เหมือนที่ได้พูดกันไปในหลายๆ ตอนที่ผ่านมานะครับว่า ตอนนี้พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัจจัยมากมาย ทั้งภายในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งภายนอกเรื่องปัญหาเศรษฐกิจโลกราคา วัตถุดิบ รวมถึงน้ำมันที่สูงขึ้น แถมดอกเบี้ยโลกกำลังปรับตัวขึ้น น่าจะเป็นรอบสุดท้าย แต่ผลกระทบกับประเทศไทยนั้น รุนแรงยิ่งนัก
อัตราการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกานั้น ชี้นำดอกเบี้ยโลกมานานแล้ว อยากจะใช้โอกาสนี้อธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า ในโลกนี้มีเงินหมุนเวียนที่เรียกว่า ยูเอสดอลล่าร์เยอะที่สุด ทำให้การเปลี่ยนแปลงของยูเอสดอลลาร์นั้น มีผลกระทบกับระบบการเงินโลก
ทีนี้เงินประเทศไหนก็ได้ดอกเบี้ยประเทศนั้น คิดง่ายๆ ครับ เงินยูเอสดอลล่าร์ ถ้าเราถือครองก็ควรจะได้ดอกเบี้ยจากสหรัฐอเมริกา พอสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา จากระดับ 0.25% สู่ระดับ 5% ซึ่งเป็นการขึ้นที่รุนแรงมาก การกระชากขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้ประเทศอื่นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบตนเองไว้
ให้คิดง่ายๆ นะครับ ถ้าเราถือยูเอสดอลล่าร์แล้วได้ดอกเบี้ย 5% เราจะถือเงินบาทที่ได้ดอกเบี้ย 0.25% ไหม ถ้าทั้งโลกคิดแบบนี้ เงินจะไหลกลับไปที่อเมริกา ทุกคนจะกลับมาถือครองยูเอสดอลล่าร์
ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในแต่ละประเทศ ทุกประเทศจำต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกา ถึงจะขึ้นตามไม่เทียบเท่าที่สหรัฐอเมริกาขึ้นมา แต่จำเป็นต้องขึ้นบ้าง เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินของตนเอง
สำหรับประเทศไทยก็ไล่ขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่ 0.25% ถึง 1.75% ณ ปัจจุบัน และอาจจะมีการปรับขึ้นอีกรอบในช่วงปีนี้ ดูเหมือนขึ้นไม่เยอะนะครับสำหรับประเทศไทย แต่จริงๆ แล้ว มีนัยแฝงเยอะมากมายครับ
อยากให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจก่อนว่า ดอกเบี้ยเป็นต้นทุนที่ระบบต้องรับภาระไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่า ธุรกิจจะหยุด ไม่ว่าธุรกิจจะเจ๊ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไหนดอกเบี้ยจะเดินเสมอ ทีนี้ถ้าดอกเบี้ยสูง ระบบก็จะมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงตาม
ดังนั้น วันนี้ต้นทุนในการทำธุรกิจในประเทศไทยสูงขึ้น แม้กระทั่งภาครัฐเองก็มีต้นทุนในการกู้ยืมที่สูงขึ้นพันธบัตรรัฐบาลต้อง ปรับอัตราดอกเบี้ยไล่ตามดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน
วันนี้ดอกเบี้ยขึ้นมา 1.5% แล้ว ถ้าเป็น บริษัทขนาดใหญ่ คงไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาได้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำมากๆ อยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็กรายกลาง กลับเป็นผู้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่า บริษัทขนาดใหญ่ค่อนข้างเยอะ เพราะธนาคารยังไงต้องเฉลี่ย ค่าความเสี่ยงและผลตอบแทน เพียงแต่ความแตกต่างระหว่างรายใหญ่ กับรายเล็ก มันห่างกันเหลือเกิน ไม่มีประเทศไหน มีอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันขนาดนี้ครับ
เมื่อดอกเบี้ยนโยบายขึ้น แน่นอนว่า ทุกแบงก์ไปขึ้นดอกเบี้ยของรายย่อยรายกลางรายเล็กก่อน เพราะมีค่าความเสี่ยงที่สูงกว่า ลูกค้าขนาดใหญ่ (อันนี้เป็นไปตามทฤษฎีนะครับ เพราะเอาเข้าจริงลูกค้าขนาดใหญ่ก็ล้มใส่แบงก์เหมือนกัน)
สำหรับลูกค้ารายเล็ก การขึ้นดอกเบี้ย 1.5% ถือว่าเยอะครับ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ลดเงินต้นได้น้อย ส่วนใหญ่จ่ายแต่ดอกในช่วงต้นทางของเงินกู้ และที่ผ่านมา โมเดลในการกู้เงิน คือ กูเต็มความสามารถในการชำระหนี้อยู่แล้ว
ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยเท่ากับทำให้ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ และอาจจะกลายเป็นหนี้เสียในท้ายที่สุด เราอาจจะได้เห็นหนี้เสียจากลูกค้ารายย่อย เพิ่มขึ้น ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้น ถ้าใคร ตอนนี้รู้ตัวว่า ไม่สามารถผ่อนต่อไปได้ให้รีบขอความช่วยเหลือจากธนาคาร หรื อสถาบันการเงิน ที่ท่านใช้บริการอยู่ เพื่อขอยืดเงินต้นออกไป เพราะถ้ายึดเงินต้นออกไปได้จะทำให้เงินที่ต้องจ่ายรายเดือนลดลง และยังสามารถผ่อนต่อไปได้ โดยไม่เป็นหนี้เสีย
ในครั้งหน้า จะมาเล่าให้ฟังต่อครับว่า มีผลกระทบต่อไปในวงกว้าง ถึงไหนถึงไหนบ้าง