รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศ (Air Space) และโครงข่ายท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม (National Airport System) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของประเทศไทย สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ
ทั้งนี้มติ ครม.ที่เห็นชอบในครั้งนี้ เป็นการมอบความรับผิดชอบในบริหารจัดการ ไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้กับทาง ทอท. แต่อย่างใด แต่เป็นการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ โดยในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นที่ราชพัสดุ ทอท. ต้องไปดำเนินการทำสัญญาเช่าโดยตรงกับกรมธนารักษ์ และทอท.ต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนจากการใช้ทรัพย์สินให้กับรัฐ ตามกฎหมาย ส่วนรายได้ของกรมท่าอากาศยานที่หายไป ทาง ทอท. จะเข้ามาสนับสนุนเงินให้ ทย. สามารถนำเงินมาใช้จ่ายตามภารกิจของ ทย. ในการพัฒนา ท่าอากาศยานที่เหลือ โดยต้องเป็นการดำเนินการตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ
รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวต่อว่า หลังจากนี้การดำเนินการเพื่อให้ ทอท. เข้าไปดูและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. นั้น ทอท. และ ทย. จะมีการประชุมหารือร่วมกันในเรื่องการเข้าใช้พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยาน การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) การบริหารจัดการด้านบุคลากร การดำเนินการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และการดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณของ ทย. ที่ได้รับจัดสรรแล้ว โดยจะดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติ ครม. และหลักธรรมาภิบาล หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนที่มาใช้บริการเพื่อรองรับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี ยังต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของกระทรวงการคลังและหน่วยงานต่าง ๆ ในการประกอบการพิจารณาดำเนินการอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทย. ยังคงมีภารกิจในการพัฒนาท่าอากาศยานในความรับผิดชอบให้มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการจัดสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งทางอากาศของประเทศในอนาคต และยังคงดำเนินการตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสาร รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเพิ่มมากขึ้น