นวัตกรรม CAR-T Cell รูปแบบใหม่ของรักษามะเร็ง

03 ม.ค. 2568 | 22:00 น.

นวัตกรรม CAR-T Cell รูปแบบใหม่ของรักษามะเร็ง คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา

KEY

POINTS

  • การรักษาด้วย CAR T-Cell Therapy เป็นการรักษามะเร็งที่ใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อโจมตีเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อหรือผิดปกติ
  • ข้อดีคือ CAR T-Cell Therapy สามารถจำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก T-Cell ที่ได้รับการดัดแปลงจาก RNA ของตนเอง
  • ข้อจำกัดหรือข้อเสีย ค่าใช้จ่ายสูง การผลิตและการขยายจำนวน T-Cell ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษานี้ สูงมากและอาจไม่เหมาะสมกับทุกคน

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงการนำ Immunology มาใช้ในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมได้ยินได้ฟังมาจากการสนทนาในกลุ่มนักวิจัยฯ ด้านเทคโนโลยี Precision Medicine ที่มีทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในวงสนทนานั้น พอผมเขียนลงไปในคอลัมน์นี้ ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้ส่งไลน์มาบอกผมว่า “เรื่อง Immunology เป็นศาสตร์ที่มีการค้นคว้าสูงมาก ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา โดยมีท่าน ศ.พญ.สุทธิพันธ์ สาระสมบัติ ได้เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชานี้ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช” ต้องขอขอบพระคุณท่านมาก ที่กรุณาให้คำแนะนำครับ ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ทางคณะแพทย์ศาสตร์ของศิริราช ได้มีการคิดค้นไปไกลแค่ไหนแล้ว เพราะท่านศ.พญ.สุทธิพันธ์ ท่านได้เกษียณอายุไปนานแล้ว หากท่านยังสามารถทำงานนี้ได้ ผมก็เชื่อในวิสัยทัศน์และความสามารถของท่าน ว่าการแพทย์ของไทยเรา น่าจะไปได้ไกลเทียบเทียมญี่ปุ่นหรือไต้หวันได้ครับ

สิ่งที่ผมได้จากการเดินทางไปดูงานด้านนี้ที่ไต้หวันมาหลายครั้ง ก็ได้เห็นในสิ่งที่ทางบริษัทฯแห่งหนึ่ง ทำการคัดแยกเอาเม็ดเลือดที่เป็น Cancer Tumor Marker ด้วยวิธีการนาโนเทคโนโลยี (Nano Technology) เอามารวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงแล้วจึงนำกลับมาใช้เป็นหัวเชื้อหรือ CAR T-Cell  ในการรักษามะเร็งต่อไปครับ

ผมเชื่อว่าบางท่านคงจะเหมือนผม ในช่วงที่เห็นเทคโนโลยีนี้ใหม่ๆ โดยอาจจะสงสัยว่าเขารักษากันอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟัง แบบคนนอกวงการแพทย์ ด้วยคำพูดที่เข้าใจง่ายๆ นะครับ ซึ่งขอให้แฟนคลับทุกท่านได้อ่านเป็นเรื่องสนุกๆ นะครับ อย่าถือว่าเป็นสาระมากนัก ผมอาจจะเล่าผิดก็ได้ครับ หรือท่านผู้ทรงความรู้ท่านใด ที่เห็นว่าผมอธิบายหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็กรุณาส่งข้อความมาให้คำแนะนำผมด้วย ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ 

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า การรักษามะเร็งในปัจจุบันนี้ เชื่อว่ายังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของวงการการแพทย์ เนื่องจากโรคมะเร็ง ยังเป็นโรคที่มีความหลากหลาย และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายอวัยวะของร่างกายมนุษย์อย่างเรา ๆท่านๆ อยู่ การรักษามะเร็งยังคงใช้วิธีการดั้งเดิมที่เราเคยเห็นมา เช่น การผ่าตัด, การฉายรังสี (Radiation Therapy) และการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มักจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง และไม่สามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ ในการรักษามะเร็ง เช่น CAR T-Cell Therapy (Chimeric Antigen Receptor T-Cell Therapy) ตามที่ผมได้ไปเห็นและได้รับฟังมาที่ไต้หวัน เป็นวิธีที่ทำให้วงการการแพทย์ของเขา สามารถให้การรักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในการแพทย์แบบแม่นยำหรือ Precision Medicine นั่นแหละครับ

