จำนวน “ผู้สูงอายุ” ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม” ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเช่นกัน
“ข้อเข่าเสื่อม” เป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงวัยที่ทำให้เกิดอาการปวดสร้างความทุกข์ทรมานส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หากปล่อยให้อาการลุกลามอาจทำให้ข้อเข่าผิดรูปจนลุกเดินลำบากหรือเดินไม่ได้จนต้องผ่าตัด
ส่วนรูปแบบการรักษา พบว่า มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียมมานานนับ 10 ปี ในรูปแบบ MIS (Minimal Invasive Surgery) หรือการผ่าตัดแบบแผลเล็กบาดเจ็บต่อแผลผ่าตัดน้อย ควบคู่ไปกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยใช้คอมพิวเตอร์ (Computer Assisted Surgery in Total Knee Arthroplasty หรือ CAS) เพื่อช่วยให้แพทย์มีข้อมูลระหว่างทำผ่าตัด
ส่งผลให้สามารถผ่าตัดได้ถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น ลดปัญหาการวางตำแหน่งผิวข้อเข่าเทียมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ละเอียดและแม่นยำขึ้น ด้วยการใช้ Cartigram เพื่อบอกความสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ตลอดจนสุขภาพโดยรวมของข้อเข่า
ล่าสุดมีการต่อยอดจากการใช้คอมพิวเตอร์นำร่องช่วยผ่าตัด (Computer Assisted Surgery) มาเป็นหุ่นยนต์นำร่องช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Surgery) เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้การผ่าตัดมีความถูกต้องและแม่นยำของการผ่าตัดมีมากยิ่งขึ้น
“นพ.เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์” ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า การนำหุ่นยนต์นำร่องช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Surgery) มาใช้ในการผ่าตัดเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง หลังจากผ่าตัดแล้วจะสามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างความสุข สามารถออกกำลังกายได้ และใช้งานใกล้เคียงกับเข่าที่เป็นธรรมชาติได้มากที่สุด
หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยสามารถลุกยืน เดิน หรือขยับข้อเข่าได้ในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง อีกทั้งแผลผ่าตัดยังมีขนาดเล็ก ทำให้บาดเจ็บน้อย ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
เทคโนโลยีเหล่านี้นอกจากจะส่งผลดีกับผู้ป่วยแล้วยังเปรียบเสมือนผู้ช่วยคนสำคัญของศัลยแพทย์ในการช่วยวางแผนและดำเนินการผ่าตัด จุดเด่นของหุ่นยนต์นำร่องช่วยผ่าตัดจะช่วยกำหนดตำแหน่งเนื้อกระดูกก่อนตัดกระดูก ช่วยวัดว่าตรงกับจุดที่ต้องการผ่าหรือไม่ลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดที่จะไปทำลายกระดูกที่อาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนได้
นอกจากนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวหมุดยึดแนวตัดของกระดูกเพื่อไม่ให้มีการขยับ และเมื่อใดก็ตามที่มีการผ่าตัดเกินจุดที่วัดไว้เครื่องก็จะหยุดทันที ทำให้การผ่าตัดไม่เลยจากจุดที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถนำผิวข้อเทียมกลับคืนในตำแหน่งใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมที่ถูกต้อง และกลับมาใช้งานได้อย่างธรรมชาติและถูกต้องมากที่สุด
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,895 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566