การบริบาลผู้สูงวัยในบ้านพักคนวัยเกษียณ

14 ต.ค. 2566 | 00:04 น.

การบริบาลผู้สูงวัยในบ้านพักคนวัยเกษียณ คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงหลายวันมานี้ มีแขกผู้มีเกียรติหลายท่าน ได้มาเยี่ยมเยือนผม ส่วนใหญ่สนใจสถานบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” ของผม บางท่านก็สนใจอยากส่งผู้สูงวัยที่บ้านมาพักอาศัยอยู่กับเรา แต่ก็มีไม่น้อยที่สนใจอยากจะทำธุรกิจบริบาลดังกล่าวนี้ มีบางท่านที่มีที่ดิน แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร? บางท่านก็มีเงินที่อยากจะลงทุน เพราะเห็นว่าธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจดาวรุ่งอีกหนึ่งธุรกิจ 

บางท่านก็มีโรงแรมอยู่แล้ว อยากจะดัดแปลงมาทำธุรกิจนี้ จึงเข้ามาปรึกษาผมเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งผมเองก็ไม่รังเกียจที่จะต้อนรับด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง เพราะผมมีความเชื่อว่า ถ้าหากธุรกิจนี้มีผู้ประกอบการยิ่งเยอะเท่าใด นั่นหมายความถึงการยอมรับในธุรกิจนั้นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผมจึงให้ข้อมูลโดยไม่มีปิดบังหรือกั๊กๆ ไว้เลยครับ

มีอยู่ท่านหนึ่งที่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงสังคมชั้นสูง อีกทั้งคุณพ่อของท่าน ก็เป็นผู้นำระดับประเทศไทยท่านหนึ่ง ที่ผมเป็นปลื้มกับคุณพ่อของท่านมาก ท่านเชิญผมไปพบท่านที่ออฟฟิศของท่าน ท่านบอกผมว่า ท่านมีที่ดินสวยมากๆ อยู่แปลงหนึ่ง อยู่ที่ชายทะเลจังหวัดทางภาคตะวันออก ที่ดินของท่านมี 13 ไร่ ราคาที่ดินโดยประมาณอยู่ที่ไร่ละ 30 ล้านบวกๆ ท่านอยากให้ผมไปช่วยดำเนินการบ้านพักคนวัยเกษียณให้ท่าน 

ผมจึงเรียนท่านไปว่า ผมมิบังอาจจริงๆ เพราะที่ดินของท่านมีมูลค่าร่วม 400 กว่าล้านบาท หากนำมาดำเนินการธุรกิจนี้ ผมคิดว่าแค่ราคาของที่ดินที่เป็นต้นทุนคงที่ หาเงินอีกเป็นหลายสิบปีก็ไม่มีทางที่จะทำกำไรได้พอที่จะคืนทุนให้ท่านแล้ว 
 

นี่ยังไม่รวมถึงค่าก่อสร้างที่เป็นต้นทุนคงที่เช่นกัน ยังมีต้นทุนผันแปรที่จะต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผมก็เรียนท่านไปตรงๆ ว่า เป็นต้นทุนที่สูงมากๆ เพราะค่าจ้างแรงงานที่เป็นแพทย์ พยาบาล ผู้บริบาล นักกายภาพ นักโภชนาการ และผู้ปฏิบัติการทั้งหมด ที่ผมต้องมีครบ ก็ตกอยู่ที่จำนวน Ratio ที่ 1: 2.8 แล้ว นั่นหมายความว่าลูกค้าหนึ่งท่าน ผมต้องใช้พนักงานไม่ต่ำกว่า 2.8 คน 

ไหนจะค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ ที่ราคาไม่ต่ำเลย ผมจึงแนะนำท่านไปว่า หากท่านพอใจที่จะดำเนินธุรกิจนี้จริงๆ หรือท่านมีจิตเมตตาที่อยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านมีอย่างเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ท่านไม่ต้องลงทุนมากถึงขนาดนั้นหรอก ท่านขายที่ดินแปลงนั้นเสีย แล้วนำเงินเพียงแค่ 20% ของเงินที่ได้จากการขาย ไปหาซื้อที่ดินที่ราคาไม่ต้องแพงมาก มาก่อสร้างใหม่ ก็ยังสามารถทำได้อย่างสบายๆ เลยครับ 

ท่านฟังแล้วก็หัวเราะและบอกขอบคุณผม ตอนที่จะลาจากท่าน ท่านคงเห็นว่าผมกล่าวถึงคุณพ่อของท่านอย่างชื่นชมจากใจจริงๆ ท่านจึงกรุณามอบหนังสือชีวประวัติของคุณพ่อท่านมาให้ผมไว้เป็นที่ระลึกด้วยหนึ่งเล่ม บุตรชายของท่านที่มานั่งฟังผมด้วย ก็กรุณามอบหนังสืออันเป็นที่รักของเขามาด้วยหนึ่งเล่มเช่นกันครับ
          
ยังมีอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ทางด้านสาธารณสุข ก็มาคุยกับผมว่า อยากจะไปเยี่ยมชมกิจการ ซึ่งวันที่ท่านจะไปผมมีนัดอยู่อีกหนึ่งนัดพอดี ผมจึงให้น้องๆ ที่คัยโกเฮ้าส์เป็นผู้พาเยี่ยมชม พอได้ไปชมกิจการแล้วเสร็จ ท่านก็ขอที่จะเข้ามาพบผมที่ออฟฟิศต่อเลย ซึ่งผมก็ให้พบด้วยความยินดี วัตถุประสงค์ที่ท่านมาพบผม ท่านคงคิดว่าอยากจะทราบว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่? เพราะผมเชื่อว่าท่านเห็นแล้ว ท่านคงจะเดาออกว่าทำอย่างไรก็หากำไรได้ยากมาก อีกประการหนึ่ง ท่านก็อยากจะมารู้จักผม เพื่ออนาคตข้างหน้าอาจจะสามารถร่วมมือกันได้ก็เป็นไปได้ครับ 
      
ผมจึงเรียนถามไปว่า อาจารย์มีธุรกิจนี้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ? ท่านก็บอกว่า ใช่ เพียงแต่ของท่านรับแต่ผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น ซึ่งท่านยังคงสามารถหากำไรจากการให้บริการได้ แต่มาเห็นคัยโกเฮ้าส์ของผม ท่านก็ทึ่งมาก และอยากจะทราบว่าราคาที่ผมตั้งไว้ แม้จะสูงกว่าสถานรับฝากดูแลผู้สูงอายุทั่วๆ ไปมากถึงสามเท่า ผมทำได้อย่างไร? 

ผมก็จึงเรียนท่านไปว่า ผู้สูงอายุที่เกษียณอายุแล้วทุกท่าน ต้องแบ่งเกรดออกมาเป็น 4 เกรด คือกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เกษียณอายุที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างดี นั่นคือกลุ่ม Independent Living กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยบ้างแล้ว แต่ยังคงช่วยเหลือตัวเองได้ เพียงแต่ต้องการผู้บริบาลมาช่วยดูแลอยู่ห่างๆ กลุ่มนี้เรียกว่า Assisted living 

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีโรคภัยไข้เจ็บเริ่มที่จะรุนแรงแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีแพทย์ประจำ อีกทั้งต้องมีพยาบาลมาคอยดูแลเป็นพิเศษ เราเรียกกลุ่มนี้ว่า Long term care อีกทั้งเรายังต้องจำแนกกลุ่มนี้ออกมาเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยตามสภาพของผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีอาการทางสมองต่างๆ กลุ่มหลังนี้ทางประเทศญี่ปุ่น เขาแยกออกจากกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด 

โดยเขาจะนำไปไว้รวมกันในสถานบริบาลต่างหาก หรือที่เรียกว่า Group Home ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากชราภาพ หรือด้วยอุบัติเหตุ กลุ่มนี้เรียกว่ากลุ่ม Bedridden Senior 
       
ซึ่งต้องบอกว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศไทย มักจะเป็นกลุ่มสุดท้าย ที่ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม จึงถูกส่งไปให้สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า “บ้านพักคนชรา” (Nursing home) เป็นผู้ดูแล อีกทั้งในระบบบ้านพักคนชราดังกล่าว ส่วนใหญ่อัตราของคนชราต่อผู้บริบาลคือ 1 ต่อ 4 หมายความว่าผู้บริบาล 1 คน ต้องดูแลผู้สูงวัย 4 ท่าน ดังนั้นราคาจึงได้ย่อมเยาลงมามาก อีกทั้งต้นทุนก็ถูกลงมากด้วยเช่นกัน จึงสามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดีครับ
      
ในส่วนของคัยโกเฮ้าส์ เราพยายามรับผู้เกษียณอายุ ที่อยู่ในระบบเกรด 1-3 ซึ่งเราคาดหวังว่า เขาจะสามารถฟื้นคืนสภาพ ให้กลับมาเป็นปกติให้ได้ ดังนั้นเราจึงใช้บุคลากรที่ค่อนข้างจะมาก และจะต้องมีประสิทธิภาพจริงๆ ซึ่งผลงานของเราก็เป็นที่ยอมรับของญาติๆ ของเขาเป็นอย่างดีนั่นเองครับ จึงต้องบอกว่า สถานบ้านพักคัยโกเฮ้าส์ ไม่ใช่บ้านพักคนชรา เพราะของเราเป็น “บ้านพักคนวัยเกษียณ” ครับ