หนี้ครัวเรือนระเบิดเวลา

17 ก.ค. 2566 | 04:59 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2566 | 05:06 น.

หนี้ครัวเรือนระเบิดเวลา : คอลัมน์เรื่องเงินเรื่องง่าย โดย...นายธนาคาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3905 .

เหมือนที่ได้เล่าให้ฟังในคราวที่แล้วว่า ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้น และตอนนี้ต้นทุน ด้านพลังงานรวมถึงปัจจัยพื้นฐานได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันจากเหตุการณ์โลก 

เรื่องที่น่ากังวลที่สุดตอนนี้ คงเป็นเรื่องของ “หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น” คนไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเยอะมาก ผู้เขียนพิจารณาดูแล้วน่าจะมาจากการที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และรายได้ไม่มีการปรับตัวขึ้น ตามต้นทุนของการใช้ชีวิตที่สูงขึ้นหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Income Trap 

เมื่อเกิดกับดักทางรายได้ แต่จำเป็นต้องใช้เงิน คนจึงหันไปกู้เงินเพื่อเติมเต็ม เงินจำนวนที่ขาดไปสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ คนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นเยอะมาก ขยับจาก 30% ในปี 2560 เป็น 37% ในปี 2565 เท่ากับ หนึ่ง ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ หรือคิดเป็นจำนวนคนทั้งหมด 25 ล้านคน และหนี้เฉลี่ยต่อคนของคนไทยสูงมาก เฉลี่ยต่อคนที่ 520,000 บาท 

ยิ่งเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใน เกณฑ์เดียวกับประเทศไทยเช่นประเทศเพื่อนบ้านเรามีหนี้สินต่อ GDP สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด และมีหนี้สินต่อ GDP เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายความว่า รายได้เท่าประเทศกำลังพัฒนา แต่หนี้สินเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว นี่คือปัญหาครับ

พื้นฐานของระบบเศรษฐกิจในประเทศ มาจากระบบทุนนิยม ซึ่งเอกชนเป็นผู้นำเศรษฐกิจหลักของประเทศ การดำรงชีวิตอยู่สมัยนี้ไม่ได้มีแค่เรื่อง กินข้าวหลับนอน แต่มีเรื่องอื่นๆ ที่เป็นต้นทุนในชีวิตมากมาย 

พอคนในประเทศ อยากซื้ออยากใช้ อยากหามาได้เหมือนคนอื่นๆ เขา ถึงแม้รายได้ตัวเองจะไม่เพียงพอ แต่เพื่อให้ได้มา เพื่อความเท่าเทียม ของต้นทุนในการใช้ชีวิต คนส่วนใหญ่เลยเลือกที่จะไปกู้เงิน 

ยิ่งลองคิดดูนะครับเมื่อก่อนคนอยู่กันเป็นครอบครัว ลูกยังอยู่กับพ่อกับแม่ แต่สมัยนี้พอโตแล้ว ไปซื้อไปเช่าคอนโดอยู่ สร้างต้นทุนในระบบขึ้นมามากมาย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องมีแผนแบบยั่งยืน เป็นการแก้ไขกัน ที่ใช้เวลา เกินกว่า 5 ปีขึ้นไป

                          หนี้ครัวเรือนระเบิดเวลา

ยังไงเราต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ เพื่อลดภาระของเงินกู้ลง หรือ เพื่อชำระเงินกู้จนกว่าจะกลับมาสู่สภาพปกติ สร้างให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากความสามารถของคนๆ นั้น

และที่สำคัญต้องพยายามลดต้นทุนของระบบลง โดยเฉพาะ คนชั้นกลาง และ คนชั้นล่าง ที่เผชิญอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า บริษัทขนาดใหญ่ ภาครัฐจึงควรต้องเข้ามาดูแลการคิดอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มนี้ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ

การตั้งเกณฑ์ให้ชัดเจน เรื่องการขอสินเชื่อใหม่ จากกลุ่มสถาบันการเงิน คงต้องนำอัตราดอกเบี้ย ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะปัจจุบันแทบจะกู้กันเต็มเพดาน ทั้งเรื่องความสามารถในการชำระหนี้และจำนวนบัญชี ควรต้องเผื่อพื้นที่ให้กับโอกาสที่จะต้องผ่อนรายเดือนเพิ่มจากปัจจัยอื่นบ้าง 

ไม่รู้กลัวธุรกิจ บางธุรกิจไม่โต หรือเปล่า เช่น กลุ่มอสังหาฯ หรืออื่นๆ เพราะถ้ากู้ไม่ผ่าน หรือมีเกณฑ์ในการกู้ที่ค่อนข้างยาก กลุ่มธุรกิจนี้น่าจะได้ผลกระทบก่อน อย่าไปกลัวผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็ก แต่ควรรักษาผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ไว้

กลุ่มธนาคาร หรือ สถาบันการเงินเอง ก็ควรใช้หลักจริยธรรมในการแก้ปัญหาหนี้สินของคนกลุ่มนี้ หากใช้แต่หลักบัญชี ประเทศเราจะไม่มีหลักอะไรเหลือเลย แล้วท่านจะไปคิดดอกเบี้ยกับใครได้อีก เห็นแก่ส่วนรวมบ้าง อย่าเห็นแก่ส่วนผู้ถือหุ้นอย่างเดียว เพราะผู้ถือหุ้นกลุ่มนั้น ขนหน้าแข้งไม่ร่วง แน่นอน