นวัตกรรมอนาคตที่ภาครัฐ ควรนำมาสร้างความโปร่งใสให้ประเทศไทย

29 พ.ย. 2566 | 04:22 น.
อัพเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 04:22 น.

นวัตกรรมอนาคตที่ภาครัฐ ควรนำมาสร้างความโปร่งใสให้ประเทศไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,944 หน้า 5 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2566

การสร้างความโปร่งใสของภาครัฐต่อสาธารณะเป็น กระบวนการที่ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) และความรับผิดรับชอบ (Accountability) รวมถึงกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐยังคงเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก มุมมอง และความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจเลือกนโยบายไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชน

 

ซึ่งการนำเอาเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่มองไม่เห็นให้มองเห็นได้ จะทำให้การออกแบบ/การบริหารนโยบายสาธารณะตรงกับความต้องการ มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานศึกษาของ OECD ได้นำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐ 4 แนวทางหลัก ดังต่อไปนี้  (OECD, 2019; 2020)

แนวทางที่หนึ่ง การใช้ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรม (Behavioral Insights) เพื่อปลดล็อกมุมมองและเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมเป็นหนึ่งในนวัตกรรม ที่จะช่วยให้ภาครัฐเข้าใจพฤติกรรมของประชาชนในด้านต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ในสหราชอาณาจักรได้จัดตั้งทีม Behavioral Insights (BIT) หรือ เรียกว่า Nudge Unit เพื่อประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และ จิตวิทยา ในการออกแบบและปรับปรุงนโยบาย หรือ บริการสาธารณะ

โดย OECD’s Regulatory Policy team ได้สนับสนุนและพัฒนาเครื่องมือการใช้ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรม ภายใต้กรอบ BASIC ซึ่งประกอบไปด้วย พฤติกรรม (Behaviour) การวิเคราะห์ (Analysis) กลยุทธ์ (Strategies) การแทรกแซง (Intervention) และ การเปลี่ยนแปลง (Change) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการนโยบาย โดยมีการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในทุกกระบวนการ

ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรม คือ แอปพลิเคชัน Carrot Reward ของประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในแคนาดา เกิดจากการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลแคนาดาและบริษัท Carrot Insights เป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานการเล่นเกม (Gamification)

และการใช้ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรม เพื่อช่วยให้ภาครัฐเข้าใจแรงจูงใจ และมุมมองของประชาชนในเรื่องสุขภาพได้ดีขึ้น รวมทั้งยังมีการให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นด้วย 

 

 

นวัตกรรมอนาคตที่ภาครัฐ ควรนำมาสร้างความโปร่งใสให้ประเทศไทย

 

 

แนวทางที่สอง เทคโนโลยีที่สัมผัสได้ (Immersive Technology) เพื่อค้นพบแนวคิดและข้อมูลใหม่ๆ

เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Augmented Reality: AR) และระบบเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) ได้รับความสนใจและถูกนำไปใช้ในหลายมิติ เช่น การเล่นเกม การเดินทาง การตลาด และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต

ภาครัฐหลายประเทศเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ในกรณีของ Finding Place ของเยอรมนี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง MIT Media Lab กับ สำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองฮัมบูร์ก ได้ริเริ่มสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ กับ ผู้อยู่อาศัยในฮัมบูร์ก เพื่อบอกพิกัดที่พักที่เหมาะสมในการรองรับผู้ลี้ภัยในเขตเมือง

โดยให้ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ในการจำลองพื้นที่ที่อยู่อาศัย ผ่านการวางตัวต่อเลโก้สีต่างๆ ลงบนแผนภาพทางภูมิศาสตร์ ที่ใช้อัลกอริทึ่ม และ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม

แนวทางที่สาม การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมอย่างมีข้อจำกัด เช่น เป็นมุมมองของคนเพียงบางกลุ่ม หรือ ขาดมุมมองจากผู้มีประสบการณ์ตรง อาจนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพของการออกแบบ และดำเนินนโยบายของภาครัฐ

ภาครัฐในหลายประเทศ จึงมีความพยายามในการค้นหาแนวคิด และแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ จากภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม เช่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน เป็นต้น รวมถึงเป็นการสร้างพันธมิต รเพื่อทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหา 

ตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา เช่น การแก้ไขวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลทุกแห่ง จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

