*** ในที่สุดหุ้นใหญ่อย่าง บมจ. ไทยประกันชีวิต หรือ TLI ก็หนีไม่พ้นวัฏจักรของหุ้น IPO ที่จัดให้มีหุ้น “กรีนชู” (Greenshoe Options) ต้องเจอมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ด้วยการหลุดราคาไอพีโอ (IPO) 16.00 บาท ลงไปที่ 15.90 บาท ตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาด
หากนับเอาแค่ตั้งแต่ต้นปี 2565 ก่อนที่จะมาถึงคิวของ TLI ก็มีทาง บมจ.บีบีจีไอ BBGI ที่เข้าตลาดในวันที่ 17 มีนาคม 2565 จากราคาไอพีโอ (IPO) 10.50 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายวันแรกไปด้วยราคา 10.10 บาท หลุดต่ำจองลงไป 0.40 บาท หรือ 3.8%
ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีหุ้นใหญ่ที่จัดให้มีหุ้นกรีนชูเอาไว้หลายตัวที่จนถึงปัจจุบันราคาหุ้นหน้ากระดานก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามราคาไอพีโอไปได้ ไม่ว่าจะเป็น CRC SHR หรือแม้แต่ TIDLOR รวมไปถึงหุ้นใหญ่ที่ขายหุ้นเพิ่มทุนแบบมีการจัดสรรหุ้นกรีนชูเข้าไปด้วยอย่าง MAKRO ก็ยังหลุดจากราคาจองซื้อที่ 43.50 บาท ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้น...
ในความเป็นจริง...วัตถุประสงค์หลักของการมีหุ้นกรีนชู ก็เพื่อรองรับราคาหุ้นที่อาจจะหลุดลงต่ำจองซื้อ หมายความว่า ก่อนที่จะมีการกำหนดราคาขึ้นมาระหว่างผู้บริหารและที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) ก็จะมีการพูดคุยและตกลงร่วมกันแล้วว่า จะต้องปิดความเสี่ยงที่ว่านี้ ด้วยการกันส่วนให้มีหุ้นกรีนชูเอาไว้นั่นเอง
ที่พูดมาทั้งหมดก็เพื่อจะตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดกลุ่มคนที่รู้ดีที่สุดว่า คุณสมบัติหุ้นและราคาหุ้นมีจุดดีหรือจุดด้อยเขาอยู่ตรงไหน เขายังไม่มั่นใจ แล้วนักลงทุนอย่างเรา จะมั่นใจได้แค่ไหนกันค่ะ ดังนั้นถ้าใครไม่มีก็ไม่ต้องรีบ แต่ถ้ามีอยู่แล้วก็แค่รอเท่านั้นนะคะ ไม่ขาย...หวังว่า จะไม่ขาดทุนเจ้าค่ะ
*** ไม่รู้ว่าข่าวลือที่ระบุว่า กรรมการ กสทช. 3 ใน 4 ชุด มีมติไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC ออกมาได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ข่าวลือนี้ทำให้ราคาหุ้นของทั้ง TRUE และ DTAC ร่วงลงไปแตะระดับ -10% ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาช้อนซื้อหุ้นทั้ง 2 ตัว หลังจากร่วงลงไปต่ำที่สุดในรอบวัน หลังจากที่เลขา กสทช. ออกมาแถลงข่าวว่าเรื่องกรรมการ 4 คณะที่ว่านี้ ว่าไม่มีมูลความจริง…
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเจ๊เมาธ์ก็ยังคิดว่าการควบรวมกันระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็อย่างที่เจ๊เคยบอกไปว่า ก็ในเมื่อ CPH ซึ่งบริษัทแม่ของ TRUE ยังสามารถที่จะดึงเอาห้าง Lotus เข้ามาอยู่ในร่มเงาของตัวเองได้ ทั้งที่มีประเด็นในเรื่องของการผูกขาดเช่นเดียวกัน ก็ยังสามารถทำได้มาแล้ว แล้วทำไมการที่ TRUE จะดึงเอา DTAC เข้ามาควบรวมจะทำไม่ได้
หรือถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้างก็น่าจะเป็นเพียงแค่ การเพิ่มกติกาเข้ามาอีกบ้างนิดหน่อยก็เท่านั้นเอง เกมนี้เขากำหนดเอาไว้แล้วว่า ต้องจบแบบสวยงาม แล้วจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไรกันค่ะ
*** เจ๊เมาธ์ยังคงยืนยันว่าหุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB เป็นกลุ่มหุ้นที่น่าเก็บมากที่สุด อย่างหนึ่งคือ การที่ราคาหุ้นที่ร่วงลงไปตามภาพรวมของภาวเศรษฐกิจกลับทำให้ผลตอบแทน (Dividend Yield) เริ่มอยู่ในระดับสูงจนน่าสนใจ
ขณะเดียวกันผลการดำเนินงาน 2/65 ที่ประกาศออกมา ก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า โอกาสที่ผลการดำเนินงานรวมของปี 2565 ทั้งปีจะดีขึ้นจริงก็มีความเป็นไปได้สูง รวมถึงทิศทางของดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐและยุโรปจะกดดันให้ทาง กนง. และ ธปท. จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการออกมาช่วยแก้ปัญหาช่วงห่างของดอกเบี้ย ค่าเงินบาทอ่อนและเงินทุนไหลออกด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่ว่ามากหรือน้อยก็จะทำให้หุ้นทั้งธนาคารที่ว่ามาทั้ง KBANK BBL SCB KTB และ TTB มีผลการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกอย่างแน่นอน และเมื่อผลการดำเนินงานเป็นบวก...ราคาหุ้นก็ต้องเป็นบวกตามไปด้วยเช่นกัน
*** ในที่สุดราคาของหุ้นตัวแรงอย่าง JTS ก็หลุดลงมาต่ำกว่า 100 บาท ไม่ผิดไปจากที่หลายคนเคยบอกเอาไว้ อย่างหนึ่งคือราคาบิทคอยน์ที่ปรับตัวลงแบบที่ยังมองไปเห็นฝั่ง ว่าจะลงไปได้อีกแค่ไหนได้สร้างแรงกดดันให้กับหุ้นเหมืองขุดบิทคอยน์ทุกตัวในตลาด โดยเฉพาะ JTS ที่ราคาหุ้นซึ่งปรับขึ้นไปแรงที่สุดก็ต้องได้รับผลกระทบที่มากที่สุดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ส่วนอย่างที่สองคือ ผลการดำเนินงานปกติของทาง JTS ซึ่งถึงแม้ว่า มีแนวโน้มว่าจะออกมาอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีส่วนช่วยให้ราคาหุ้นของ JTS เป็นไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แต่อย่างใด
เจ๊เมาธ์ บอกได้เลยว่า ตราบใดที่ราคาบิทคอยน์ยังไม่กลับขึ้นไปเป็นขาขึ้นอย่างแท้จริง ในส่วนราคาหุ้นของ JTS ก็ยังยังทิ้งดิ่งในทางลงแบบนี้ต่อไปอีกนะคะ คำว่า “ไม่ขาย...ไม่ขาดทุน” ย่อมใช้ไม่ได้กับ JTS เจ้าค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565