ปัญญาประดิษฐ์กับเศรษฐศาสตร์มหภาค

24 ก.ค. 2567 | 06:26 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2567 | 06:33 น.

ปัญญาประดิษฐ์กับเศรษฐศาสตร์มหภาค : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4012

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงของประเทศ การเมือง  วัฒนธรรม และ เศรษฐกิจ   

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเล่าถึงผลที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งประเด็นที่ภาคการผลิต ตลาดแรงงาน การกระจายรายได้ และ การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม 

หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คือ ความสามารถในการยกระดับผลิตภาพการผลิต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว 

อย่างที่รู้กันทั่วไปว่า การมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ย่อมส่งผลดีต่อผลิตภาพการผลิต และจากมุมมองทางเศรษฐกิจ ปัญญาประดิษฐ์สามารถมองได้เป็นเทคโนโลยีการผลิต

ล่าสุดที่เกิดจากการรวมปัจจัยนำเข้าที่ไม่มีตัวตน (ได้แก่ ทักษะ ซอฟต์แวร์ และข้อมูล) เข้ากับปัจจัยนำเข้าที่สามารถจับต้องได้ (ได้แก่ computing power และฮาร์ดแวร์) เพื่อผลิตผลลัพธ์ (output) ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสามประเภทอย่างกว้าง ได้แก่

1) เนื้อหา เช่น ข้อความหรือภาพ 2) การพยากรณ์ และการวิเคราะห์ขั้นสูงอื่น ๆ ซึ่งสามารถใช้ช่วยในการตัดสินใจของมนุษย์ และ 3) งานทางกายภาพ เมื่อทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ 

ความสามารถของเทคโนโลยี AI ในการทำงานที่เป็นรูปแบบซ้ำๆ การประมวลผลข้อมูลมากมายได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำ จะช่วยในการปรับปรุงกระบวนการที่ซับซ้อน และสนับสนุนการตัดสินใจให้รวดเร็วขึ้น อันนำไปสู่การผลิตที่มีผลผลิตสูงขึ้นต่อแรงงาน ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม 

นอกจากนี้ AI ยังมีศักยภาพในการกระตุ้นนวัตกรรมในภาคเศรษฐกิจต่างๆ อัลกอริธึมของ AI สามารถสร้างความเข้าใจใหม่ และการค้นพบใหม่ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าในสาขาต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์ การศึกษา และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น  

การพัฒนา AI ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของเทคโนโลยี AI อาจไม่ได้นำมาซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของผลิตภาพการผลิตเสมอไป เช่น อย่างกรณีที่การยอมรับและนำ AI เข้ามาใช้ในภาคธุรกิจเป็นไปอย่างช้าๆ หรือจำกัดอยู่แค่ธุรกิจบางประเภท ผลิตภาพการผลิตโดยรวมเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย  

ทั้งนี้ การที่ AI จะช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตได้อย่างรวดเร็วจะต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง สังคม และ กฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้อง และเกื้อหนุนการพัฒนาของ AI รวมถึงมีการใช้งานในวงกว้าง และการผสมผสานเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจอย่างสำเร็จ

การพัฒนาของเทคโนโลยี AI ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสามารถของ AI สร้างความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานลักษณะ routine ที่ต้องทำซ้ำ เช่น พนักงาน Call Center, ผู้ที่ให้บริการในธนาคาร หรือ แม้กระทั่งผู้ประกาศข่าว ที่ปัจจุบันกำลังเริ่มถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ AI 

ความกังวลแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้งแต่สมัยอดีตช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งคนในยุคนั้นกังวลว่า การเกิดขึ้นของเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ จะทำให้เกิดการจ้างคนงานน้อยลง 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วกลับ พบว่าถึงแม้งานบางส่วนจะเก่าและล้าสมัยไป แต่จะมีงานตำแหน่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอตามมาด้วย ซึ่งในยุคปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็มีการคาดการณ์ในลักษณะคล้ายกัน 

กล่าวคือ ถึงแม้ตำแหน่งงานบางประเภทจะถูกแทนที่ด้วย AI แต่จะมีตำแหน่งใหม่เกิดขึ้นมาชดเชย โดยเฉพาะตลาดงานด้าน AI อีกทั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงในทักษะ ที่ต้องการในตลาดแรงงาน กล่าวคือ เกิดงานรูปแบบใหม่ๆ เช่น งานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจในมนุษย์ และ การวิเคราะห์แก้ปัญหา จะเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ การใช้งาน AI ยังสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเหลื่อมล้ำของกระจายรายได้ และความเท่าเทียมกันในสังคม งานวิจัยมากมายเปิดเผยว่า AI มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดย AI จะช่วยเสริมพลังการทำงานของกลุ่มแรงงานที่มีรายได้สูง ทำให้รายได้ของแรงงานบางกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

ขณะที่งานประเภท routine ซึ่งเป็นงานของกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ถูกแทนที่ด้วย AI  ทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้มากขึ้น ประกอบกับบริษัทที่ยอมรับ และใช้ AI ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงขึ้น ซึ่งเอื้อต่อผู้มีรายได้สูง 

นอกจากนี้ การกระจุกตัวของการใช้ AI ในบางภูมิภาค หรืออุตสาหกรรม จะยิ่งนำมาซึ่งความแตกต่างของรายได้ระดับภูมิภาคและอุตสาหกรรม เพิ่มความท้าทายให้กับผู้วางนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล (balanced economic growth)

รัฐบาลมีบทบาทสำคัญมาก ต่อผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

สิ่งสำคัญอันดับแรก ควรเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการลงทุนในการศึกษา การฝึกอบรมเพื่อสร้างแรงงานที่มีความสามารถด้านดิจิทัล เตรียมความพร้อมให้กับแรงงานด้วยทักษะที่จำเป็น ในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI  

นอกจากนี้ นโยบายที่สนับสนุนนวัตกรรม คุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญา และการรักษามาตรฐานทางจริยธรรมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในประชาชน 

โดยสรุป ปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างมาก เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิต กระตุ้นการเกิดนวัตกรรม อันนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของ AI สร้างความท้าทายต่อตลาดแรงงานและการกระจายรายได้ รัฐบาลจึงต้องมีความระมัดระวังในการวางแผนและออกแบบนโยบาย สร้างนโยบายที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของ AI ขณะที่คำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ในวงกว้างอย่างเท่าเทียมกัน 

ภาคธุรกิจจะต้องมีการลงทุนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับแรงงานเพื่อความสำเร็จในอนาคตของธุรกิจ ส่วนตัวแรงงานเอง ควรจะตระหนักถึงความจำเป็นของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อได้รับโอกาสจากงานรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ทุกคนต้องพัฒนาและเรียนรู้อยู่เสมอ และจะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงจะทำให้ตนเองสามารถหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับงานที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต