การรักษาด้วยวิธีครอบแก้วของแพทย์แผนจีน

02 ก.พ. 2567 | 21:59 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2567 | 23:09 น.

การรักษาด้วยวิธีครอบแก้วของแพทย์แผนจีน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีคำถามเข้ามาจากเพื่อนแฟนคลับว่า “วิธีการครอบแก้วของแพทย์แผนจีน ผมมีความคิดเห็นว่าอย่างไร?” ส่วนตัวผมคิดว่าก็เป็นวิธีที่ปราชญ์ชาวจีนได้สืบค้นพบวิธีการเช่นนี้มาเป็นพันปีแล้ว และชาวจีนเองก็ยังคงใช้วิธีการรักษาอยู่ ย่อมมีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่แน่นอน เพราะถ้าของเขาไม่ดีจริง คงอยู่ไม่ได้จนถึงป่านนี้นะครับ 

ส่วนวิธีการรักษานั้น ผมขออนุญาตนำเอาความคิดด้านวิทยาศาสตร์ มาเล่าสู่กันฟังเล็กๆ น้อยๆ นะครับ รายละเอียดอยากให้หาดูเอง ซึ่งหาได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันนี้โรงพยาบาลหลายๆแห่ง ก็มีการทำการรักษาอยู่ อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์กันบนอินเทอร์เน็ตเยอะแยะ คงไม่ต้องเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน หรือสอนหนังสือให้ขงจือนะครับ
         
ก่อนอื่นต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ผมเองก็เริ่มเคยเห็นวิธีการครอบแก้ว หรือที่เรียกว่า “ป๋ากว้าน Cupping therapy (拔罐)” มาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งที่ศูนย์อพยพชาวจีนฮ่ออำเภอเชียงของ และที่บนดอยแม่สะลอง หากใครมีอาการป่วยโรคต่างๆ ถ้าอาการแก้ด้วยวิธีกัวซาไม่หาย ก็ล้วนแล้วต้องเข้าสู่การรักษาด้วยวิธีดังกล่าว 

ซึ่งแรกๆ ที่เห็น ผมก็เพียงสนุกๆ เท่านั้น เพราะผมยังเด็กมากๆ แต่ปัจจุบันนี้เรามาเริ่มคิดว่า ...เอ่อเนาะ ที่กัมพูชา เมียนมา หรือที่เวียดนาม เขาก็มีการรักษาด้วยวิธีการป๋ากว้านหรือครอบแก้วกัน ย่อมมีความน่าสนใจที่จะศึกษาแน่ๆ ก็เลยเข้าไปหาดูในเว็บไซต์ต่างๆ ดู 

ซึ่งพอเข้าไปท่องในอินเทอร์เน็ตที่เป็นภาษาไทย ก็พบว่ามีเยอะมาก มีทั้งการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือได้ และในนิตยสารต่างๆ รวมถึงในโฆษณาประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลอย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็มีให้เห็นเยอะแยะเลย แต่พอเข้าไปดูในเว็บไซต์ภาษาจีน ก็ยิ่งมีให้เห็นเยอะกว่าเสียอีก เรียกว่าอ่านกันจนตาแฉะก็อ่านไม่หมดเลยครับ 

ซึ่งที่น่าอ่านก็มีของเว็บไซต์  https://shantou.gov.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทางการเมืองซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเขา ถ้าท่านอ่านภาษาจีนได้ ก็สามารถลองเข้าไปอ่านดูนะครับ 

ที่ผมเคยเห็นป๋ากว้านหรือครอบแก้วที่ประเทศกัมพูชา สมัยที่ผมเข้าไปทำมาหากินที่นั่น ก็จะมีหมอบ้านๆ เขาทำการรักษากันกลางตลาดเลยก็มี เขาก็จะมีตะกร้าใส่ขวดแก้วใบใหญ่ๆ ในนั้นจะมีอุปกรณ์ครบครัน รวมทั้งขวดใส่แอลกอฮอล์ และก้านเหล็กที่ปลายมีก้อนสำลีไว้จุดไฟ 

ซึ่งที่สำลีก็มีร่องรอยการจุดไฟใหม้จนมีสีดำๆ ให้เห็น ก็ดูเสมือน “ข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญนะ” ประมาณนั้น จากนั้นก็จะดำเนินการรักษา วิธีการเราๆ ท่านๆ คงเคยเห็นแล้วละ ไม่ต้องเล่าก็พอเดาได้นะครับ
     
