วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ High Dose ทางเลือกของผู้สูงวัย

22 มิ.ย. 2567 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2567 | 03:51 น.

วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ High Dose ทางเลือกของผู้สูงวัย : Tricks for Life

ย่างเข้าฤดูฝน หนึ่งในโรคระบาดที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลคือ “โรคไข้หวัดใหญ่” ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีหลากหลายสายพันธุ์ ที่สามารถเกิดขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  

หนึ่งในแนวทางการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คือ “การฉีดวัคซีน” เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่” แม้ปัจจุบันยังจัดอยู่ในกลุ่ม “วัคซีนทางเลือก” แต่เมื่อเทียบกับการสะดุดตัวทางการศึกษา และเศรษฐกิจของทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งอัตราการป่วย เสียชีวิต และงบประมาณรักษาพยาบาลที่ประเทศชาติต้องสูญเสียเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่ควรมองข้าม

โดย “วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แบบ High Dose” ได้รับการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเพิ่มปริมาณแอนติเจน ที่จะส่งผลต่อการสร้างแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย หากผู้สูงวัยซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าว จะทำให้ไม่เกิดอาการรุนแรงเมื่อต้องสัมผัสกับเชื้อก่อโรค โดยพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบ High Dose จะช่วยลดการนอนโรงพยาบาล 64.4%  และลดอัตราการเสียชีวิต 48.9%  

วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ High Dose ทางเลือกของผู้สูงวัย

รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ศูนย์วัคซีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกฯ ได้เปิดบริการ “วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แบบ High Dose” ที่เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันได้กว่า 40% และยังมี “วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์” ที่จัดไว้สำหรับบริการประชาชนทั่วไป ซึ่งควรได้รับอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่เริ่มมีการระบาด และได้มีการประกาศสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และหากสัมผัสเชื้ออาจส่งผลต่อการเกิดอาการอื่น เช่น ปอดบวม ให้มีความรุนแรงด้วยต่อไปได้

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  • ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
  • ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดี 
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ 
  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

ขณะที่ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยโรคกิลแลง - บาร์เร (GBS - Guillan Barre Syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากอาจมีภูมิต้านทานบางชนิดภายในร่างกายส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อแอนติเจน หรือสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดเข้าไป จนอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อในบางส่วนเป็นอัมพาตได้