่ไม่จำเป็น และการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ครับ

ผมมีความเชื่อว่าประเทศไทยเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การแพทย์แม่นยำหรือ Precision Medicine จะต้องมีเข้ามาอย่างแน่นอน คำถามที่ถามว่า เรามีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องรู้ก่อนที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาถึงตัว ต้องบอกว่า “รู้ก่อนก็สามารถป้องกันได้ก่อน” หรือถ้ารู้แล้วว่ามีโรคภัยในตัวเรา การรักษาแต่เนิ่นๆย่อมรักษาง่ายกว่าเป็นโรคเสียจนงอมพระรามแล้วแน่นอนครับ