รัฐบาล เอสโตเนียได้จัดการแข่งขัน Hackathons ในชื่อ Hack the Crisis ต่อมาได้มีการนำไปใช้ในหลายประเทศและนำไปสู่ Hackathons ระดับโลกที่ชื่อ The Global โดยผู้เข้าแข่งขันจะนำเสนอแนวคิดที่เป็นรูปธรรม ในการกำกับดูแลภารกิจของภาครัฐ

อาทิ ระบบการติดตามและตรวจสอบจำนวนชุด PPE ที่มีอยู่ในคลังกับความต้องการชุด PPE ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

ในขณะที่ลัตเวีย จัดการแข่งขันการออกแบบ Face Shield สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนำเสนอแผนการผลิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครื่องมือเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการแบ่งปันข้อมูลภายในชุมชน ในช่วงการระบาดของโควิด-19

เช่น บริษัท Qlue ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ได้สร้างเครื่องมือที่ผู้ใช้สามารถรายงานปัญหาต่างๆ เช่น สถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือโรงพยาบาลที่มีเตียงเต็ม เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่ และ ภาครัฐ ในการประสานงานและบริหารจัดการปัญหาในช่วงโควิด-19

แนวทางที่สี่ โลกของข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ (Machine-readable World)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลเริ่มให้ความสนใจกับข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ (Machine Readable) เพื่อสร้างระบบรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นนวัตกรรมทั้งในภาครัฐ และ ระบบเศรษฐกิจ ในวงกว้าง

พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็มีความพยายามในการแปลงลักษณะของมนุษย์ ประสาทสัมผัส และ สภาพแวดล้อมของมนุษย์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่สะท้อนโลกทางกายภาพ เพื่อให้เกิดการส่งมอบบริการ มาตรการ และ นโยบายต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เช่น รัฐบาลนิวซีแลนด์ จัดทำโครงการนำร่องในการร่างกฎเกณฑ์ใหม่ ด้วยวิธีการเข้ารหัสการใช้เครื่องจักร (Machine-consumable Code) เพื่อเก็บข้อมูลการใช้กฎหมายและการตีความกฎหมาย ที่ชื่อ Better Rules

โดยมีเป้าหมายให้การบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้มากที่สุด โครงการนี้ยังช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และ พัฒนาความคิดเห็นแบบเรียลไทม์ ระหว่างการออกแบบกฎหมาย และกระบวนการดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้สามารถออกแบบ และเสนอแนะแนวทางปรับปรุงกฎหมายล่วงหน้าได้ดียิ่งขึ้น

แนวคิด Law-as- code จะมีศักยภาพในการพัฒนาอัลกอริทึม ในการตัดสินใจจากการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และประสบการณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น 

กรมสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ ของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ได้นำแมชชีนเลิร์นนิง มาใช้ในการสร้างแผนที่และจำแนกลักษณะของการใช้ที่ดิน จากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อใช้ในการวางแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อวางแผนการผลิตทางการเกษตร เพื่อติดตามพาหะนำโรค และเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีอัตราความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 97 

รัฐบาลมองโกเลียร่วมมือกับภาคเอกชน สร้างโครงการนำร่องในการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาแก้ไขปัญหายาปลอม โดยใช้บล็อคเชน และ ปัญญาประดิษฐ์ ติดตามยาที่ถูกผลิตในแต่ละชุด ในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน จนกระทั่งยาเหล่านั้นถึงมือลูกค้า 

สำหรับภาครัฐไทย การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (AR) บล็อกเชน (Blockchain) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้สำหรับเก็บข้อมูลที่เป็นรูปธรรม เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ภาครัฐเข้าใจถึงความต้องการ ความคิดเห็น และความคาดหวังของประชาชนต่อบริการสาธารณะได้อย่างถูกต้อง

และนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งถือเป็นการพัฒนาความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของภาครัฐอีกด้วย 

 

อ้างอิง :

ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ (2565). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โครงการศึกษาพรมแดนและช่องว่างความรู้เรื่อง ธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566 - 2570.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).

OECD. (2019). Embracing innovation in government: global trends 2019. Retrieved January 16, 2022 from https://trends.oecd-opsi.org/embracing- innovation-in-government-global- trends-2019.pdf. 

OECD. (2020). Embracing innovation in government: global trends 2020. Retrieved January 16, 2022 from https://trends.oecd-opsi.org/wp-content/ uploads/2020/11/OECD-Innovative-Responses-to-Covid-19.pdf.