รู้จัก ‘โรคสายตาขี้เกียจ’ ในเด็ก

06 ก.พ. 2567 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2567 | 08:19 น.

รู้จัก ‘โรคสายตาขี้เกียจ’ ในเด็ก : Tricks for Life

โรคสายตาขี้เกียจ หรือ ตาขี้เกียจ (Amblyopia) คือ การมองไม่ชัด เกิดจากการรับภาพของสมองผิดปกติที่เกิดขึ้น 10 ปีแรกของช่วงชีวิตในวัยเด็ก ที่สมองเกี่ยวกับการมองเห็นยังเปราะบางและกำลังพัฒนา แม้โครงสร้างของลูกตาจะปกติดีก็ตาม เพราะหากมีอะไรก็ตามไปกีดขวางการพัฒนาการการมองเห็นจะทำให้เกิด โรคตาขี้เกียจ ตามมา ซึ่งแน่นอนว่าหากตรวจพบเร็วรักษาไว โอกาสหายยิ่งมีสูง

ตาขี้เกียจที่เกิดจากความผิดปกติของสายตา

  •  • ตาขี้เกียจที่เกิดจากตาเข หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าโรคตาเข คือ โรคตาขี้เกียจ แท้จริงแล้วตาขี้เกียจคืออาการมองไม่ชัดที่เกิดจากสมองพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ส่วนตาเข คือ ตาที่มองไม่ตรง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นตาขี้เกียจได้ เพราะมีพัฒนาการการมองเห็นที่แย่กว่าตาข้างที่ตรง
  • ตาขี้เกียจที่เกิดจากการบดบังแสงที่เข้าสู่จอตา สาเหตุนี้เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด แต่มีความรุนแรงและรักษายากมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เด็กมีหนังตาตกมาก จนบังแสงให้เข้าสู่ตาได้ไม่เต็มที่ หรือเด็กมีต้อกระจกขุ่นๆ บัง แสงไม่ได้เข้าสู่ตาได้ตามปกติ
  • ปัจจัยความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด, น้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์, พัฒนาการช้า, ญาติสายตรงเป็นตาขี้เกียจ(พันธุกรรม), การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

5 จุดสังเกตพัฒนาการมองเห็นของไม่ปกติตามวัย

  1. เด็กแรกเกิดถึง 3 เดือนแรก ควรกะพริบตาตอบสนองต่อแสงจ้าได้
  2. เด็กอายุ 3 เดือน เริ่มจ้องมอง ซึ่งมองหน้าแม่และมองตามสิ่งของ หรือของเล่นได้นิดหน่อย
  3. เด็กอายุ 6 เดือน การจ้องมอง การมองตามสิ่งของในวัยนี้จะทำได้ดีมาก แต่ถ้าสายตาเลื่อนลอย ตาลอยไม่สบตา ไม่มองตามของตามการเคลื่อนไหวของวัตถุควรพบแพทย์
  4. เด็กที่สื่อสารได้ อาจจะบอกผู้ปกครองว่ามองกระดานไม่ชัด เวลามองต้องเดินเข้าไปใกล้ๆ หรือต้องหยีตาให้มองชัด เด็กในวัยนี้ควรมาตรวจคัดกรองการมองเห็นเพื่อตรวจหาอาการผิดปกติ
  5. หากผู้ปกครองสังเกตว่าลูกมีตาเหล่ ตาเข หรือตามองไม่ตรง ให้รีบมาพบหมอทันที

รู้จัก ‘โรคสายตาขี้เกียจ’ ในเด็ก

สำหรับการวินิจฉัยโรค จักษุแพทย์จะตรวจระดับการมองเห็น ทั้งหมดอย่างละเอียดตั้งแต่ลักษณะของเปลือกตา กระจกตา เลนส์ตา และจอประสาทตา รวมถึงค่าสายตาสั้น ยาว เอียง กรณีตรวจหาสาเหตุของสายตาขี้เกียจได้แล้ว ต้องตรวจเช็คอาการว่าอยู่ในระดับไหน เช่น น้อย ปานกลาง หรือมากนั้น วิธีการรักษาส่วนใหญ่จะปิดตาข้างที่ปกติ เพื่อให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ใช้งานมากขึ้น


แนะนำรักษาให้ถูกวิธี

โรคตาขี้เกียจมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี ซึ่งการรักษาด้วยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญนั้น จะปิดโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดโรคตาขี้เกียจซ้ำได้อีก ส่วนใหญ่หากตรวจพบในเด็กอายุน้อยๆ โอกาสก็หายไวจะมีมากกว่า กล่าวคือ เด็กเล็กที่ยิ่งเจอเร็ว รักษาได้ดี ก็จะหายขาดได้เร็วมากขึ้น”

แนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กเข้ารับการตรวจคัดกรองสายตาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะถ้าจะต้องตัดแว่นอันแรกในชีวิต ตลอดจน ควรมีการตรวจคัดกรองการมองเห็นของเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน หรือก่อนเข้าอนุบาลเด็กๆ ควรได้รับการตรวจสายตาก่อนเพื่อดูว่าการมองเห็นปกติหรือไม่ และงดเรื่องการใช้หน้าจอในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต

โดยผู้ปกครองควรเสริมพัฒนาการในด้านอื่นๆ แทน อาทิ การให้เด็กออกมาสัมผัสแสงธรรมชาติ หรือ ออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง (Outdoor Activities) เพราะกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ส่งผลดีแค่สายตาเท่านั้น แต่ยังส่งไปยังการควบคุมอารมณ์และสมาธิอีกด้วย