เผาหลอก-เผาจริง

11 มิ.ย. 2565 | 23:09 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2565 | 09:55 น.

โลกในมุมมองของ Value Investor โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า

ในช่วงปีวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 นั้น  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยตกลงไปแรงมากถึง 53% จาก 832 จุด เหลือเพียง 373 จุด  ซึ่งนักลงทุนต่างก็รู้สึกเสมือนว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นได้  “ตาย” และถูก “เผา” ไปเรียบร้อยแล้ว  แต่ก็ยังมีนักลงทุนที่ “กล้าหาญ” ซึ่งมีจำนวนน้อยมากบางคนคิดว่ามันเป็น “โอกาสสุดยอด” ใน “วิกฤติ” ที่จะต้องเข้าไปช้อนซื้อหุ้นซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  พวกเขารู้ว่ามีความเสี่ยงรออยู่  แต่โอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้นเหนือกว่ามาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาคิดว่า “ถ้าอยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ”
 

ประวัติศาสตร์ที่ตามมาบอกว่าพวกเขา “คิดผิด”  อย่างน้อยก็ในระยะสั้นอีกเกือบ 1 ปี  หลังจากนั้น  เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลังจากสิ้นปี 2540 ตกลงไปอีกมากและเหลือแค่ 215 จุดเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2541  เป็นการตกลงอีกถึง 42%  ใน 8 เดือน  “วิกฤติ” กลายเป็น “หายนะ” ซ้ำ ว่าที่จริงดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2539 ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ 1 ปี ก็ตกลงมาแรงเป็น “วิกฤติ” อยู่แล้ว  คือดัชนีลดลงจาก 1281 จุดเหลือเพียง 832 จุด หรือลดลงถึง 35% เพียงแต่เหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นตกลงมานั้นยังไม่ชัด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในปี 2539 GDP ของไทยยังโตถึง 5%  แต่  “ใส้ใน” ของเศรษฐกิจไทยกำลัง “เน่า” เกิดการขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงินอย่างหนัก  สินค้าส่งออกไม่สามารถแข่งขันได้เพราะค่าเงินบาทที่แข็งกว่าความเป็นจริง
 

เหตุการณ์ในช่วงปีต้มยำกุ้งดังกล่าวนั้น  ต่อมาถูกเรียกโดยนักลงทุนไทยว่าเป็นปี “เผาหลอก” คนคิดว่า “งาน” หรือพิธีส่งศพจบแล้ว  แต่หารู้ไม่ว่าการ “เผาจริง” กำลังจะเริ่ม  และมันจะรุนแรงกว่า  ดังนั้น  คนที่คิดว่าการเข้าไป “ช้อนซื้อหุ้น” หรือเข้าไปเก็บหุ้นที่ตกระเนระนาดและไม่มีใครต้องการนั้น  จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีหรือเป็นโอกาสมหาศาล  อาจจะคิดผิด  คนที่คิดว่าหุ้นตกลงไปขนาดนั้นแล้วคงจะไม่ตกลงไปได้มากแล้ว ก็อาจจะคิดผิด  การเข้าไปซื้อหุ้น  “หลังวิกฤติ” อาจจะเป็นการคิดผิด  เพราะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่แท้จริงและรุนแรงขึ้นอาจจะกำลังตามมา  สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นอาจจะเป็นแค่ “ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง”

 

ถ้าตอนสิ้นปี 2539 เราเห็นว่าหุ้นไทยตกลงมา 35% และเราคิดว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังดีอยู่มากและเราก็คงแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกและเงินสำรองของประเทศได้  ดังนั้นเราจึงเข้าไปซื้อหุ้นหลัก ๆ  ที่อิงอยู่กับดัชนีหุ้น  เราก็จะขาดทุนไป 52% ในปี 2540   และถ้าเราคิดว่าหุ้นไม่น่าจะตกต่อไปได้มากอีกแล้วที่ 373 จุดในตอนสิ้นปี 2540 ซึ่งเท่ากับดัชนีตลาดประมาณต้นปี 2531 หรือประมาณ 10 ปีที่แล้ว  และเราเข้าไปซื้อหุ้น  เราก็จะขาดทุนไปอีก 42% ในเวลาเพียง 8 เดือน  โดยรวมแล้ว  ใน “ช่วงเวลาแห่งความเลวร้าย” 1 ปี 8 เดือน  เราอาจจะขาดทุนไป 90%

 