การรักษาด้วย CAR T-Cell Therapy เป็นการรักษามะเร็งที่ใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immunology) เพื่อโจมตีเซลล์มะเร็ง โดยมีพื้นฐานมาจากการใช้ T-Cell ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยรบกวนและทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อหรือผิดปกติ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย CAR T-Cell Therapy เจ้า T-Cell ของผู้ป่วยจะถูกนำออกจากร่างกาย แล้วทำการดัดแปลงพันธุกรรม ให้สามารถจดจำและโจมตีเซลล์มะเร็งได้โดยเฉพาะ

จากนั้น T-Cell ที่ได้รับการดัดแปลงจะถูกนำกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ ฟังๆ ดูแล้วเหมือนการ์ตูนเลยใช่มั้ยครับ ถ้าไม่เห็นด้วยตาเรา เราก็คงไม่เชื่อ แต่ที่ไต้หวันเขาได้นำเอาแผ่น Semi-Conductor มาใช้ ทำให้เม็ดเลือดเพียงหยดเดียว เขาสามารถเห็นภาพขยายได้มากถึง 7,000 กว่าภาพ ทำให้เห็นสิ่งที่เราคิดว่าการ์ตูนนั้น ได้เห็นเม็ดเลือดแต่ละเม็ดวิ่งกันปู๊ดป๊าดเลยครับ

กระบวนการของ CAR T-Cell Therapy เขาจะเริ่มด้วยการเก็บ T-Cell จากเลือดของผู้ป่วย โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Apheresis” ซึ่งจะเก็บเฉพาะ T-Cell ออกจากเลือด ส่วนที่เหลือ จะถูกส่งกลับสู่เครื่องมืออีกตัวหนึ่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ ต่อไป จากนั้นก็จะเซลล์ที่ต้องการ ส่งมาให้แก่นักวิจัยทำการดัดแปลงทางพันธุกรรม โดยการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า “Chimeric Antigen Receptor (CAR)” ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ T-Cell สามารถจดจำและจับตัวกับแอนติเจน ที่พบในเซลล์มะเร็งได้อย่างเฉพาะเจาะจงในการรักษาโรค ซึ่งการขยายจำนวนหรือเพาะเชื้อ T-Cellนี้ จะถูกขยายจำนวนหรือเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จนสามารถผลิตจำนวน T-Cell ได้เพียงพอตามที่ต้องการ จากนั้นเซลล์เหล่านี้ จะถูกฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย T-Cell ที่ได้รับการดัดแปลงแล้วก็จะเริ่มการทำงาน โดยการโจมตีเซลล์มะเร็งที่มีแอนติเจนเฉพาะที่สามารถจับกับ CAR ที่ติดอยู่บนผิว T-Cell ได้อย่างมีประสิทธิผลเลยครับ

การใช้ CAR T-Cell Therapy มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ CAR T-Cell Therapy การสามารถจำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก T-Cell ที่ได้รับการดัดแปลงจาก RNA ของตนเอง จะสามารถจดจำแอนติเจนที่อยู่เฉพาะบนเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยคนนั้น ซึ่งแตกต่างจากเซลล์ปกติในร่างกาย วิธีการนี้จึงมีความเฉพาะเจาะจงสูง ซึ่งก็คือ Precision Medicine นั่นเอง และทำให้การทำลายเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายมากเกินไป

แม้ว่าการรักษาด้วย CAR T-Cell Therapy จะมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมในการรักษามะเร็ง แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดหรือข้อเสียบางประการที่ต้องพิจารณา เช่น ค่าใช้จ่ายสูง การผลิตและการขยายจำนวน T-Cell ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษานี้ สูงมากและอาจไม่เหมาะสมกับทุกคน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการตอบสนองของร่างกาย หลังการฉีด CAR T-Cell กลับเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยบางคนอาจมีภาวะพิษจากระบบภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า Cytokine Release Syndrome (CRS) ซึ่งเป็นการตอบสนองที่รุนแรงจากระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ซึ่งก็มีเช่นเดียวกับการรักษามะเร็งแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม CAR T-Cell Therapy ถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ในวงการการแพทย์ยุคปัจจุบัน ผมยังเชื่อว่า แพทย์ไทยเก่งไม่แพ้แพทย์ชาติอื่นๆ ในโลก เพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีราคาสูง แต่หากมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง และมีการนำเข้าเครื่องมือในการทำวิจัยเข้ามาในประเทศไทยเรา เราคงจะได้เห็นเรื่องของ Precision Medicine, Immunology, CAR T-Cell, หรือ Cell Therapy ในเร็วๆ นี้แน่นอนครับ