นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) คือ 1.อุดรธานี 2.บุรีรัมย์ และ 3.กระบี่ ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับความเห็นของกระทรวงการคลังมาพิจารณา พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป โดยคาดว่า ทอท. จะเริ่มทยอยเข้าไปให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2566
สำหรับรูปแบบการดำเนินการของ ทอท. ในการเข้าไปบริหารจัดการ 3 ท่าอาอากาศยานแทน ทย.นั้น ทอท.จะต้องไปดำเนินการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท่าอากาศยานจากกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมทั้งไปดำเนินการตีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) เพื่อนำมูลค่าวงเงินดังกล่าว เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานให้มีความเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายว่า จะต้องไปศึกษาวิธีการบริหารให้รอบคอบ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแนวทางข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าว ต้องการกระจายความหนาแน่นของผู้โดยสารไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ ที่มีศักยภาพ จากในปัจจุบันจะกระจุกตัวอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยนโยบายของตน ไม่เพียงแค่ดำเนินการเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ (International) เท่านั้น แต่เส้นทางภายในประเทศ (Domestic) ก็จะไม่ต้องมีต้นทางที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จึงมีเส้นทางบินข้ามภาค เช่น เส้นทางนครราชสีมา (โคราช)-หัวหิน, โคราช-เชียงใหม่ เป็นต้น
“การให้ ทอท.เข้าไปบริหาร 3 สนามบิน ทย. คือ ตอนนี้ ครอบครองโดย ทย. ก็เปลี่ยนไปให้ ทอท. ครอบครอง ซึ่งขอย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเข้มแข็ง และไม่มีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ในยุคก่อนๆ ก็มีการศึกษาไว้เหมือนกัน แต่ตอนนั้นเป็น 4 สนามบิน นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า ไทยมีมาตรฐานทางการบิน เห็นได้จากเมื่อ ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา จีนได้อนุญาตให้ไทยทำการบินจาก 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 15 เที่ยวบิน/สัปดาห์”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)
ทั้งนี้ วงเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท โดยการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย. จะเป็นการเพิ่มการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต