ภาวะโรคอ้วน กลายเป็นโรคยอดฮิตของคนในวัยทำงาน โดยเฉพาะชาวออฟฟิศเพราะมีการใช้พลังงานในแต่ละวันน้อย ขาดการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มักจะประกอบด้วยแป้งและไขมัน เพราะต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบาย นอกจากนี้ อาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารหนักๆ ในมื้อเย็นหรือมื้อดึก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้เป็นโรคอ้วนมากขึ้น
เป็นที่รู้กันว่า ที่มาของ “โรคอ้วน” เกิดจากการที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แป้ง อาหารหวาน ของหวาน เบเกอรี่ ขาดการออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ ซึ่งมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หรือมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ การกินยาบางชนิด เช่น ยาคุม สเตียรอยด์ และเมื่ออายุเยอะขึ้น
ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง พลังงานจึงถูกเก็บในรูปของไขมันแทน ถ้าเมื่อไหร่ที่ได้รับมากเกินไปจะเกิดการสะสมของไขมันตามจุดต่างๆ ในร่างกาย ถ้าสะสมบริเวณช่องท้อง มักจะเรียกว่า “อ้วนลงพุง” ยิ่งสะสมมาก ยิ่งส่งผลเสีย และทำให้โรคร้ายตามมา
นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า โรคอ้วนปัจจุบันพบได้บ่อยมากขึ้นในคนวัยทำงานที่ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือมีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง
ปัญหาสุขภาพและโรคที่ตามมาจากโรคอ้วน สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 โรคเมตาบอลิกซินโดรม ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคเกาท์
กลุ่มที่ 2 โรคหัวใจและปอด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคนอนกรน
กลุ่มที่ 3 โรคทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ กรดไหลย้อน ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี
กลุ่มที่ 4 โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก รังไข่ ตับอ่อน และยังส่งผลต่อร่างกายด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อเข่ากระดูกเสื่อมเร็ว ปวดหลัง ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือขาดประจำเดือนขาดได้
จากการศึกษาพบว่าคนอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนผอม ทำให้โรคอ้วนเป็นโรคที่อันตรายมากกว่าที่คิด
ขณะที่คนทั่วไปควรมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 kg/m2 หากค่าเกินกว่า 25 จะถือว่าผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน และหากว่าค่าเกินกว่า 30 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ควรเข้าสู่กระบวนการลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการลดน้ำหนักที่หลากหลาย ทั้งวิธีแบบธรรมชาติหรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็น 1 ในวิธีการลดน้ำหนักโดยสามารถทำได้ด้วยการควบคุมอาหาร ด้วยการลดคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป รวมถึงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม พร้อมกับหันมารับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำเปล่าก่อนรับประทานอาหารครึ่งชั่วโมง เพื่อลดความอยากและรับประทานอาหารได้น้อยลง
อีกทางเลือกในการลดน้ำหนัก คือ การใส่ “บอลลูนลดน้ำหนัก” ในกระเพาะอาหารผ่านการส่องกล้อง จะช่วยลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและรู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้น ซึ่งเป็นวิธีปรับพฤติกรรมการรับประทานในระยะยาว รับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงและอยู่ในเกณฑ์ปกติ
หากใครกำลังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน และมองหาวิธีลดน้ำหนัก ควรเข้ามารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากความสวยงามของรูปร่างแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นและยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566