Amazon ไม่เคยเชิญผมไปบรรยาย ดังนั้น ผมจึงไม่เคยได้ตังค์จาก อเมซอน ยกเว้น ตังค์ทอน ที่ ร้านอเมซอน ในปั๊มน้ำมัน ปตท. คืนให้ (ฮา) แต่ทว่า ผมมีใจยินดีกับ อเมซอน ตรงที่ผมได้ความรู้จาก อเมซอน โดยไม่ต้องจ่ายตังค์ มันเป็นความรู้ที่มีราคา “ค่าควรองค์กร”
ในมุมของผู้บริหารอาจจะแย้งก็ได้ว่า ความรู้ที่ว่านั้นมันเป็น “ค่าควรโลก” เพราะว่า อเมซอน มีสาขา ทั่วโลก อเมซอน เขาเอา “ความรู้ประเภทเคล็ดลับ” มาเทผ่านสื่อให้สังคมได้รู้ทั่วกันว่า อเมซอน สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมนำชัย ให้ใช้เอกลักษณ์ที่สามารถจับต้องได้ คือ “การทำงานแบบย้อนกลับ” (Working Backwards) นำมาจรรโลงองค์กรให้ “สร้างสรรค์การขยันบริการ”
เชื่อขนมกินได้เลยว่า “คนไทยคือยอดนักคิดนอกกรอบ” ไปดูหลักฐานในโลกโซเชี่ยลจะหายเครียด หนุ่มคนหนึ่งเข้ามารำพึงว่า “ยุงมันกัดน่องเพื่อจะกินเลือดก็เข้าใจ แต่มดมันมาเลียนแบบกัดตามเขามั่งมันกัดไปเพื่ออะไรก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน?” (ฮา)
หนุ่มอีกคนหนึ่งเข้ามาสำทับว่า “พี่คงจะนั่งทับ กิ๊ก มันมั้ง มันก็เลยตามมามากัดเอาคืน!” (ฮา) หนุ่มคนที่สามตามมาตบมุกว่า “แบบว่า ยุง กับ มด มันไม่เกรงใจ เพราะว่า มันกับเราไม่มีอะไรผูกพันกัน ผมนี่เคืองรองเท้ามาหลายวันแล้ว รองเท้ากับเราไปไหนมาไหนอยู่ด้วยกันแท้ๆ มันยังกัดส้นเราหน้าตาเฉย?” (ฮา)
มุกเหล่านี้อยู่กับเราก็เป็นแค่มุก ครั้นเมื่อตลกคาเฟ่เอาไปเล่ากลายเป็นศิลปะ นักเขียนเล่าดีกลายเป็นวัฒนธรรม เอาข้อเขียนไปขายก็ได้เงิน ธุรกิจ จึงอ็อฟ วัฒนธรรม โชว์ขายบัตร!
ผมเอามั่งดิ แผลงเพลง “วันลอยกระทง?” มาเป็น “วันแรมกะทะ!” เอาไปร้องให้คนหนองคายที่โดนน้ำท่วมฟัง ทุกคนที่นั่งหน้าซึมๆ เงยหน้าขึ้นมามองหลายคนว่า ใครมาเมาโคลนตะโกนอยู่แถวนี้ อิๆ…
วันแรม เดือนเก้า เดือนสิบ
นั่งตา ปริ๊บ ปริ้บ อยู่บนหลังคา
กระทงจมวูบ เห็นตำตา
น้ำแทง ลอยมา...โน่น กาละมัง (เอาล่ะว้า... )
ลอย ลอย ลอย นั่น...หม้อ (โย้น... โย้น... )
ลอย ลอย โอ่ง...ใหญ่จัง
ตุ๊กตายาง ตุํบป่องมาแล้ว
ชาวบ้านนั่งแห้ว ไม่มีกะตังค์ (โย้น... โย้น...)
ร้องให้ บ้านลอย บ้านพัง
ยุบสภา จะดีใจจัง (เอาล่ะว้า...)
คาดว่า จะได้ กะตังค์ (เชิ้บ... เชิบ...)
นึกแล้วสิ้นหวัง หมดกำลังใจ
อย่าเพิ่งสิ้นหวัง จากใจถึงใจ (เอ๊า... ฮ้าไฮ้... เจี๊ยบๆ...)
“วัฒนธรรม” คือ “ทัศนะชูชีพ” เนื่องจาก “ทัศนคติ” เป็น “บ่อเกิดของวัฒนธรรม” และ “วัฒนธรรม” คือ “ครรภ์ของทัศนคติ” ในเมื่อ “จุดยืนของวัฒนธรรม” คือ “ชุดความคิดในการทำสิ่งที่สร้างความเจริญงอกงาม”
ดังนั้น หลักปฏิบัติว่าด้วยการ “บริการเหมือนสตาร์ทอัพ” หมายถึง “การรับใช้ให้ความสะดวกในการ ต้อนรับ ดูแล ทำตามคำขอ ด้วยความสนุกครึกครื้นสดชื่นรื่นเริง เหมือนกับพฤติกรรมที่เพิ่งเริ่มทำกันใหม่ด้วยจิตที่ผ่องใส” คล้ายคำมั่นที่ตกลงกันไว้ว่า เราจะทำตามแนวทางเดียวกันจะได้ผลตรงปก
ในเมื่อสายพันธุ์ “บริการเหมือนสตาร์ทอัพ” ของ “องค์กรธุรกิจ” มี DNA เดียวกันกับ “วัฒนธรรม” มันจึงใช่ในทันทีว่า มีเอี่ยวเกี่ยวกับการทำมาหากินอันดี ถ้าเรามัวแต่ “คิดเหมือนสตาร์ทอัพ” แต่ไม่ทำตามนั้น เราจะกลายเป็นเพียง “หางแถวของวัฒนธรรม”
วัฒนธรรม คือ ผ้ายันต์ เอาไว้กันไม่ให้ลูกค้าทอดทิ้ง เว้นเสียแต่เราเองทอดทิ้ง “ผ้ายันต์วัฒนธรรม”