น่าจะต้องปรับเปลี่ยนโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย เป็นแน่แท้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมาย แม้ไม่ตัดหนทางโดยตรง ในรูปแบบที่จะทำเดิม แต่ให้ความเห็นลักษณะ ถ้าจะทำ ให้ทำตามกฎหมายให้ชัดเจน
โดยเฉพาะถ้าจะออกกฎหมายกู้เงิน จะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และ มาตรา 57 ความว่า จะกู้ก็กู้ได้โดยมีเหตุเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ แถมท้ายอีกประเด็นเรื่องความคุ้มค่า นั่นก็ชัดเจน จำเป็น เร่งด่วน วิกฤติ คุ้มค่า ก็ไปดูตัวเลขกัน เศรษฐกิจไทย วิกฤติมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องกู้มาแจกหรือไม่
เจอสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ออกมาตอกยํ้าซํ้าอีกดอกด้วยผลการศึกษาว่าด้วยการแจกเงินดิจิทัล มีความเสี่ยงอยู่หลายประการ นโยบายนี้มิใช่เป็นการสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเพียงใด
และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง ตลอดจนตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะ “ไม่เข้าข่ายวิกฤต” และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย
ข้อสังเกต ป.ป.ช. ยังชี้ว่าเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย นโยบายหาเสียงกับแถลงต่อรัฐสภาแตกต่างกัน เป็นการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ อาจขัดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 เสี่ยงเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล-กลุ่มบุคคล โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ เสี่ยงกระทบต่อภาระทางการเงินการคลัง เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ม. 71 และ 75 เสี่ยงขัดพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ม.53 ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ ม.140 และเงินดิจิทัลแจกครั้งเดียวไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
แถมข้อเสนอพ่วงมาอีกต้องกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วถึง ลามชี้ไปถึงองค์กรอิสระอื่นอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ควรตรวจสอบเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ทำนองหาเสียงไม่ตรงกับที่จะทำ กรณีบอกไม่กู้ แล้วกลับมากู้ทำโครงการ สัญญาว่าจะให้ ซึ่งเสี่ยงขัดกฎหมายเลือกตั้ง ที่ กกต.ควรทำหน้าที่
ในกรณีจะทำต้องคำนึงความคุ้มค่า ความจำเป็น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงและป้องกันทุจริต ควรพิจารณาช่วยกลุ่มที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นความยากจน และการใช้ “เป๋าตัง” จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า Blockchain ซึ่งเป็นผลศึกษาในความยาว และภาคผนวกรวมรายงาน 177 หน้า ก็สกัดใจความหลักๆ ออกมาประมาณนี้
การออกผลการศึกษาเช่นนี้ ละม้ายคล้ายเหมือนกับโครงการจำนำข้าว ที่ป.ป.ช.ก็ออกมาเตือน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ออกมาเตือน ทั้งหมดจึงขมวดปมไปที่รัฐบาลจะดันทุรังไปต่อหรือไม่ อย่างไร นาทีนี้ “แจกเงินดิจิทัล” ต้องปรับโครงการมโหฬาร แน่ๆ กู้ไม่ได้ ต้องกลับไปใช้เงินงบประมาณปกติ ลดขนาดเม็ดเงินโครงการ ลดจำนวนผู้ได้รับ เอาเฉพาะผู้เดือดร้อนจริงๆ ระยะเวลาอาจทอดยาวออกไป
ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ต้องเงี่ยหูฟังเวทีนี้ เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (World Economic Forum) ที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมด้วย มีรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับนำของโลกมาประมวลเข้าด้วยกัน ปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแรงลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ความขัดแย้ง และ สงครามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ จะสร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินโลกต่อไปในระยะ 3 ปีข้างหน้า
แม้มีพัฒนาการที่เป็นบวกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดน้อยลง และมีความคืบหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ภาคธุรกิจ และ ผู้กำหนดนโยบายยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความตึงเครียดในสังคมมีความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจที่น่ากังวลมากสุดอยู่ในพื้นที่ยุโรป ตามด้วยสหรัฐ แต่เอเชียใต้ เอเชียแปซิฟิก จะฟื้นขึ้น แต่ต้องระมัดระวังจีน
อันนี้น่ากลัวและหนักหนาสาหัสเข้าทุกวัน สำหรับฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่มาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีการพยากรณ์ในช่วง 6-7 วันนี้ 19-25 ม.ค. 2567 คนกรุงเจอพิษ PM 2.5 อ่วม หลายพื้นที่ค่าฝุ่นควันเกินมาตรฐาน ที่ว่าเริ่มส่งผลกระทบกับสุขภาพ โดยเกิดภาวะอากาศค่อนข้างปิดใกล้ผิวพื้น การสะสมของฝุ่นเพิ่มขึ้น การระบายฝุ่นเป็นไปอย่างจำกัด ฉะนั้นกิจกรรมกลางแจ้งก็ควรต้องงดเสีย หรือ หากกรณีจำเป็นต้องออกไปนอกอาคาร ต้องมีหน้ากากที่ป้องกันบรรเทา PM 2.5 ได้ติดตัวไปด้วยตลอด...