มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกฯ เป็นประธานมีมติเห็นชอบให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 70% เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินกระบี่ แทนที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมยังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างถึงความเหมาะสม
ในแง่ของเหตุผลทางนโยบาย กระทรวงคมนาคมอ้างว่า เป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ที่จัดสรรให้ ทย.ในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน โดย ทอท.ที่เป็นบริษัทจำกัดมหาชน จะเข้ามาลงทุนแทน โดยมีข้อเสนอจะพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง กรอบวงเงินลงทุนราว 9,199.90 ล้านบาท
แต่ในความเป็นจริง กรมท่าอากาศยานนั้น ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผูกพันไว้แล้ว ในการพัฒนาสนามบิน 3 แห่ง รวม 14 โครงการ งบรายจ่ายประจำปีที่ผูกพันไว้แล้ว ราว 6,020.25 ล้านบาท และต้องทำให้แล้วเสร็จทุกรายการ ในปี 2567
มติดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้ ทอท. เพราะตามกฎหมายไม่สามารถทำได้เนื่องจากทอท.ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว
ทว่าในทางการดำเนินงาน เท่ากับว่าเป็นการอาศัยอำนาจตามมติ ครม.เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินให้ 3 สนามบินที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของทย.ออกไปให้ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลบริหารจัดการแทนแบบเบ็ดเสร็จ
ด้วยเหตุนี้แหละครับ จึงเกิดกระแสวิพากวิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรม ที่จะปล่อยให้บริษัทมหาชน รับส้มสนามบินของรัฐไปทำธุรกิจ เพื่อแสวงหากำไร และจ่ายเงินปันผลให้รัฐและเอกชนที่เป็นผู้ลงทุน
สนามบินกระบี่คือ ตัวสร้างรายได้สูงสุดให้กรมท่าอากาศยาน สนามบินอุดรธานีทำรายได้อันดับ 2 สนามบินบุรีรัม์นั้นสามารถตอบโจทย์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือได้แบบเต็มๆ แถมสร้างมวลชนได้มากกว่า “สุพรรณบุรี”เสยอีก เพราะมีสนามบินเชื่อมสนามกีฬา มีสนามบินเชื่อมนามแข่งรถ มีสนามบินเชื่อต่อการท่อเที่ยว ชาวบ้านไม่รักก็ให้มันรู้ไป
อันว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT นั้นปัจจุบันรับบริหารท่าอากาศยานอยู่ 6 แห่ง โดยเป็นการโอนสิทธิ์ความเป็นของรัฐมาบริหาร คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 116,994 ราย โดยที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ราว 10,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 70 % ที่เหลือเป็นกลุ่มนักลงทุนทั่วไป 30% มูลค่าของบริษัทมีทั้งสิ้น 1.03 ล้านล้านบาทราคาซื้อขายอยู่ที่หุ้นละ 72.50 บาท
ผมไปตรวจสอบการทำมาหาได้พบว่า ปี 2561 มีรายได้ราว 61,918 ล้านบาท รายได้ปี 2562 ราว 64,384 ล้านบาท รายได้ปี 2563 ราว 33,129 ล้านบาท รายได้ปี 2564 ราว 7,715 ล้านบาท และรายได้รอบ 9 เดือนในปี 2565 ราว 10,367 ล้านบาท
บริษัท AOT มีการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยหุ้นละ 1 บาทมาตลอด โดยมี 2 ปี ที่เคยจ่ายปันผลสูงลิ่วหุ้นละ 5-6.8 บาท
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ชี้แจงว่า “การโอน 3 สนามบินเป็นยุทธศาสตร์การขนส่งทางอากาศของกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาศูนย์กลางการบินของประเทศ (Hub) เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว-กัมพูชา ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นการเชื่อมต่อระบบขนส่งในรูปแบบเกทเวย์ต้อนรับการเดินทางจากประเทศเพื่อนบ้าน...
