มฤตยูจากโรคหัวใจ

10 พ.ค. 2567 | 23:45 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2567 | 23:49 น.

มฤตยูจากโรคหัวใจ คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อสองวันก่อน ได้รับทราบข่าวจากไลน์กลุ่มเพื่อนที่ส่งมาให้ ว่าเพื่อนรักผมคนหนึ่ง ได้จากไปอย่างกระทันหันด้วยโรคหัวใจ มีอาการหน้ามืดพลัดตกหกล้มในห้องน้ำ หน้าฟาดพื้นจนต้องเสียชีวิต เพื่อนคนนี้เป็นคนที่เรียบร้อยมากๆ เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงทุกคน เขายังเป็นเพื่อนเรียนกับผมตั้งแต่เรียนอยู่บนดอยแม่สะลองด้วยกัน ไปไต้หวันและญี่ปุ่นด้วยกัน อีกทั้งหลังจากกลับมาอยู่ในประเทศไทย เขาก็ยังเคยมาช่วยงานผมร่วมสิบกว่าปี แต่บัดนี้อยู่ๆก็หลับไปเฉยๆเลย จึงสร้างความตกใจให้แก่ญาติๆและเพื่อนฝูงมากครับ ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติๆของเขาทุกท่านด้วยครับ

การที่เขาจากไปด้วยโรคหัวใจ ทั้งๆที่อายุยังไม่มากนัก แค่หกสิบกว่าเท่านั้นเอง ผมขออนุญาตนำมาเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนอื่นๆ น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ ผมเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะการไม่ได้ไปทำการตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ ซึ่งเป็นการประมาทมากๆ เพราะในยุคปัจจุบันนี้วิวัฒนาการณ์ทางด้านการแพทย์ในบ้านเรา ได้พัฒนาไปเยอะมากแล้ว เมื่อผู้สูงวัยที่มีอายุย่างเข้าสู่วัยหกสิบปี เราต้องระมัดระวังเรื่องของสุขภาพให้มากๆ

หากร่างกายของเราเมื่อมีอาการผิดปกติเล็กๆน้อยๆ เราก็อย่าได้ประมาท หรือคิดว่าไม่เป็นไรมาก ทานยาพาราเซตามอลสักสองเม็ด แล้วนอนพักผ่อนอีกเล็กน้อยเดี๋ยวก็หาย หรือบางท่านอาจจะคิดว่า การไปตรวจร่างกายประจำปีไม่มีความสำคัญ ซึ่งก็เหมือนเพื่อนผมคนนี้ เพราะเขาคงจะคิดเสมอว่า เขามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมาก ชอบขับรถไปต่างจังหวัดไกลๆคนเดียว อีกทั้งยังมีสวนผักระดับหลายสิบไร่ เขารักสันโดษมาก จึงไม่ค่อยไปตรวจเช็คร่างกาย ดังนั้นพอมีปัญหาสุขภาพเข้ามาสู่ตัวเอง จึงได้จากไปอย่างกระทันหันนั่นเองครับ

 

โรคหัวใจอันที่จริงมีอยู่หลายโรคหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่คนที่จะไปพบพระอินทร์ มักจะไปด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หรือบางคนก็จะเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากเราไม่ว่างที่จะไปพบแพทย์ หรือว่าขี้เกียจหาหมอ(เป็นข้ออ้างของผู้สูงวัยส่วนใหญ่) เราก็ต้องมั่นสังเกตตัวเองให้ดี ซึ่งก่อนที่จะเริ่มมีอาการรุนแรงมากจนเอาไม่อยู่ มักจะมีอาการที่ส่อให้เราทราบก่อนเสมอ เช่น มีอาการปวดหัวบ่อย เวียนหัวหรือมึนหัว บางคนก็อาจจะมีอาการบ้านหมุน มือเท้าชา แขนขาอ่อนแรง บางคนก็เริ่มปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หรืออาจจะมุมปากตก มีอาการชาครึ่งซีกของร่างกาย เดินเหินมีอาการซวนเซ ทรงตัวลำบาก

