*** หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตรา 5.25-5.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี สร้างผลกระทบทั้งในด้านบวก และด้านลบ โดยในฝั่งที่เป็นบวกก็จะมีผลทำให้เงินทั้งจากประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ในระยะที่ผ่านมาทยอยไหลออกกลับไปที่ตลาดสหรัฐ มีโอกาสที่จะหยุดหรือไม่ก็ไหลช้าลง จนทำให้ตลาดหุ้นและตลาดทุนของตลาดเหล่านี้มีโอกาสตั้งหลักได้อีกครั้ง หลังจากที่เงินทุนไหลออกต่อเนื่องมาหลายปี
ขณะเดียวกัน หากมองอีกมุม ก็จะพบว่า นอกจากจะเป็นการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ก็ยังมีเรื่องของการป้องกันการเทขายเงินดอลลาร์ ออกจากระบบเงินสำรองของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ญี่ปุ่น และ ประเทศเศรษฐีน้ำมันในฝั่งตะวันออกกลางที่ขายออกมา จนทำให้เสถียรภาพของเงินดอลลาร์มีปัญหา ซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน กระแสดอกเบี้ยขาขึ้นที่เริ่มชะลอตัวลงก็จะส่งผลให้ลูกค้าของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจลีสซิ่ง อย่างเช่น MTC SAWAD TIDLOR รวมไปถึงหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว หรือ เข้าสะสมหุ้นที่มีความทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่อราคาอ่อนตัวลง อย่าง ADVANC, TRUE, INTUCH, BGRIM และ GPSC หรือหุ้นในหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะมีโอกาสฟื้นตัวด้วยเช่นกัน
ส่วนทางฝั่งที่เป็นลบ โดยหลักแล้วก็จะเป็นเรื่องกระแสดอกเบี้ย ที่ชะลอตัว จนเป็นเหตุให้หุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL KTB และ TTB อาจถูกขายออกมาบ้าง เนื่องจากถูกมองว่าอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้นที่เคยได้รับน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นธนาคารเจ๊เมาธ์มองว่า น่าจะมีผลกระทบที่ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผลลัพธ์ที่เกิดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ยังไม่ได้เข้ามาอย่างเต็มที่ ยังจะมีโอกาสเพิ่มเข้ามาอีกได้ในอนาคต รวมไปถึงราคาหุ้นที่ผ่านการปรับฐานจากการคาดการณ์ ว่า จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ก็ได้รับรู้ไปแล้วเช่นกัน ซึ่งก็ทำให้เจ๊เมาธ์มองว่า การที่เฟดยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ น่าจะเป็นผลดีมากกว่านั้นเอง
*** ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า หุ้นไอพีโอส่วนใหญ่ทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็น PSP GFC COCOCO รวมไปถึงหุ้นไอพีโอตัวล่าสุดอย่าง SINO ที่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กรณีนี้ส่วนหนึ่ง ก็น่าจะเป็นเพราะบรรดาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ผู้จัดการและรับประกันการจัดจำหน่าย (UW) รวมไปถึงนักทำราคา (MM) เริ่มปรับตัว เพื่อหาช่องทางในการทำให้หุ้นไอพีโอน่าสนใจมากขึ้น
รวมถึงค้นพบวิธีการที่จะทำให้ไม่ถูกเตะตัดขา เพื่อสกัดดาวรุ่งในวันแรกหรือ วันที่สอง ของการเข้าตลาดอย่างที่หุ้นไอพีโอก่อนหน้านี้หลายตัวเคยโดนมาแล้ว ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปเจ๊เมาธ์ ก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ไทย ก็จะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนบริษัทนอกตลาด ที่อยากจะเข้ามาระดมทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
เจ๊เมาธ์มองว่า อย่างน้อยที่สุดในจังหวะที่บรรยากาศการลงทุนโดยรวม อาจจะยังไม่ดีนัก แต่ยังมีบางส่วนที่ยังพอจะไปได้ ก็ได้แต่หวังว่าอย่าไปมีใครหรือหน่วยงานใดจะเกิดอาการบ้าจี้ จนถึงขึ้นเตะตัดขาตัวเองแบบที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้อีกแล้วนะคะ ของที่ไม่ดีก็เห็นมาแล้ว....หวังว่าประสบการณ์ที่เคยมีจะสอนว่าไม่ควรเดินซ้ำรอยเดิมนะคะ
*** ไม่ว่าตลาดฯ จะดีหรือไม่ แต่หุ้นในเครือเจ้าสัวก็ยังถือว่าเป็นหุ้น “ปราบเซียน” อยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น CPALL CPF TRUE หรือ CPAXT (MAKRO) เนื่องจากทั้งกลุ่มเป็นหุ้นที่อ่านเกม และอ่านทิศทางได้ยาก
โดยในส่วนของ CPAXT ซึ่งเคยปรับราคาขึ้นไปแตะราคาเพิ่มทุนที่ 43.50 บาทมาแล้วหลายครั้ง แต่ในท้ายที่สุดก็ขายไปไม่ได้ และยิ่งล่าสุดราคาหุ้นปรับลงไปอยู่ที่ 33-34 บาท ก็ยิ่งเป็นเหตุที่ทำให้กลุ่มนักลงทุนที่ยังติดดอยอยู่ รอจังหวะที่จะขายหุ้นออกมาทุกครั้งที่ปรับราคาขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม เจ๊เมาธ์ยังยืนยันว่า หุ้นเครือเจ้าสัวยังเป็นหุ้นกลุ่มปัจจัยพื้นฐานดี ไม่ว่าจะราคาร่วงลงหนักแค่ไหนแต่ก็ยังน่าสนใจ และยิ่งถ้าลงไปมากขึ้น เพียงแต่ถ้าชอบก็ต้องหาจังหวะให้ดีและพร้อมที่จะรอ ส่วนจะรอนานแค่ไหนก็ว่ากันเป็นรายตัวไป...เรื่องก็มีเท่านี้เองเจ้าค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,925 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2566