ทำพินัยกรรมให้ตัวเองดียังไง

27 ก.ค. 2564 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2564 | 13:43 น.

โดย : ผุสดี พรเกษมศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®

ความคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยเท่านั้นถึงทำพินัยกรรม ทรัพย์สินน้อยนิดแค่หยิบมือเดียวทำไปก็เสียเวลา หรือแม้กระทั่งการทำพินัยกรรมเท่ากับการแช่งตัวเอง แต่ถ้าคุณไม่อยากให้ทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต เป็นต้นเหตุที่สร้างภาระให้กับคนที่คุณรักและคนที่รักคุณ ถึงเวลาวางแผนมรดกด้วยพินัยกรรม 1 ฉบับ

 

พินัยกรรมถือเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของผู้เสียชีวิต โดยพินัยกรรมจะมีผลบังคับได้ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อทำตามแบบและวิธีที่กำหนดไว้ทั้งหมด 5 แบบ เท่านั้น (1) พินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นแบบที่นิยมทำ จะพิมพ์ เขียนด้วยตัวเอง หรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมให้พยานลงลายมือชื่อพร้อมกันต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้นจะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ (2) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนเองทั้งหมดทั้งฉบับและลงลายมือชื่อ แต่ไม่จำเป็นต้องมีพยาน (3) พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เป็นพินัยกรรมที่ให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเป็นผู้จัดทำให้ โดยผู้ทำพินัยกรรมและพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อ หลังจากนั้นนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะเขียนรับรองพินัยกรรมพร้อมประทับตราประจำตำแหน่ง

 

(4) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมเขียนหรือพิมพ์เอง หรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ เมื่อลงลายมือชื่อในพินัยกรรมแล้วให้ใส่ซองปิดผนึกพร้อมทั้งลงลายมือชื่อตรงรอยผนึกที่ซอง จากนั้นนำพยาน 2 คนไปให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต เพื่อบันทึกไว้บนซองเอกสารโดยให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้บนซอง และให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเก็บรักษาไว้ (5) พินัยกรรมแบบวาจา ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่น มีอุบัติเหตุร้ายแรงและใกล้ตาย ให้ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมด้วยวาจา โดยแสดงเจตนาว่าจะยกทรัพย์สินให้ใครต่อหน้าพยาน 2 คน จากนั้นให้พยานรีบไปแจ้งวันเดือนปีและข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ซึ่งนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจดข้อความแล้วจะให้พยานลงลายมือชื่อ

หากต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรม ต้องลงวัน เดือนปีที่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนและพยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อด้วย อีกทั้งควรปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในพินัยกรรมให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และควรบอกให้บุคคลใกล้ชิดที่ไว้ใจได้รู้ว่าพินัยกรรมฉบับล่าสุดทำไว้เมื่อไร เก็บไว้ที่ไหน

 

แต่ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือพินัยกรรมที่ทำไว้ไร้ผลบังคับ มรดกจะตกแก่ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสและทายาทโดยธรรมประเภทญาติ 6 ลำดับ ได้แก่ (1) ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื้อ) (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการแบ่งมรดกจะใช้หลักการ “ญาติสนิทตัดสิทธิญาติห่าง” ทายาทลำดับต้นมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับหลัง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับทายาทลำดับที่ 1 และที่ 2 จะไม่ตัดสิทธิกันเอง

 

บิดา มารดาและคู่สมรสมีสิทธิรับมรดกเสมือนเป็นผู้สืบสันดานคนหนึ่ง และทายาทลำดับที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เท่านั้นที่มีผู้รับมรดกแทนที่ ถ้าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรม ไม่มีคู่สมรส ไม่มีทายาททั้ง 6 ลำดับ และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่เหลือเลย มรดกของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน

 

ทำพินัยกรรมให้ตัวเองดียังไง
 

เพราะไม่มีใครรู้ว่าลมหายใจ ณ วินาทีนี้จะเป็นลมหายใจสุดท้ายหรือไม่ การทำพินัยกรรมไม่เพียงสร้างความสบายใจ แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าทรัพย์สินเงินทองของเราจะตกอยู่กับคนที่เราอยากให้เท่านั้น และไม่เกิดฉากละครน้ำเน่ากลางครอบครัวที่แสนอบอุ่นอย่างแน่นอน