“เชื่อว่าภายใต้ระยะเวลาของสิทธิ์การบริหาร 30 ปี จะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลราว 49,000-50,000 ล้านบาท เป็นผลตอบแทนคืนในรูปแบบภาษี และเงินปันผลตามสัญญาที่รัฐกำหนด อีกทั้งยังมีความคล่องตัวด้านการลงทุนที่ไม่ต้องรองบประมาณรายปีของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว” นายนิตินัยชี้แจง
ขณะที่ข้อกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินจะแพงนั้น นายนิตินัยชี้แจงว่า การรับโอน 3 สนามบิน จะทำให้ค่า PSC ถูกลง เนื่องจากไม่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนกันหลายสนามบิน เช่น ชาวต่างชาติจะเดินทางจากอุดรธานีไปยังยุโรป บินตรงกลับไปได้เลย ไม่ต้องไปเสียเวลาต่อเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สะดวกสบาย และเสียค่า PSC แค่ครั้งเดียวอีกด้วย
น่าคิดน่าตรวจสอบว่า ปัจจุบัสนามบิน 6 แห่งนั้น มีสายการบินไหนบินตรงไปต่างประเทศบ้าง นอกจาก ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และถ้าเป็น 3 สนามบินที่จะรับโอนใหม่ คงมีแต่กระบี่ที่จึงจะมีอินเตอร์ไฟล์ทลงมาบิน
ส่วนค่าตอบแทนจากการบริหารนั้น ใครที่คิดเลขไม่เก่งลองหยิบมือถือมาบวกลบคูณหารเอานะ 30 ปี ได้ผลตอบแทน 3 สนามบินไป 50,000 ล้านบาท เท่ากับปีละ 1,666 ล้านบาท เท่ากับจะมีรายได้สนามบินละ 555 ล้านบาท/ปี
ผมก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่า เขาจะทำสัญญาบริหารสนามบินกันยาวถึง 30 ปี นั่นเท่ากับว่า AOT จะบริหารสนามบินของไทยเพียงผู้เดียวในประเทศนี้ 9 แห่งที่เป็นไข่แดงทันที.....บรรดาผู้ถือหุ้น นักลงทุนอย่าเพิ่งอ้าปากค้างกันละ
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาชี้แจงว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานกระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นั้น ไม่ใช่จะทำได้เลย ยังต้องรอฟังความเห็น ทั้ง กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาเพิ่มเติม เมื่อศึกษาเสร็จตามขั้นตอน จะรายงานต่อ ครม.เพื่อทราบต่อไป และเมื่อ ครม.รับทราบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโอน 3 สนามบิน ในต้นปี 2566
แต่เป้าหมายคมนาคม มีเจตนารมณ์ชัดเจนในการโอนสิทธิบริหาร ต้องการกระจายความหนาแน่นผู้โดยสารที่ปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนเครื่อง transit ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ออกไปยังสนามบินภูมิภาค
ทำให้ผู้โดยสารในประเทศ ไม่ต้องเริ่มต้นที่ดอนเมืองเท่านั้น สายการบินไหนอยากไปให้บริการที่สนามบินไหน ก็เสนอขอทำการบินได้
ขณะเดียวกันเห็นว่า ไทยจำเป็นต้องมีสนามบินที่เป็น Hub ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาให้สามารถรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการลดความแออัดในสนามบินหลัก
ปัญหาต่อมาที่ชวนขบคิด คือ ข้อทักท้วงการโอน 3 สนามบินนั้น ทำได้หรือไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันทอท.ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดไปแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ยกเลิก พ.ร.บ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ไปแล้ว ทำให้การโอนสนามบินจาก ทย. มาให้ บริษัท ทอท. ดำเนินการเหมือนในอดีต เช่น การโอนสนามบินภูเก็ต การโอนสนามบินหาดใหญ่, การโอนสนามบินเชียงใหม่ การโอนสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ฯลฯ ไม่สามารถอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การท่าอากาศยานฯ พ.ศ. 2522 มาดำเนินการเอาเอกสิทธิ์ขอรัฐไปให้ AOT ได้อีกต่อไป
ประเด็นต่อมา มีข้อทักท้วงกันอีกว่า กรมท่าอากาศยาน หรือ ทย.ไม่สามารถจัดทำสัญญาให้ ทอท.เช่าบริหารสนามบินได้
สาเหตุเพราะมีคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 86/2564 สั่ง ณ วันที่ 23 ก.พ. 2564 ที่มอบอำนาจให้ ทย.ดำเนินการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุในพื้นที่สนามบินภูมิภาค เป็นการมอบอำนาจสำหรับกรณีการหาประโยชน์ในลักษณะร้านค้าต่างๆ ภายในสนามบินที่มีราคาที่ราชพัสดุไม่เกิน 500 ล้านบาท และเป็นการเช่าชั่วคราว ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงการให้เช่าบริหารสนามบิน
หากจะมีการโอนสิทธิการบริหารออกไป กรมท่าอากาศยาน จะต้องคืนสนามบิน+ที่ดินให้กรมธนารักษ์
จากนั้น ทอท.จะต้องเข้าไปเช่าสนามบิน+ที่ดินจากกรมธนารักษ์ โดย ทอท.จะต้องไปเจรจาหารืออัตราค่าเช่ากับกรมธนารักษ์
ค่าเช่าเป็นอย่างไร เช่ากี่ปี ทำไมไม่เปิดให้รายอื่นเข้ามาแข่งขันการเช่าบริหารสิทธิสนามบิน
นี่คือโจทย์หินการโอน 3 สนามบินไปให้บริษัทมหาชน!