จากยุบพรรคอนาคตใหม่สู่“ก้าวไกล?”

04 ก.พ. 2567 | 03:00 น.

จากยุบพรรคอนาคตใหม่สู่“ก้าวไกล?” : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,963

KEY

POINTS

 

 

+ บันทึกประวัติศาสตร์ ศาลรธน.วินิจจัย “พรรคก้าวไกล” เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จากกรณีแก้ ม.112

 

+ มติศาลรธน.เปิดทางยื่นยุบพรรค และเอาผิดจริยธรรมร้ายบแรง 44 ส.ส.ก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอร่างแก้กฎหมาย ม.112

 

+ จากยุบพรรคอนาคตใหม่ มาถึงยุคนี้พรรคก้าวไกลจะถูกสั่งยุบหรือไม่ 44 ส.ส.จะต้องเว้นวรรคทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่

 

*** เป็นอีก 1 เหตุการณ์ “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ที่ต้องจารึกไว้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง ในวันที่ 31 ม.ค. 2567  วินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ/หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1)  และ พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) เสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล และ นายพิธา เลิกการกระทำดังกล่าว

*** คำวินิจฉัยตอนหนึ่ง ระบุว่า ทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ 1 อันเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ขณะนั้นสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันฯ หมดสิ้นไป เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในสภาฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่น นอกเหนือจากระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่า

การกระทำทำลายล้างสถาบันฯ ชัดแจ้ง เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ วางบรรทัดฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเหนือการเมือง เป็นกลาง การกระทำใด ๆ ทั้งส่งเสริม หรือทำลาย สูญเสียสถานะเป็นกลาง หรือเหนือการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

*** แม้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 โต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น ต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม แต่ทั้งนี้การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อความสงบ ศีลธรรมอันดี หรือ ไม่ละเมิดเสรีภาพบุคคลอื่น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 มีพฤติการณ์ใช้เสรีภาพความเห็นเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้น หรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 มีลักษณะดำเนินการต่อเนื่อง เป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม จัดกิจกรรม รณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ การใช้นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุในการล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

*** การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง โดยวรรคสองให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติ “เอกฉันท์” วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 49 และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74

*** ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า สำหรับ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทั้ง 9 คน ที่ลงมติเป็นเอกฉันท์  ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรม 2.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 3.นายปัญญา อุดชาชน  4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 6.นายนภดล เทพพิทักษ์ 7.นายอุดม รัฐอมฤต  8.นายอุดม  สิทธิวิรัชธรรม และ 9. และ นายวิรุฬห์ แสงเทียน

                           จากยุบพรรคอนาคตใหม่สู่“ก้าวไกล?”

*** ขณะที่ พิธา พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า การเสนอแก้ ม.112  “เราไม่ได้มีเจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือ แยกสถาบันพระมาหากษัตริย์ ออกจากชาติแต่อย่างใด” นอกจากนี้ ยังกังวลว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว เช่น อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ กับ ศาลรัฐธรรมนูญ ในอนาคต อาจจะกระทบต่อความเข้าใจของประชาชนต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำวินิจฉัยวันนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาทางดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตย และ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต และอาจทำให้สังคมไทยสูยเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาในการหาข้อยุติความขัดแย้ง หรือ ข้อคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมในอนาคต 

*** เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเสนอแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ผลกระทบที่จะตามต่อ พิธา และ พรรคก้าวไกล ก็คือ ก็เปิดช่องให้มีผู้นำคำวินิจฉัยของศาลฯ  ไปยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อเอาผิด “ยุบพรรคก้าวไกล” ฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยกกต.ต้องส่งให้ศาลรธน.พิจารณาสั่งยุบพรรค และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล  

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำคำวินิจฉัย ไปยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง พิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่ยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย ม.112 ด้วย โดยโทษตามความผิดจริยธรรมร้ายแรงคือ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และ ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

*** จากยุบพรรคอนาคตใหม่ มาถึงยุบพรรคก้าวไกล พรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อถูกกัดเซาะ ตั้งแล้วถูกยุบทิ้ง ก็ต้องตั้งพรรคใหม่อีก ความนิยมก็มีแต่เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จริงหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็น “บทพิสูจน์” ว่า พรรคใหม่ของ ธนาธร และพลพรรค ยังจะโต้ได้ต่อไปอีกหรือไม่? มารอดูกัน...