ส่วนที่เวียดนาม ก็จะมีหมอรักษาเช่นกัน ผมเคยให้เขาช่วยทำการรักษาอาการปวดเมื่อยของคอ บ่า ไหล่ ให้ที่บ้าน ตอนที่ไปพักที่นั่น คุณนุชนารถภรรยาคุณมงคลหุ้นส่วนผม เป็นคนเรียกแม่หมอมารักษาให้ ซึ่งก็มาพร้อมกับอุปกรณ์เป็นตะกร้าใบใหญ่เหมือนกัน เขาก็ทำการรักษาด้วยการครอบ 

พอเริ่มต้นเขาจะทำการ “เดินแก้ว” ให้ ก็มีความรู้สึกว่าดีทีเดียวครับ เพียงแต่ร่องรอยของการถูกแก้วครอบ ที่ช้ำเลือดเป็นจ้ำๆ นั้น อยู่ติดนานเป็นอาทิตย์เลย พอผมกลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ ก็ไม่กล้าเปิดให้ภรรยาเห็น เพราะไม่อยากถูกซักถาม และเบื่อที่จะตอบคำถามครับ
       
การครอบแก้วในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคนิคการแพทย์แผนจีนโดยใช้ถ้วยแก้วหรือขวดแก้วเป็นเครื่องมือในการรักษา ซึ่งหมอจะทำการเผาไฟบนเหล็กที่มีสำลีอยู่ปลาย แล้วนำไปลนในถ้วยแก้วหรือขวดแก้ว เป็นการไล่อากาศในถ้วยแก้วออก ทำให้เกิดแรงดันลบ เพื่อดูดซับอากาศในถ้วยแก้วออกหมด 

จากนั้นก็จะวางแก้วไปที่จุดพื้นผิวหนังของร่างกายที่ต้องการรักษา เพื่อให้ภาวะเลือดในจุดที่ต้องการรักษาหยุดนิ่ง เป็นวิธีการบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและรักษาโรค การครอบแก้วสามารถแบ่งได้เป็น การครอบแก้วแบบแฟลช การครอบแก้วแบบเคลื่อนย้าย และการครอบแก้วแบบคงที่ไว้  แต่ละแบบมีความแตกต่างจากผลที่ได้รับไม่เท่ากัน หมอเขาจะดูตามอาการของผู้ป่วยว่าจะต้องรักษาแบบไหนที่จะได้ผลที่สุด
      
ในอดีตหมอจีนเขาจะใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นอุปกรณ์ในการครอบแก้ว เพราะในอดีตยังไม่มีการผลิตถ้วยแก้วจึงใช้ไม้ไผ่แทน จนกระทั่งวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้ จะมีการใช้กระบอกสุญญากาศ สูบไล่อากาศออกจากถ้วยแก้วที่ใช้ครอบ ไม่ต้องใช้ไฟเผาเหมือนในอดีต แต่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในการใช้กระบอกสุญญากาศครับ 

ข้อดีก็คือ มีความสะอาดไม่สกปรก สะดวกต่อการพกพา การทำการรักษาต้องการให้ดูดซับอากาศมากหรือน้อยได้ตามความต้องการของหมอ ส่วนข้อเสียก็คือไม่ได้มีความร้อนจากไฟ ซึ่งถ้าตามหลักหยินและหยางของแพทย์แผนจีน ก็ยังถือว่าไม่ครบถ้วน แต่ผมก็เห็นหมอจีนบางท่าน ก็ใช้โคมไฟฟ้าที่มีแสงสีแดงๆ ส่งไปที่จุดที่ทำการรักษา ทดแทนความร้อนจากไฟได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้ทั้งหมดหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ครับ
         
ในนิตยสาร People's Medical Publishing House ภาษาจีนฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2014 มีเนื้อหาบางตอนกล่าวว่า การรักษาด้วยวิธีการครอบแก้วเหมาะสำหรับอาการปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ เอวและขา อัมพาตที่เกิดจากความชื้นและอุณหภูมิที่หนาว เนื้อเยื่ออ่อนเคล็ดขัดยอก โรคหอบหืด อาการไอ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหวัด 

อีกทั้งยังสามารถใช้รักษาอาการปวด ชา และความผิดปกติของแขนขา นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการดูแลสุขภาพ และบรรเทาอาการเหนื่อยล้าของผู้สูงวัยได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องมีการรักษาและดูแลจากแพทย์แผนจีนที่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์อย่างเป็นทางการเท่านั้น อย่าได้ริอ่านทำเองโดยพลการเด็ดขาดนะครับ