ซึ่งหากดูจากช่วงเวลาแล้ว แสดงว่างบประมาณในปี 2566 ยังพอที่หน่วยงานต่าง ๆ จะปรับวงเงินเพื่อเริ่มงานด้านนี้ได้บ้าง และน่าจะเป็นฐานที่สำคัญและเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นในการตั้งงบประมาณของปี 2567 ที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2566 นี้เป็นต้นไป
ในแผนปฏิบัติการ BCG ตั้งเป้าความสำเร็จในปี 2570 ไว้ 4 ด้าน คือ ด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้านสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และด้านการพึ่งพาตัวเอง โดยทั้ง 4 ด้าน มี 14 ตัวชี้วัด
แต่หากดูลึกลงไปในตัวชี้วัดแล้ว มองเผิน ๆ ก็เหมือนแผนปฏิบัติงานใหญ่ ๆ ในเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมา เช่น ประเทศไทย 4.0 ฯลฯ ที่กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จเหมือน ๆ กัน คือ มองกว้าง ๆ
ตั้งเป้าไกล ๆ และคลุมเครือในการวัดผล ตัวอย่างของตัวชี้วัดของแผน BCG เช่น มูลค่า GDP ของเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท
สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% หรือจำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งยังกำหนดให้มีการสร้าง start up และ IDEs (Innovative Driven Enterprises) ที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย
ส่วนการค้าระหว่างประเทศก็กำหนดให้ ดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีขาดดุลลดลงไม่น้อยกว่า 20% และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลดลงไม่น้อยกว่า 20% โดยจะดูที่ปี 2570
ยิ่งลงไปดูทั้ง 13 มาตรการแล้ว จะเห็นว่าทำอะไรก็สามารถนับว่าเป็นมาตรการของ BCG ตามแผนฯ เช่น ปรับระบบการเกษตรสู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และมูลค่าสูง
หรือการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทางและอาหารท้องถิ่น หรือสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากฐานชีวภาพให้มีขั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น และการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ฯลฯ ซึ่งส่วนมากก็ทำอยู่แล้ว
ตอนนี้หน่วยงานต่าง ๆ ก็กระตือรือร้นในการใช้ BCG เป็นแกนในการทำงานของตนเอง จะด้วยเพราะผู้นำประเทศ หรือ มติของ ครม. ซึ่งดูตามเป้าแล้วไม่ยากในการกำหนดนโยบาย งาน และโครงการเพื่อของบประมาณของหน่วยงานตนเอง เพราะหากดูตัวชี้วัด กรอบการดำเนินงาน และมาตรการแล้ว
ผมว่าทำอะไรแบบเดิม ๆ ของหน่วยงาน เพียงแค่เปลี่ยนชื่อโครงการ เปลี่ยนเป้าหมาย ดัดแปลงงานนิด ๆ ก็สามารถสอดงานปกติของตนเองเข้าสู่แผน BCG ได้อย่างชิว ๆ แม้ว่าสีข้างจะถลอกไปบ้าง
จากการหารือระหว่างหน่วยงานที่เราคิดว่าเป็น “เจ้าภาพ” คือ กระทรวงอุดมศึกษา ฯ และหน่วยงานปฏิบัติสองสามหน่วยงาน ร่วมกับคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา
ผมมองเหมือนหลาย ๆ คนว่าแนวโน้มของโลกที่ถูกกำหนดให้เดินตามความคิดของคนตะวันตกและส่งออกมาให้ทั้งโลกเดินตามผ่านเงื่อนไขทางการค้า แรงกดดันทางการเมือง หรือความครอบงำทางความคิด ที่ทำให้โลกเห็นชอบว่าทางรอดของโลกต้องเดินทางตามแนวคิด BCG และประเทศเราก็ไม่ตกรถไฟขบวนนี้
ดังนั้น การกำหนดให้ BCG เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศต่อไปก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะอย่างไรโลกก็เดินไปทางนี้อยู่ดี แต่จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นฝีมือการบริหารกลยุทธ์ในภาพรวมของ “เจ้าภาพ” ไม่ใช่แค่ตนเองเข้าใจถ่องแท้อยู่คนเดียว เพราะตอนนี้ที่พอสังเกตุได้ คือ
แม้ว่าวันนี้สวนดุสิตโพลสำรวจกลุ่มเป้าหมายในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2565 จำนวน 2,150 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของประชาชน พบว่า 74.21% รู้จัก แต่พอถามลงไปลึก เกือบทั้งหมดรู้แบบรู้ ๆ และได้ยินเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ผิดจากการคาดเดาได้
