5 กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพบูม แนะธุรกิจปรับแผนรับเทรนด์ผู้บริโภค

31 ส.ค. 2567 | 22:05 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2567 | 02:15 น.

ชี้เทรนด์ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มสุขภาพบูม แนะผู้ประกอบการ 5 กลุ่มธุรกิจทั้งอาหารที่ดีต่อประสาทสมอง ,โลว์ชูการ์, ไขมันดีสูง, โปรตีนทางเลือก, ดีต่อลำไส้ และการขับถ่าย ปรับตัวรับ หลังพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวัย ทั้ง Baby Boomer, Gen X, Millennial, Gen Z และ Alpha พาเหรดเลือกซื้อเลือกกินเพิ่ม

ข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (Global Wellness Institute : GWI) ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก มีแนวโน้มขยายตัว 8.6% ต่อปีจนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 306 ล้านล้านบาท โดยในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 230 ล้านล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพของไทยว่า เป็นตลาดที่มีศักยภาพมีการการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดกว่า 2.9 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลุ่มตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% ซึ่งเป็นไปตามจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคอื่นต่างก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

นางสาวมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านนวัตกรรมอาหาร สถาบันอาหาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับอิทธิพลจากการเติบโตของประชากรโลก แม้ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น แต่โครงสร้างประชากรก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดลดลงในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการอาหารที่แตกต่างกันไป

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารออร์แกนิค อาหารวีแกน และอาหารที่มีโปรตีนสูง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายในการบริโภคอาหาร ทำให้ธุรกิจอาหารดีลิเวอรีและอาหารพร้อมปรุงเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากโควิด-19

นางสาวมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน

นอกจากนี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ที่สำคัญเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการจำหน่าย ทำให้เกิดช่องทางการขายใหม่ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์

 “ในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์มังสวิรัติ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช จะมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากการเติบโตของตลาดอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรแซงหน้าจีนในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีจำนวนประชากรถึง 1,600 ล้านคน เทียบกับประเทศไทยที่มีเพียง 66 ล้านคนจะเห็นได้ว่าตลาดอินเดียมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนประชากรที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวอินเดียมีวัฒนธรรมและรสนิยมในการบริโภคอาหารที่แตกต่างจากชาวจีน โดยเฉพาะความนิยมในการบริโภคมังสวิรัติ ดังนั้นในอนาคตผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอินเดียได้”

อีกทั้งการเติบโตของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งปัจจัยภายในตัวบุคคล เช่น ความตระหนักเรื่องสุขภาพ และปัจจัยภายนอกอย่างการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ

แม้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มอื่นๆ ไม่สนใจอาหารเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และหันมาเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น

นางสาวมยุรา กล่าวอีกว่า เทรนด์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักได้แก่

1.อาหารที่ดีต่อประสาท สมอง เนื่องจากคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ต่างเผชิญกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและการนอนไม่หลับ อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะช่วยลดความเครียด ปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ และส่งเสริมสุขภาพสมองโดยรวม

5 กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพบูม แนะธุรกิจปรับแผนรับเทรนด์ผู้บริโภค

2. อาหารปราศจากน้ำตาล การบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ เพราะน้ำตาลส่วนเกินสามารถนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาลได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น ยาคูลท์สูตรน้ำตาลน้อยที่ได้รับความนิยมสูงกว่าสูตรปกติ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง

จากการรวบรวมข้อมูลจะเห็นได้ว่าป้ายกำกับ “สูตรน้ำตาลน้อย” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคในความต้องการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต่างแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาลเลย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างความแตกต่างในตลาด

 3. อาหารไขมันดีสูง กลุ่มคนที่รักสุขภาพและออกกำลังกายเป็นประจำ มักเลือกทานอาหารไขมันดีสูงเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและฟื้นฟูร่างกายหลังการออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใส่ใจเรื่องรูปร่างและผิวพรรณ

หันมาให้ความสนใจกับอาหารไขมันดีสูง เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งคนทำงานออฟฟิศที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก มักเลือกทานอาหารไขมันดีสูงเพื่อช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น และไม่หิวบ่อย

5 กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพบูม แนะธุรกิจปรับแผนรับเทรนด์ผู้บริโภค

4. อาหารโปรตีนทางเลือก มีหลายชนิด เช่น ถั่วต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว มีโปรตีนสูงไม่แพ้เนื้อสัตว์ ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แดงหลายชนิด โดยอาหารโปรตีนทางเลือกไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกสำหรับผู้ที่เป็นมังสวิรัติหรือวีแกนอีกต่อไป

แต่เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 5.อาหารที่ดีต่อระบบสำไส้และการขับถ่าย ลำไส้เปรียบเสมือนโรงงานผลิตสารอาหารของร่างกาย การมีลำไส้ที่แข็งแรงจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังงาน และป้องกันโรคต่างๆ ได้

ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้คนหันมาใส่ใจในการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดี และดูแลสุขภาพร่างกายมากขึ้น ทำให้อาหารสุขภาพและสินค้าที่ช่วยเรื่องสุขภาพลำไส้ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มวัยต่างๆ พบว่าแม้แต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันในด้านไลฟ์สไตล์และความสนใจ แต่ก็มีความสอดคล้องกันในเรื่องของความสำคัญที่ให้กับสุขภาพ

โดยทุกกลุ่มวัยต่างให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ได้แก่

1. Baby Boomer (วัยเกษียณ) เน้นความสะดวกสบายในการบริโภคอาหาร ชื่นชอบอาหารดั้งเดิม รสชาติคุ้นเคย และอาหารที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย โดยมีปัจจัยด้านสุขภาพเป็นตัวขับเคลื่อนในการเลือกบริโภคอาหาร

2.Gen X (วัยกลางคน) ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการดูแลร่างกาย จึงเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ อาหารเสริม และวิตามิน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย

3. Millennial (วัยรุ่นยุคใหม่) สนใจเรื่องสุขภาพและความทันสมัย ชอบลองอาหารใหม่ๆ ที่มีรสชาติแปลกใหม่และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

4. Gen Z (วัยรุ่นยุคใหม่) ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความงามอย่างมาก เลือกบริโภคอาหารที่ครบหมู่และอาหารเสริมบำรุงผิวพรรณ

5. Alpha (เด็กเกิดหลังปีพ.ศ. 2553) มีความตระหนักเรื่องสุขภาพตั้งแต่เด็ก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากผู้ปกครองและสื่อโฆษณา จึงเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์

ดังนั้นผู้ประกอบการในตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพ จึงต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อให้บรรลุผลประกอบการตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 

หน้า 15 ฉบับที่ 4,023 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2567