“มะเร็ง” หนึ่งในโรคยอดฮิตของคนไทย และสถิติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่า ทุกคนมีความเสี่ยง และควรเฝ้าระวัง ควรตรวจความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอนาคต ซึ่งอาจจะยืนยันไม่ได้ 100% แต่มีประโยชน์มากในการวางแผนรักษาหรือป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และการตรวจบางอย่างก็สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนกับการตรวจสุขภาพประจำปี
โดยวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็ง ได้แก่
1. การตรวจจากสารบ่งชี้มะเร็ง หรือ Tumor marker ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ตรวจพบได้ปกติในร่างกาย หากแต่คนที่มีความเสี่ยงมะเร็ง หรือมีภาวะบางอย่างอาจทำให้ค่าเหล่านี้สูงขึ้นกว่าปกติได้ เช่น
• AFP (Alpha-fetoprotein) บ่งชี้มะเร็งตับ
• CEA (Carcinoembryonic antigen) บ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งตับ
• PSA (Prostate-specific antigen) บ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
2. การตรวจจากยีนส์ เป็นการตรวจหาพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง เช่น ตรวจจากยีนส์ BRCA1 และ BRCA2 สำหรับมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ วิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่ระยะเริ่มและช่วยให้วางแผนป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังตรวจได้ง่าย สามารถตรวจได้ทุกปีเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย
3. การตรวจคัดกรองทางรังสี เช่น การตรวจ X-Ray, MRI , CT Scan เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติที่แต่ละอวัยวะ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น หรือมีขนาดของเนื้องอกเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะแสดงอาการ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองได้ทุกปีเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำ
4. การตรวจอื่นๆตามความจำเพาะ เช่น
• การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารและลำไส้
• การตรวจอัลตร้าซาวด์และแมมโมแกรม เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
• การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี Pap smear หรือ HPV Testing
ใครบ้างควรตรวจคัดกรองมะเร็ง
• อายุ 50 ปีขึ้นไป
• มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง
• สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำ
• อยู่ในภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษและสารเคมี
• น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ โดยไม่มีสาเหตุ
อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้ว ทุกคนสามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งได้ โดยอาจเลือกวิธีที่ทำได้ง่าย ปลอดภัย เช่น การตรวจคัดกรองจากพันธุกรรม หรือการตรวจด้วย MRI, CT Scan ที่สามารถทำพร้อมการตรวจสุขภาพประจำปีได้และอย่าลืมว่า การตรวจคัดกรองมะเร็ง เป็นข้อมูลเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมากน้อยแค่ไหนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน แต่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันและติดตามผล เพื่อการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ขอบคุณ : Addlife Anti-Aging Center ไลฟ์เซ็นเตอร์
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,001 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567