แต่ผมว่าคนที่ทำงานในด้านนโยบายจำต้องรู้ลึก รู้จริง และรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ ทั้ง 100 ละ 100 ที่จะทำงานให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย เพื่อให้ชีวิตของผู้คนในประเทศนี้มีคุณภาพขึ้นในทุกมิติตามกรอบ BCG
ถ้าพูดถึงประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ นั้น ผู้เป็นเจ้าภาพต้องมองให้ทะลุในแต่ละประเด็นให้ได้ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างงานศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม วุฒิสภาที่ได้ศึกษาและเสนอแนะให้มองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรนั้น
ต้องมองทั้งห่วงโซ่มูลค่า เช่น พืชผลเกษตรจากอ้อยจะมาเป็นน้ำตาล เอทานอล สารเคมีชีวภาพ ที่ใช้ในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ต่างต้องการความรู้ งานวิจัย และเงินลงทุนที่ต่างกัน ซึ่งความท้าทายในทางการทำงานคือใครจะมองทุกอย่างให้ร้อยต่อกับมาตรการสนับสนุนที่สอดคล้องกันเพื่อให้ทุกอย่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน และที่สำคัญการแบ่งปันผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่านั้นจะช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและไม่เหลื่อมล้ำอย่างไร
นอกจากนี้ การพัฒนาที่เคยพูดถึงเสมอ มีตัวอย่างในต่างประเทศ แม้จะผ่านมติ ครม. ของเรามาแล้ว คือ โครงการนิคมไบโอ หรือ Bio-Complex ต่างๆ ที่ ครม. เคยมีมติให้ดำเนินการได้
แต่ที่ผ่านมายังเกิดยาก เกิดช้า และเดินตามยถากรรมของเอกชนแต่ละราย ไม่ใช่เพราะหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สนับสนุน แต่เป็นเพราะทุกหน่วยงานทำตามภารกิจในกรอบไซโลของตนเอง และบ่อยครั้งมาตรการ ระเบียบ กติกาที่แต่ละหน่วยงานทำนั้น ก็ขัดกันเองหรือไม่สนับสนุนกันในภาพใหญ่ เช่น การตั้งคอมเพล็กซ์ไบโอจากอ้อย ต้องการตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานเอทานอล โรงงานไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำตาล และเอทานอล ในพื้นที่นิคมเดียวกัน
แต่ละหน่วยงานก็จะสนับสนุน ไม่ว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มองเป็นโปรเจคแยก ๆ กันไป การไฟฟ้าฯ จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานในพื้นที่ที่ใช้วัสดุจากชานอ้อย เพราะหากไม่ซื้อไฟฟ้า โรงงานไฟฟ้าก็ไม่มี โรงงานน้ำตาลก็ตั้งไม่ได้ เอทานอลก็เกิดยาก ในที่สุด Bio-Complex ก็เกิดขึ้นได้ยาก อุตสาหกรรมต่อเนื่องใบโออื่นๆ ที่มูลค่าสูงก็จะไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างโยงกันหมด
ดังนั้น เราต้องการคนดูภาพรวมและกำหนดมาตรการแบบบูรณาการจริงๆ ที่มองเป้าสุดท้ายเป็นหลัก หรือมองความเป็นไปได้ของโครงการไบโอในภาพรวมของก่อตั้งนิคมไบโอฯ นั้น แต่เราไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพในการผลักดันในแต่ละโครงการใหญ่ ๆ เพราะรู้ว่าเหนื่อยที่จะให้แต่ละหน่วยงานทำตามที่ควรจะเป็น อย่างมากก็ส่งข้อคิดเห็น ความก้าวหน้า
และเสนอแนะให้ ครม. มีมติให้แต่ละหน่วยงานทำ ซึ่งก็มีข้ออ้าง เหตุผล ข้อติดขัดร้อยแปดพันเก้าจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมายที่จะไม่ทำ แต่จะเลือกทำกิจกรรมของตนเองและบอกว่าที่ทำนี้ก็ BCG เหมือนกัน (ในความเข้าใจของตนเอง)
สำหรับผมแล้ว กำลังรอดูว่าความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติงานว่าจะยื่นของบประมาณปี 2567 นี้อย่างไร เพราะเชื่อว่าคำว่า BCG จะถูกใช้เป็นเหตุผลในโครงการและงานต่าง ๆ เกือบทั้งหมด คงต้องรอดูว่าโครงการและงานเหล่านั้นสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของประเทศเพียงใด เพราะจะเป็นตัวสะท้อนถึงความสามารถของคนทำงานที่เกี่ยวข้องว่า “เข้าใจ” ในเรื่องนี้อย่างไร และ “คิดได้” และ “คิดดี” ต่อประเทศนี้อย่างไร