การดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดในสมอง

18 ต.ค. 2567 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 01:23 น.

การดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดในสมอง คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • การดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดในสมอง ต้องการการฟื้นฟูร่างกายผ่านการทำกายภาพบำบัดและการประเมินสภาพร่างกายอย่างละเอียด เพื่อวางแผนการบำบัดที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้เร็วขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • การดูแลโภชนาการที่เหมาะสมและการสนับสนุนทางจิตใจมีความสำคัญในการฟื้นตัวจากสโตรก ผู้ป่วยควรได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง พร้อมกับการสนับสนุนจากคนใกล้ชิด เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีคุณค่าและสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้

ระยะนี้มีเพื่อนๆหลายท่านที่โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาหาผม เพื่อต้องการส่งญาติผู้ใหญ่เข้ามาพักอาศัยในสถานบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” ของผม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัยที่มีอาการโรคหลอดเลือดในสมอง หรือที่เรียกว่า “สโตรก”นั่นแหละครับ ซึ่งผมขอบอกว่า สถานที่บ้านพักคนวัยเกษียณคัยโกเฮ้าส์ของผม ก็มีการรับผู้สูงวัยในลักษณะเช่นนี้อยู่หลายท่าน นี่ไม่ได้เป็นการโฆษณานะครับ

การดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรก ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย ที่จะต้องให้ท่านต้องอยู่พักอาศัยอยู่ที่บ้านหรือในครอบครัว แล้วจะหายจากอาการป่วยได้ เพราะอาการดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบำบัดอาการโรคร้ายนี้ ด้วยหลากหลายวิธีอย่างผสมผสานกัน จึงจะหายเจ็บป่วยจากอาการนี้ได้ แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถเดินเหิน และช่วยตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้นั่นเองครับ

การฟื้นฟูร่างกายและการทำกายภาพบำบัดให้แก่ผู้สูงวัยที่ป่วยจากอาการสโตรก จะต้องได้รับการประเมินสภาพร่างกายก่อนที่จะเริ่มการบำบัด เพื่อวางแผนการฟื้นฟูที่เหมาะสม เช่น การประเมินการเคลื่อนไหว และความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับสิ่งของ การทานอาหารด้วยตนเอง การโต้ตอบด้วยคำพูด เป็นต้น เพื่อให้นักกายภาพบำบัด ได้ให้การทำกายภาพบำบัดแก่ผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรก อีกทั้งตัวของผู้ป่วยเอง จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเพิ่มความคล่องตัวอย่างได้ผล และถ้าหากเป็นผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยติดเตียงแล้ว จำเป็นต้องได้รับการประเมินสภาพของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายอย่างละเอียดก่อนทำการบำบัดเสมอ นอกจากนี้ยังต้องมีการทดสอบเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้นักกายภาพบำบัดได้รับทราบถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วย ว่ามีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้ดีเพียงใด เช่น การเดิน การยืน และการนั่ง เพื่อผลของการบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้น สามารถกลับไปทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างเป็นปกติอย่างรวดเร็วขึ้นนั่นเองครับ

นอกจากนี้ยังต้องมีการดูแลทางด้านโภชนาการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนักโภชนาการ ที่สามารถจัดเตรียมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้แก่ผู้ป่วยดังกล่าว เช่น ผัก ผลไม้ และโปรตีนที่ดี เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง นอกจากอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว อาหารที่ช่วยให้มีการควบคุมโซเดียม ก็เป็นอีกหนึ่งที่จะต้องมีการควบคุมอย่างดี เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง ก็ควรต้องลดการบริโภคโซเดียม เพื่อช่วยลดความดันโลหิตลงมา ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างที่ต้องการได้ นอกจากอาหารแล้ว การดื่มน้ำของผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ยังต้องดูแลให้ท่านได้ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมากอีกประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการโรคสโตรก ได้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดการด้านจิตใจและอารมณ์ โดยให้มีการสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ เช่น การพูดคุยและให้กำลังใจ หรือการให้ทำกิจกรรมทางสันทนาการ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว มีความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและไม่โดดเดี่ยว อีกทั้งหากยังสามารถมีกิจกรรมทางสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมจากคนใกล้ชิด เช่น ลูกหลานหรือบุคคลในครอบครัว จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้ เพื่อกระตุ้นการติดต่อสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยดังกล่าว ได้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้นครับ

อย่างไรก็ตาม หากเราจะช่วยให้ท่านผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคสโตรก ได้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น อาการปวดหรือบวมของร่างกาย การขยับตัวที่ผิดปกติ และการขับถ่ายของตัวผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการดูแลท่านอย่างเหมาะสมให้ทันท่วงที หรือการส่งตัวท่านไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทันที ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ อีกทั้งการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ในกรณีที่ผู้สูงอายุที่มีอาการหนักถึงขึ้นไม่สามารถใช้ชีวิตประจำได้ตามปกติ หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยติดเตียง”แล้ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันจากการติดเชื้อและแผลกดทับ เป็นต้น

จากประสบการณ์ของผมที่ทำบ้านพักคนวัยเกษียณมาสอง-สามปี แม้จะยังไม่นานแต่ก็ได้มีการดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการดังกล่าวมาแล้วหลายท่าน พอจะเข้าใจได้ว่า การดูแลผู้สูงวัยหลังเกิดโรคสโตรก เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความรัก ความใส่ใจจากผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งสมาชิกของครอบครัวทุกคน ยังสามารถช่วยให้ผู้สูงวัยฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะการดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาโรคสโตรก นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของการดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างดี เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความรู้ดังกล่าว มาทำการดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยด้วยโรคนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีความเข้าใจ ความรัก และการใส่ใจจากทั้งผู้ดูแลและครอบครัว การมีกลยุทธ์การดูแลที่ชัดเจนดังกล่าวมา จะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถฟื้นฟูและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ครับ

ผมคิดว่า ไม่มีใครอยากจะล้มหมอนนอนเสื่อหรอกครับ แต่เราไม่สามารถฝืนคำว่า “ป่วย”ได้หรอก อย่างคำที่ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนย่อมหนีไม่พ้นสักคน ดังนั้นหากเราอยากจะมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต ก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพของเราให้ดี อย่าใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยจนเกินไป เราจะได้ไม่ต้องนอนติดเตียงไงละครับ