ธุรกิจกู้โลกบทบาทของภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

07 พ.ย. 2566 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 04:53 น.

ธุรกิจกู้โลกบทบาทของภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,938 หน้า 5 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน 2566

จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาขยะ ปัญหามลพิษ ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ทุกปัญหาล้วนทวีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตควบคู่ไปกับ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน 

 

 

 

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบ เศรษฐกิจที่เป็นที่เป็นที่ยอมรับเป็นวงกว้างว่า สามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เพราะระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นรูปแบบการจัดการระบบเศรษฐกิจ ที่วางแผนให้ทรัพยากรในระบบสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและ/หรือนำกลับไปใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยเน้นการลดการใช้วัตถุดิบใหม่ การคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และ วัสดุที่มีอยู่เดิมให้นานที่สุด และการลดผลกระทบเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงลดแรงกดดันในการเสาะหาวัตถุดิบใหม่จากธรรมชาติ ลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นผ่านการหมุนเวียนของเหลือใช้ เพื่อนำกลับไปใช้ในรูปแบบเดิมหรือรูปแบบใหม่ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการหมุนเวียนทรัพยากร

ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ทำให้วัสดุที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแล้วสามารถวนอยู่ในวงจรการผลิต และการบริโภคต่อไปเรื่อยๆ และช่วยสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นทุกครั้งที่วัสดุหมุนเวียนผ่านวงจร ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 

 

ธุรกิจกู้โลกบทบาทของภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนของวัสดุ คือ ผู้ประกอบการ (firms) ที่มีหน้าที่สำคัญในการผลิตและขนส่งสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภค บทบาทของผู้ผลิตครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเลือกวัตถุดิบในการผลิตสินค้า การเลือกวิธีการขนส่งสินค้า และ การเลือกโมเดลธุรกิจในการให้บริการแก่ผู้บริโภค

ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถสร้างผลกำไร จากการดำเนินงานบนหลักการที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ระบบเศรษฐกิจก็จะสามารถตั้งอยู่บนหลักของการลดการใช้วัตถุดิบใหม่ การคงคุณค่าของทรัพยากร และการลดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ ธุรกิจเหล่านี้จึงถือว่าเป็นธุรกิจที่กู้โลกได้อย่างแท้จริง 

โมเดลธุรกิจที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร และมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนนั้น มี 2 รูปแบบที่น่าสนใจ รูปแบบแรกเป็นการให้เช่าแทนการขายขาด (product as a service) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ผลิตคงความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต (retain product ownership)

โดยผู้บริโภคใช้งานสินค้าผ่านการเช่าโดยมีบริษัทเป็นผู้ดูแล และซ่อมแซมสินค้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และหากผู้บริโภคไม่ต้องการใช้งานสินค้า หรือเมื่อสินค้าหมดสภาพลง บริษัทก็จะรับผลิตภัณฑ์ไปจัดการต่อไป

ตัวอย่างการนำไปใช้ในปัจจุบัน เช่น การให้บริการความสว่างแทนการขายหลอดไฟ การให้เช่าที่นอนแทนการขายที่นอน และยังมีการให้บริการนํ้ามันอุตสาหกรรม ที่บริษัทผู้ให้บริการมีเทคโนโลยีในการทำความสะอาดนํ้ามัน ที่ผ่านการใช้งานแล้วให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้อีกครั้ง เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อบริการนำกลับไปใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้เช่าอุปกรณ์ในการผลิต เช่น เครื่องจักร และ เครื่องมือต่างๆ ที่มีราคาแพงด้วย 

อีกโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจบนฐานเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ที่ช่วยให้เกิดการใช้งานสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาแล้วให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยอาจทำผ่านแพลตฟอร์ม (sharing platform) หรือช่องทางอื่นๆ เช่น สถานที่ที่ไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ สามารถนำไปปล่อยเช่าในระยะสั้นได้

ดังเช่น ในกรณีแพลตฟอร์ม Airbnb ที่ให้นักท่องเที่ยวเช่าห้องพัก และบริการ co-working space ที่ให้บริการแบ่งปันสถานที่ทำงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบริการให้เช่าเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีราคาแพง และยังเริ่มมีบริการร่วมเดินทาง (ridesharing) ที่ให้ผู้โดยสารที่ไม่รู้จักกันแต่มีความต้องการเดินทางไปในทางเดียวกัน สามารถร่วมแบ่งปันยานพาหนะเดียวกันได้

จากตัวอย่าง เหล่านี้จะเห็นได้ว่า ธุรกิจประเภทนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกค้า และยังช่วยให้สถานที่/เครื่องมือ/อุปกรณ์/ยานพาหนะ มีปริมาณผู้ใช้งานมากขึ้นส่งผลให้เกิดการใช้งานทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม จากการที่ธุรกิจบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นธุรกิจในรูปแบบใหม่ จึงยังเผชิญข้อจำกัดหลายประการ ทั้งจากรูปแบบการให้บริการที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย การจัดการภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพ และความลำบากในการระดมทุน เนื่องจากรูปแบบธุรกิจที่ใช้ เป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่สถาบันการเงินและนักลงทุนคุ้นเคย เป็นต้น

เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของธุรกิจบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสร้างปัจจัยเอื้ออื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปฏิบัติภารกิจกู้โลกได้อย่างยั่งยืน