นั่นคืออาการของเส้นเลือดหัวใจมีปัญหาแล้วละครับ ผู้สูงวัยถ้าอยู่ตามลำพัง มีโอกาสจะวูบง่ายๆ ถ้าหากว่าวูบแล้วไปเฝ้าเง็กเซียนเลย ก็ยังถือว่าทำบุญมาดี ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ถ้าลูกหลานเกิดมาช่วยทันตอนวูบไปไม่เกินสามชั่วโมง หรือที่เรียกว่ายังไม่เกินโอกาสทอง(Golden Time) ก็โชคดีไป อย่างมากก็แค่อัมพฤกษ์ แต่ถ้าช่วยทันหลัง Golden Time ก็ลำบากลูกหลานต้องมาเลี้ยงดูเราตอนที่ต้องนอนติดเตียงละครับ

 

สำหรับสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากไขมันในเม็ดเลือดสูง ซึ่งก็จะทำให้การไหลเวียนของเม็ดเลือดมีโอกาสตีบตันได้ เพราะไขมันจะไปสะสมอยู่ตามหลอดเลือด ไปขวางการไหลเวียนของเลือด หรืออาจจะมีการสะสมไขมันที่ผนังของหัวใจ ซึ่งก็นำมาซึ่งมฤตยูโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยังมีบางโรคที่เป็นแหล่งกำเหนิดของโรคหัวใจ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคเครียดเป็นต้น

โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับความไม่ใส่ใจในการดำรงชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมของตัวผู้สูงวัยเองแทบทั้งสิ้น นั่นอาจจะเป็นเพราะช่วงเรายังวัยรุ่นอยู่ เป็นคนที่รักสนุก ถ้าพูดง่ายๆก็คือ “การใช้ชีวิตที่เปลือง” โดยการนิยมชมชอบสังสรรค์ดื่มกิน บางคนก็มีนิสัยสูบบุหรี่จัด หรือบางคนก็ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนเมาหัวราน้ำเป็นประจำ นั่นก็มีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้เช่นกันครับ

โรคหัวใจมีอีกหลายชนิดโรค ที่เราผู้สูงวัยควรระวัง เช่น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจรูห์มาติก เป็นต้น โรคหัวใจใช่ว่าจะเป็นเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น บางโรคก็เป็นมาแต่กำเหนิด บางโรคก็เป็นเมื่อตอนเป็นเด็ก มารู้ตัวว่ามีอาการเมื่อโตแล้วก็มี เช่นโรคหัวใจรูห์มาติก ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งลักษณะที่พบ มักจะมาจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พบมากในชุมชนแออัดและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักเป็นซ้ำๆ จนทำให้หัวใจพิการ คือตีบและรั่ว นี่คือโรคหัวใจรูห์มาติก

ซึ่งอันที่จริงผมเองก็ไม่ใช่แพทย์ เพียงแต่ส่วนตัวชอบค้นคว้าหาบทวิจัยมาอ่าน เพื่อประดับความรู้ไว้สำหรับเตรียมตัวต้อนรับโรคร้ายต่างๆ ที่มักจะชอบเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แก่ๆอย่างพวกเราเท่านั้น แต่ถ้าจะให้ดีก็คงต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายประจำปีบ้าง เพราะอย่างน้อยได้ไปนอนวัดการเต้นของหัวใจบ้าง หรือได้ไปวิ่งสายพานบ้าง ก็จะดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ

ส่วนเพื่อนสนิทของผมที่เสียชีวิตไป เขาคงอาจจะไม่ค่อยชอบไปพบแพทย์ จึงต้องเดินทางไปเฝ้าเง็กเซียนก่อนผม ไม่ต้องมาชวนผมไปด้วยนะครับ ผมยังไม่ว่าง ยังมีงานที่จะต้องทำอีกเยอะครับ มีเพื่อนบางคนก็ชอบพูดเล่นๆว่า โรคหัวใจอ่อนแอไม่น่ากลัวเท่าไหร่หรอก ขอให้กระเป๋าตังค์แข็งแรงเข้าไว้ก็พอครับ