หลายคนคงคุ้นเคยกับความรู้สึก "คิดไปเอง" แต่หากความคิดเหล่านั้นขัดต่อความเป็นจริง จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต อาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคจิตหลงผิด" โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย แต่กลับถูกมองข้าม เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองปกติ
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า "โรคจิตหลงผิด" (Delusional Disorder) ว่าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้ไม่บ่อย แต่ส่งผลกระทบต่อความคิด พฤติกรรม และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก
ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีความเชื่อที่ผิดไปจากความเป็นจริงอย่างสนิทใจ มักมีความคิดที่มั่นคง แม้จะไม่มีหลักฐานหรือขัดต่อความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
สาเหตุของโรค ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ ดังนี้
5 ประเภทโรคจิตหลงผิดที่พบบ่อย ดังนี้
1. โรคหลงผิดแบบรักจอมปลอม (Erotomanic Delusional Disorder): ผู้ป่วยจะมีความเชื่อผิดพลาดว่าบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา หรือคนที่มีฐานะทางสังคมสูง กำลังหลงรักตนเอง ผู้ป่วยอาจพยายามติดต่อ สื่อสาร หรือสะกดรอยตามบุคคลนั้นๆ โดยไม่ได้รับการตอบสนอง
2. โรคหลงผิดแบบโอ้อวด (Grandiose Delusional Disorder): ผู้ป่วยจะมีความเชื่อผิดพลาดว่าตนเองมีความยิ่งใหญ่ มีอำนาจ เป็นผู้มีอิทธิพล หรือมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญ ผู้ป่วยอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับพรสวรรค์หรือพลังพิเศษของตนเอง
3. โรคหลงผิดแบบหึงหวง (Jealous Delusional Disorder): ผู้ป่วยจะมีความเชื่อผิดพลาดว่าคนรักของตนกำลังนอกใจ โดยไม่มีหลักฐานหรือเหตุผล ผู้ป่วยอาจติดตาม คอยตรวจสอบ หรือแสดงพฤติกรรมหึงหวงที่รุนแรง
4. โรคหลงผิดแบบหวาดระแวง (Persecutory Delusional Disorder): ผู้ป่วยจะมีความเชื่อผิดพลาดว่าตนเองถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง หรือติดตามโดยบุคคลอื่น ผู้ป่วยอาจหลงผิดไปไกลจนถึงขั้นไปแจ้งความดำเนินคดีผู้อื่นทั้งๆ ที่ตัวเองเข้าใจผิด
5. โรคหลงผิดแบบเกี่ยวกับร่างกาย (Somatic Delusional Disorder): ผู้ป่วยจะมีความเชื่อผิดพลาดเกี่ยวกับร่างกายหรือรูปร่างของตนเอง เช่น คิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่าง แต่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ หรือ คิดว่าตัวเองมีกลิ่นเหม็นตลอดเวลาทั้งๆ ที่ปกติดี
โรคจิตหลงผิด มักพบผู้ป่วยมี "ความคิดผิดเพี้ยน" เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งมักมีความเชื่อที่มั่นคง ยากแก่การเปลี่ยนแปลง และมักไม่ตระหนักถึงอาการป่วยของตนเอง ด้วยเหตุนี้ การพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย คนใกล้ชิดหรือครอบครัวมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจ รับฟัง โดยไม่โต้แย้งความหลงผิด อีกทั้งควรให้กำลังใจ เมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรืออารมณ์รุนแรง และสิ่งสำคัญพาพบจิตแพทย์ เมื่อผู้ป่วยเริ่มไว้วางใจ
สำหรับการรักษาโรคจิตหลงผิด มักใช้ยาควบคู่กับจิตบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วย เข้าใจความเป็นจริง มองเห็นสิ่งที่ถูกต้อง และช่วยปรับความคิด ปรับพฤติกรรม เพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยโอกาสหายของโรคขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักมีอาการดีขึ้นและใช้ชีวิตได้ตามปกติ