ติช นัท ฮันห์ ภิกษุเซนในพุทธศาสนาชาวเวียดนาม ที่ลี้ภัยจากเวียดนามไปอยู่ที่ฝรั่งเศส แล้วสร้างสำนักเซนที่หมู่บ้านพลัม
เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่คนสายจิตวิญญาณยกย่องท่าน เคียงคู่กับองค์ทะไลลามะ
ท่านได้นำสังขารร่างกายกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว คำสอนของท่านมุ่งเน้นให้ผู้คนใช้ชีวิตสอดคล้องกับทุกสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ของความเป็นมนุษย์
"มนุษย์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งของโลก"
นี่เป็นวลีของท่านที่พร่ำสอนเสมอ
แม้ก่อนท่านคืนสู่ธรรมชาติท่านก็ปรารภเสมอว่า
"ไม่ได้จากไปไหน แต่เป็นลม เป็นอากาศ หายใจเข้าออก เมื่อไหร่ก็ได้อยู่ใกล้กันเสมอ"
จากสิ่งที่ท่านสอนเมื่อย้อนคิดอย่างจริงจังจะทำให้เราได้พบว่า
เมื่อไหร่ที่เราฝืนธรรมชาติของการเป็นมนุษย์ เรามักจะใช้ชีวิตไม่ราบรื่นหรือที่เรียกว่า อุปสรรคเสมอ
แน่นอนถ้ามีคติแนวคิดแบบเถรวาทจะมองว่า นั่นเป็นเพราะกรรมเก่า แต่ถ้าเรามองแบบตามความจริงในมุมปัจจุบันขณะ บางครั้งอุปสรรคอาจเกิดจากการฝืนธรรมชาติที่ควรเป็นก็ได้
ท่านแนะนำว่า ยามอุปสรรคเกิดขึ้น ให้เฝ้าถามตัวเองว่าเราไปทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติบ้างหรือไม่
ค่อยๆ คิดค่อยๆ พิจารณา ท่านยืนยันว่า ต้องมีแน่นอน
แนวคิดปรัชญาที่ท่านสอนมุ่งเน้นให้มีความสงบในปัจจุบันขณะ ผิดพลาดอะไรก็ให้กลับมาพิจารณาด้วยหลักแห่งธรรมชาติ
"ถ้าเข้าใจในความเป็นธรรมชาติความสงบย่อมปรากฏ ความสุขย่อมปรากฏ ทำอะไรย่อมราบรื่นเสมอ"
อย่าฝืนธรรมชาติในการใช้ชีวิต คือ ข้อคิดที่นำมาสู่ความสุขทั้งปวงได้อย่างแท้จริง
บางคนเคยถามว่า แล้วการเชื่อในเรื่องกรรม ทางนิกายเซนมีสอนไหม นิกายเซนก็มีหลายแบบอีกเช่นกัน
แต่โดยมากนั้น จะสอนแบบให้เชื่อในปัจจุบันกรรม คือ กรรมที่ทำตรงนี้เดี๋ยวนี้ที่นี้ จะไม่เน้นสอนกรรมในแบบอดีตชาติใดๆ
นอกจากนี้นิกายเซน บางครั้งการสื่อสารล้วนเป็นปรัชญาให้ตีความ แบบชนิดที่เน้นแต่เรื่องในจิตตัวเอง
เหมือนนิทานเซนเรื่องเว่ยหล่างที่พระสองรูปเถียงกันว่า เป็นเพราะธงเอง หรือ ลม ที่ทำให้ธงโบกสะบัด
เมื่อปรมาจารย์เซน นามว่าเว่ยหล่างมาได้ยินจึงกล่าวว่า
"ไม่ใช่เพราะธง ไม่ใช่เพราะลม แต่เพราะจิตของเจ้านั่นต่างหากที่ทำให้มันโบกสะบัดทั้งที่มันเป็นของมันแบบนั้นอยู่แล้ว"
พุทธศาสนานิกายเซน จึงเป็นที่นิยมในหมู่ตะวันตกยุโรป สหรัฐอเมริกา
เพราะสอนให้คิดตามมิได้สอนให้เชื่อ ซึ่งก็ตรงกับในหลักกาลามสูตรขิงเถรวาทเช่นกัน
ใช้ชีวิตให้มีความสุขแบบไม่ฝืนธรรมชาติ ทุกความสำเร็จย่อมปรากฏขึ้นเอง