ดังนั้น  การเข้าไป “ซื้อหุ้นหลังวิกฤติ” เพราะคิดว่าเป็นโอกาสนั้น  แท้ที่จริงแล้วก็อาจจะมีความเสี่ยงพอ ๆ กัน  โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้วิเคราะห์และ/หรือเลือกหุ้นให้ดีพอ  และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เวลาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อหุ้น   เข้าเร็วเกินไป- เจ๊ง  เข้าช้าเกินไป- เสียโอกาส
 

ประวัติศาสตร์ของวิกฤติตลาดหุ้นที่เป็น “ตลาดหมี” นั้นบอกเราว่า  ตลาดหุ้นอเมริกานั้นเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก 6 ปี  ส่วนตลาดเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นถี่กว่ามาก  ส่วนหนึ่งเพราะมีหลายตลาด  จะเกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณทุก 3 ปี  แต่ที่อาจจะน่าสนใจกว่าสำหรับนักลงทุนบางคนที่อาจจะอยาก “เปลี่ยนชีวิต” โดยการเข้าไปซื้อหุ้นยามวิกฤติก็คือ  ระยะเวลาของตลาดหมีว่าแต่ละครั้งกินเวลานานเท่าไร?

 

คำตอบก็คือ  ประมาณ 9 เดือน  ยกเว้นในกรณีที่เกิดวิกฤติร้ายแรงระดับที่ทำให้เศรษฐกิจ “ล่มสลาย” อย่างในกรณี “มหาวิกฤติ” ปี 1929 ของสหรัฐและช่วงปี 1973 กรณีวิกฤติน้ำมันและเงินเฟ้อสูงมากจนเป็น  Stagflation ระยะเวลาของตลาดหมีก็กินเวลา 2-3 ปี  หรืออย่างในกรณีต้มยำกุ้งของไทยเอง  ระยะเวลาก็ยาวถึง 2 ปี 8 เดือน 

 

ตลาดหมีรอบนี้ของอเมริกาเพิ่งจะเกิดขึ้นประมาณ เกือบ 6 เดือน นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน ดังนั้น  ดูเหมือนว่าหุ้นสหรัฐอาจจะยังไม่ได้ตกถึงพื้นจริง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เหตุการณ์ล่าสุดที่มีการประกาศอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปีที่ 8.26%และการที่ธนาคารกลางประกาศว่าจะเดินหน้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีกหลายรอบ รวมถึงการดูดเม็ดเงินออกจากระบบโดยการทำ QT อย่างมหาศาลในช่วงเวลาหลายปีข้างหน้า  ซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอย่างแรงเฉลี่ยประมาณ 3% ในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มที่จะกลัวว่าจะเกิดเงินเฟ้อพร้อมกับการถดถอยทางเศรษฐกิจหรือ Stagflation ในไม่ช้า

 

ในปี 2540 ผมได้เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจังและเต็มที่  แต่ในวันนั้นผมไม่ได้คิดถึงเรื่องที่จะทำกำไรจากการที่เข้าไปซื้อหุ้นถูกเพื่อที่จะขายต่อเมื่อหุ้นฟื้นตัว  ผมซื้อหุ้นในตอนนั้นเพราะจะต้อง “เอาตัวรอด” จากความเสี่ยงที่ต้องตกงานและหางานทำที่เหมาะสมไม่ได้  ดังนั้น  ผมจึงหาทางลงทุนเงิน “ก้อนสุดท้าย” ที่  “ไม่เสี่ยง”  และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและสามารถใช้ชีวิต  “คนชั้นกลางค่อนข้างดี” ของผมในวัย 40 กว่าปีต่อไปได้

 

ผมดูการลงทุนหลายอย่างและพบว่าหุ้น “บางตัว” มีคุณสมบัติแบบนั้น “ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร”  ผมโชคดีที่พบหลายตัวและลงทุนรวมกันเป็นพอร์ตที่ดี  เห็นได้จากการที่พวกมันไม่ตกเลยแม้หุ้นโดยรวมจะตกลงไปอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์  และเมื่อหุ้นทั้งตลาดฟื้น  มันกลับเติบโตมากกว่าทำให้พอร์ตเติบโตขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้  หุ้นเหล่านั้นหลายตัวต่อมาผมเรียกว่า “ซุปเปอร์สต็อก”

 

วิกฤติรอบนี้ผมกำลังพยายามทำคล้าย ๆ  กันในตลาดหุ้นเวียตนาม  ผมไม่ได้ชวนให้คนไปลงทุนในเวียตนาม  แต่คิดว่าทุกคนสามารถเลือกแนวทางลงทุนในยามวิกฤติแบบที่ผมทำได้ในทุกตลาด  เลือกหุ้นที่คิดว่าแข็งแกร่งมาก เติบโตได้ยาวนานในราคาหุ้นที่ไม่แพง  และถือไว้ยาวนาน